นายอภิศักดิ์ เกี่ยวการค้า รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการเงินและบริหารเงินลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในการเสวนา "เดินหน้าอย่างไรในวันที่ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่รอไม่ได้- Sustainable Driver for Meaningful Growth" ว่า ตลท.กำหนดกลยุทธ์การพัฒนาความยั่งยืนขององค์กร (SET Sustainability Framework) ผ่านมุมมองใน 4 เรื่องหลักของ UN Sustainable Development Goals (SDGs) ได้แก่ อุตสาหกรรม นวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐาน, ลดความเหลื่อมล้ำ, แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และ การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาเป็น SET-ESG in action ประกอบด้วย 5 มิติ ได้แก่
1. Purposeful Organization หรือ การบริหารองค์กรอย่างยั่งยืน โปร่งใส รอบด้าน เท่าเทียม เป็นธรรม บริหารความเสี่ยง พัฒนานวัตกรรม
2. Prosperity with Sustainability หรือการสร้างคุณค่าตลาดทุน ส่งเสริม กำหนดมาตรฐาน ให้คำปรึกษา ประเมินผล ยกย่อง
3. People at SET หรือ การพัฒนาและดูแลพนักงาน เสริมสร้างความสามารถ ความปลอดภัย คุณภาพชีวิต
4. public หรือ การพัฒนาและดูแลสังคม แลกเปลี่ยนความรู้ สนับสนุน เชื่อมโยง เครือข่าย
5. Planet หรือ การจัดการสิ่งแวดล้อม นโยบาย โครงสร้าง กระบวนการ มาตรฐาน ความคุ้มค่า ลดผลกระทบ
นายไตรสรณ์ วรญาณโกศล กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอส พี วี ไอ (SPVI) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) กล่าวว่า ในส่วนตลาด mai ดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1. Inspiration ผ่านการสร้าง Facebook Platform ที่เปิดภายใต้สมาคมบริษัทจดทะเบียนตลาด mai มีวัตถุประสงค์นำ CEO ของแต่ละบริษัทมาแชร์ประสบการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับ SMEs นักลงทุน และนักวิเคราะห์ ซึ่งจะแตกต่างจากการนำเสนอผลประกอบการใน OPPDAY
2. Coaching&Social โดยระดมพล CEO เข้ามาทำ Coaching ให้กับบริษัทที่เป็น Social Enterprise, การทำ Art for Cancer, Virtual Run, Care the Whale, Care the Wild
และ 3. Networking โดยมองในเรื่องของการสร้างศัพยภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ หรือแตกต่างของบริษัท และก้าวสู่อนาคตไปด้วยกัน
ด้านบริษัทจดทะเบียนไทยขนาดใหญ่ นายนุกิจ ชลคุป Chief Manufacturing Officer บมจ.โอสถสภา (OSP) กล่าวว่า OSP Sustainability Framework จะคล้ายกันกับหลายๆ บริษัท โดยแบ่งเป็น 3 เรื่อง คือ 1. Our Business โดยในแง่ของธุรกิจครื่องดื่ม จะคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงให้แก่ลูกค้า 2. Our Society และ 3. Our Environment อย่างไรก็ตามใน 3 เรื่องดังกล่าว สิ่งที่ให้ความสำคัญที่สุด คือเรื่องของ คน ทั้งคนในบริษัท เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพได้เหมือนๆ กัน และคนนอกบริษัท
