นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ายอดขายในไตรมาส 2/65 จะเติบโตดีกว่าไตรมาส 1/65 และช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบจะช่วยสนับสนุนความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ (Packaging) โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์อาหาร (Food Packaging) รวมถึงการรับรู้รายได้จากการสร้างการเติบโตร่วมกันกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Merger and Partnership : M&P) ของ Duy Tan, Intan Group และ Deltalab เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น การขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากเยื่อธรรมชาติของโรงงานจังหวัดกาญจนบุรี โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารรวมคิดเป็น 25% ของกำลังผลิตปัจจุบัน หรือเพิ่มขึ้น 223 ล้านชิ้นต่อปี ก็จะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 2/65 นี้ด้วย
"ในไตรมาสที่ 2/65 หลายประเทศทั่วโลกใช้มาตรการผ่อนปรนการควบคุมโรคระบาดส่งผลให้มีการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศ การรับประทานอาหารนอกบ้าน การจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น รวมถึงภาคการส่งออกที่ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบที่ต้องติดตาม ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดคือ ผลกระทบจากมาตรการ Zero COVID ของประเทศจีน ทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ส่งผลให้ปริมาณความต้องการนำเข้าสินค้าลดลง, ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามธุรกิจแพคเกจจิ้งยังคงเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทาน โดย SCGP มีสินค้าและบริการที่หลากหลายทั้งบรรจุภัณฑ์กระดาษและพอลิเมอร์ครอบคลุมทั้งภูมิภาคอาเซียน โดยมีโรงงานผลิตจำนวน 56 แห่ง และมีลูกค้ากว่า 7,000 ราย โดยลูกค้ากว่าร้อยละ 70 อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภค (Consumer linked) เช่น กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภค FMCG อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการผลิตสินค้าให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม รวมถึงมีการพัฒนาหาช่องทางในการขยายฐานลูกค้าไปยังภูมิภาคใหม่ๆ อยู่เสมอ" นายวิชาญ กล่าว
สำหรับการลงทุนในปีนี้ บริษัทคงงบประมาณลงทุนไว้ที่ 20,000 ล้านบาท โดยจะใช้ในการขยายธุรกิจตามแผนการเติบโตระยะยาว ทั้งการเติบโตจากการขยายกำลังการผลิต (Organic Growth) ซึ่งปัจจุบันดำเนินการอยู่ 2 โครงการ ได้แก่ การขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากเยื่อธรรมชาติ ของโรงงานในจังหวัดกาญจนบุรี
และโครงการขยายการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในเวียดนามเหนือ เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ภาคการส่งออก และจากนโยบายเปิดรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ส่งผลให้มีบรรษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนทางตอนเหนือของประเทศเป็นจำนวนมาก โดยโครงการนี้มีกำลังการผลิตส่วนเพิ่ม 370,000 ตันต่อปี คิดเป็น 75% ของกำลังการผลิตทั้งหมดในเวียดนาม ใช้เงินลงทุนราว 11,793 ล้านบาท และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 67
อีกทั้งมีงบลงทุนส่วนหนึ่งเพื่อรองรับการขยายธุรกิจจากการควบรวมกิจการ (M&P) โดยบริษัทมีความสนใจกิจการในประเทศเวียดนาม และ อินโดนีเซีย เป็นต้น
ส่วนการดำเนินงานอื่นๆ SCGP ก็อยู่ระหว่างศึกษานำไฟเบอร์จากต้นกัญชงมาต่อยอดหรือนำมาใช้เป็นส่วนประกอบผสมกับวัตถุดิบอื่น ๆ เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์ โดยปัจจุบันอยู่ในช่วงของการศึกษา การวิจัยและพัฒนา (R&D) หรือตัดแต่งพันธุกรรม เพื่อให้มีช่อดอกและผลผลิตที่ดีขึ้น
นายวิชาญ กล่าวว่า บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้จากการขายในปีนี้ที่ 140,000 ล้านบาท และเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แผน 5 ปี (ปี 65-69) ที่ตั้งวงเงินลงทุนรวม 100,000 ล้านบาท โดยจะพิจารณาลงทุนอย่างระมัดระวังและรอบคอบ เน้นธุรกิจในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำ (Downstream) ที่มีศักยภาพการเติบโตในระยะยาวและได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค
พร้อมกับการยึดมั่นในการดำเนินงานตามแผนบริหารความต่อเนื่องของการดำเนินงาน (Business Continuity Management) เพื่อลดความเสี่ยงจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร เน้นด้านการมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านการปฏิบัติการ (Operational Excellence) การสร้างคุณค่าจากการผนึกกำลังทางธุรกิจ การบริหารจัดการต้นทุนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมท่ามกลางแนวโน้มภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
SCGP ยังได้ยึดหลักการดำเนินธุรกิจด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจและการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ SCGP ได้เข้าร่วม Science Based Targets initiative (SBTi) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติต่าง ๆ และในปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำกว่า 2,000 แห่งทั่วโลกที่เข้าร่วมในโครงการ เพื่อตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกบนพื้นฐานที่มีการวัดผลทางวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและสอดคล้องกับเป้าหมายตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต เพื่อให้ SCGP สามารถบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 93