บมจ.ตาชำนิ (CEYE) พร้อมเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 29 เม.ย.65 นี้ เชื่อมั่นด้วยศักยภาพของบริษัทฯ ที่วางกลยุทธ์ขยายบริการแบบ One stop services creative and production solution ที่มีความต้องการคู่ขนานไปกับภาพรวมการใช้เม็ดเงินในอุตสาหกรรมโฆษณาและโอกาสจากการขยายไปยังอุตสาหกรรมบันเทิง เอ็นเตอร์เทนเมนต์ และสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม ซึ่งถือเป็นเมกะเทรนด์แห่งอนาคต
นอกจากนี้ บริษัทมุ่งเน้นขยายบริการใหม่ๆ เพื่อสอดรับสังคมในยุคดิจิทัล รวมทั้ง มีธุรกิจสตูดิโอที่บริหารงานโดยบริษัท ไม้ยืนต้น จำกัด ทำให้ CEYE เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมครีเอทีฟและโปรดักชั่นโฆษณาที่ครบวงจร
อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์โควิดที่ผ่อนคลายลงมาก สนับสนุนให้ปริมาณงานจากลูกค้าเพิ่มขึ้น จึงมองแนวโน้มผลงานไตรมาส 1/65 คาดจะมีการเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 4/64 ที่ผ่านมา และล่าสุด รัฐบาลประกาศยกเลิก Test & Go มีผล 1 พฤษภาคมนี้ คาดจะสนับสนุนภาพรวมเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศให้กลับมาคึกคักมากกว่าเดิม เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ลูกค้าแบรนด์ชั้นนำต่างๆ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ มีการจัดกิจกรรม โปรโมทสินค้า และการสร้างแบรนด์
บริษัทจึงมั่นใจเป้าหมายผลการดำเนินงานปี 65 คาดว่าจะกลับมาเติบโตสูงกว่าระดับปี 62 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 โดยในปี 62 มีรายได้รวม 311.74 ล้านบาท กำไรสุทธิ 38.57 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานล่าสุด ณ สิ้นปี 64 บริษัทมีรายได้รวม 272.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.53% และมีกำไรสุทธิ 28.45 ล้านบาท เติบโต 101.89% จากปีก่อน
นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า CEYE มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และจุดเด่นจากความเชี่ยวชาญของผู้บริหารในอุตสาหกรรมมากกว่า 30 ปี ไม่หยุดนิ่งในการขยายบริการให้ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้า จากจุดเริ่มต้นในธุรกิจให้บริการผลิตภาพนิ่งสำหรับสื่อโฆษณาเป็นสัดส่วนรายได้หลักเพียงธุรกิจเดียว ในช่วง 5 ปีก่อนจึงได้เริ่มต่อยอดมายังบริการผลิตวีดีโอ เพื่อนำเสนอคอนเทนต์โฆษณาในช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น และสามารถสร้างยอดขายให้เติบโตต่อเนื่องในทุกปี แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19
โดย ณ สิ้นปี 64 CEYE มีสัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจให้บริการผลิตภาพนิ่ง 50.07% บริการผลิตภาพเคลื่อนไหว 26.73% บริการตกแต่งภาพด้วยคอมพิวเตอร์ 11.50% บริการให้เช่าสตูดิโอ 3.82% และบริการอื่นๆ รวมประมาณ 5.50% ได้แก่ ธุรกิจผลิตสื่อออนไลน์ และการบริหารสื่อออนไลน์ ซึ่งถือเป็นธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาเสริมรายได้ในระยะยาว
อย่างไรก็ดี ในยุคหลังโควิด-19 ความต้องการงานครีเอฟทีฟคอนเทนต์โฆษณากลับมาเป็นปกติ ส่งผลให้บริษัทฯ พร้อมเก็บเกี่ยวงานโปรดักชั่นได้อย่างเต็มที่ และนอกจากนี้ CEYE ได้วางแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ขยายอาคารสำนักงานแห่งใหม่ ลงทุนในอุปกรณ์การผลิต และโครงการในอนาคต เพื่อเข้าสู่ธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ สนับสนุนโอกาสให้ CEYE เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนในการเข้าซื้อขายวันแรก และในอนาคต
นายกิตติพันธ์ ภูษณวรรณ กรรมการผู้จัดการอาวุโส บล.โกลเบล็ก ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า การเสนอขายหุ้น IPO ของ CEYE จำนวน 70 ล้านหุ้น ราคาเสนอขาย 3.86 บาท/หุ้น ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเกินกว่าคาดหมาย ตอกย้ำถึงศักยภาพและความเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ ทางด้านนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำรวม 4 บริษัทจัดทำบทวิเคราะห์และประเมินกรอบราคาเหมาะสมของ CEYE อยู่ในกรอบที่ 4.20-4.60 บาทต่อหุ้น ยังไม่นับรวมโอกาสการเติบโตที่แข็งแกร่งในอนาคต
บทวิเคราะห์ บล.โกลเบล็ก ระบุประเด็นสำคัญในการลงทุนของ CEYE จากแนวโน้มปี 65 อุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์และโฆษณาดิจิทัลยังเติบโตต่อเนื่อง โดย นีลเส็น ประเทศไทย คาดว่าสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ยังมีอิทธิพลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการใช้จ่ายของแบรนด์ต่าง ๆ เนื่องจากเป็นสื่อที่ยังมีอิทธิพลในการจับจ่ายของผู้บริโภค แม้ว่าการรับชมรายการสดทางโทรทัศน์มีแนวโน้มลดลงแต่มีการรับชมย้อนหลังและการรับชมรายการสดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้ยังมีความต้องการบริการถ่ายภาพนิ่ง ตกแต่งภาพ และถ่ายภาพเคลื่อนไหวในการผลิตสื่อโฆษณา
โดยคาดอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ของกำไรสุทธิระหว่างปี 62-65 อยู่ที่ 15% ต่อปี ฝ่ายวิจัยประเมินรายได้จากการให้บริการในปี 65 ราว 362 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YOY) โดยมีสัญญาณรายได้พลิกกลับดีขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/64 ที่มีการเปิดเมืองตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนของปีก่อน ทำให้มีความต้องการผลิตสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์มากขึ้นในหลายอุตสาหกรรม ทั้งธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม โทรศัพท์เคลื่อนที่ ค่ายรถยนต์ ธนาคาร ฯลฯ และคาดว่ารายได้บริการอื่นด้านออนไลน์มีเดียมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตามการใช้เงินโฆษณาของแบรนด์ต่างๆ
ด้วยสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) 29.2% ใกล้เคียงกับระดับ 29.6% ในช่วงไตรมาส 4/64 และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้รวมที่ระดับ 8.9% ลดลงจาก 11% ในปี 2564 ส่งผลให้ประมาณการกำไรในปี 65 เท่ากับ 58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 105% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YOY) โดยคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 15% ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ระหว่างปี 62-65 เท่ากับ 15% ต่อปี
ประเมินราคาเหมาะสมในปี 65 ที่ราว 4.54 บาทต่อหุ้น ด้วยวิธี PER โดยใช้ Prospective PER ที่ระดับ 21 เท่า เมื่อเทียบกับหุ้นที่ประกอบธุรกิจคล้ายคลึงกันในกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ (ตลาด SET) ที่ระดับ 47.34 เท่า และกลุ่มบริการ (ตลาด mai) ที่ระดับ 35.49 เท่า และประมาณกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 2565 ราว 0.216 บาทต่อหุ้น คำนวณเป็นราคาเหมาะสมเท่ากับ 4.54 บาทสำหรับปี 2565