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าบรรลุ Sustainability ไว้ภายในปี 68 ทั้งเรื่องของ Sustainable Supply Chain, Water Management โดยตั้งเป้าลดการใช้น้ำ 40% หรือเกือบครึ่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันก็มาได้เกือบครึ่งทางแล้ว, Energy Climate Change Management ตั้งเป้าลดการใช้พลังงานลง 10% และลดการใช้ Green House Gas ลง 15%, Consumer Health&Well-being ตั้งเป้าลดน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ลง หรือ 100% ของพอร์ตโฟลิโอจะต้องมีการใช้น้ำตาลน้อยลง และ 50% ของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และ Confectionery ในพอร์ตโฟลิโอจะต้องเป็น Sugar Free และในเรื่องของ Sustainable Packaging ตั้งเป้าภายในปี 73 ผลิตภัณฑ์จะสามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด และลดน้ำหนักของผลิตภัณฑ์ลงให้น้อยที่สุด
นอกจากนี้ในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน บริษัทได้ตั้งเป้าเป็น Zero Waste to Landfill ซึ่งสามารถทำได้แล้ว และมีการตั้งโรงงานรีไซเคิลที่สระบุรี รวมถึงการนำแพ็คเกจจิ้งที่ออกไปสู่ผู้บริโภคกลับมาให้ได้และรีไซเคิลเพื่อลดต้นทุน
น.ส.ธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า ในฐานะนักลงทุนสถาบัน ก็มีความเชื่อว่าการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG จะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนได้ เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกและภายในธุรกิจ และยังช่วยแยกแยะและเพิ่มโอกาสการลงทุนด้วย
โดยรายงานของ Global Sustainable Investment Trend in the Past 5 Years ในปี 63 เห็นได้ว่าการลงทุนโดยใช้หลักการ ESG ใน 5 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตถึง 50% และเมื่อมาดูในรายภูมิภาค พบว่า ทุกภูมิภาคก็มีการเติบโตของเม็ดเงินลงทุนในด้านนี้อย่างชัดเจน ส่วนในทวีปยุโรป พบว่า มีการเติบโตน้อยลงกว่าทวีปอื่น ทั้งๆ ที่เป็นผู้นำในด้านนี้ เนื่องจากในปี 63 ทางหน่วยงานกำกับดูแลได้มีการออกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันการทำภาพลักษณ์ที่เป็นการลงทุนแบบยั่งยืน ทำให้มีสินทรัพย์บางส่วนโดนเอาออกจากการลงทุนแบบยั่งยืน
พร้อมกันนี้หลังจากนำหลักการลงทุนแบบยั่งยืนมาใช้กันอย่างแพร่หลาย พบว่า ปัจจุบันโดยเฉลี่ย 1 ใน 3 ของมูลค่ากองทุนทั่วโลกยังเป็นการลงทุนแบบ Sustainable Investment ขณะที่ในไทย สัดส่วนการลงทุนใน ESG มีน้อยมาก หรือคิดเป็น 3.4% ของมูลค่าการลงทุนกองทุนรวมหุ้น ที่มีอยู่ 1.8 ล้านล้านบาท หรือมีการลงทุนใน ESG เพียง 6 หมื่นกว่าล้านบาท
ขณะที่มองกระแส การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้รับความสำคัญและสนใจเป็นวงกว้าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทุกคนได้รับผลกระทบร่วมกัน การตั้งเป้าหมายร่วมกันก็จะทำได้ชัดเจนกว่าด้านอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามแม้ประเด็นดังกล่าวจะได้รับความสนใจในวงกว้าง แต่ประเทศไทย ที่ถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ธรรมาภิบาล เนื่องด้วยหากบริษัทมีธรรมาภิบาลที่ดี ก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคมในเชิงนโยบายที่ดีได้ด้วย และมีประสิทธิภาพ ประกอบกับภาครัฐ การเปิดเผยข้อมูลและเข้าถึงได้ง่ายกว่าด้าน E และ S ซึ่งการเก็บข้อมูลและการเปิดเผยข้อมูลอาจจะยังค่อนข้างจำกัด ไม่เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้ยากต่อการเปรียบเทียข้อมูลระหว่างบริษัท
อย่างไรก็ตาม การลงทุนแบบ ESG สิ่งที่ควรระวังคือ การสร้างภาพลักษณ์เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม หรือ ธรรมาภิบาลที่ดี ดังนั้นผู้ลงทุนจะต้องติดตามว่ามีการทำตามนโยบายหรือไม่ หรือวัดผลว่าเป็นอย่างไร