ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. สามารถเทลคอม (SAMTEL) เป็นระดับ "BBB" จาก "BBB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" โดยการลดอันดับเครดิตดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการลดอันดับเครดิตของ บมจ. สามารถ คอร์ปอเรชั่น (SAMART) เป็นระดับ "BBB" จาก "BBB+"
ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นบริษัทลูกหลัก (Core Subsidiary) ของ SAMART เป็นสำคัญ ซึ่งตาม "เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ" (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้งนั้น อันดับเครดิตของบริษัทลูกหลักโดยปกติแล้วจะอยู่ในระดับเดียวกับสถานะเครดิตของกลุ่ม
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
- มีฐานะเป็นบริษัทลูกหลักของ SAMART โดยทริสเรทติ้งประเมินให้บริษัทมีสถานะเป็นบริษัทลูกหลักของ SAMART โดยถือเป็นบริษัทเรือธง (Flagship Company) ของกลุ่มที่มีความชำนาญพิเศษในการให้บริการวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโทรคมนาคมแบบครบวงจรหรือไอซีทีโซลูชัน (ICT Solutions) รวมถึงการให้บริการด้านนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovations) แก่ลูกค้าทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งนี้ การดำเนินงานของบริษัทมีความสำคัญต่อกลุ่มเป็นอย่างมาก
โดยบริษัทสร้างรายและกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ให้แก่กลุ่มมากกว่า 60% ของรายได้และกำไรของกลุ่มในช่วงปี 2562-2564
ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทสามารถ คอร์ปอเรชั่น ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 70% ในขณะเดียวกันผู้บริหารและกลยุทธ์กลุ่มของบริษัททั้ง 2 แห่งยังมีบูรณาการร่วมกันและพึ่งพากันในระดับสูงอีกด้วย
- มีผลงานที่แข็งแกร่งในการดำเนินโครงการภาครัฐ บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการรับจ้างให้บริการโดยบุคคลภายนอก (Outsourcing Services) กล่าวคือ บริษัทมีความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับคู่ค้าที่หลากหลายและลูกค้ารายสำคัญ ๆ บนพื้นฐานประสบการณ์ที่ยาวนาน ดังนั้น ความเชี่ยวชาญและผลงานในการรับงานโครงการภาครัฐมากมายจึงจะยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อกลุ่มในการรักษาความมั่นคงให้แก่ธุรกิจในด้านนี้ต่อไปในอนาคต
- ผลการดำเนินงานมีแนวโน้มจะค่อย ๆ ฟื้นตัว หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจนรายได้ของบริษัทลดลงอย่างมากในปี 2563 และลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2564 มาอยู่ที่ระดับ 4.6 พันล้านบาทโดยเปรียบเทียบกับระดับ 9.1 พันล้านบาทในปี 2562 ทั้งนี้ การระบาดของโรคได้ทำให้เกิดความล่าช้าและมีการจัดสรรงบประมาณด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในภาครัฐใหม่จนทำให้โครงการใหม่ ๆ ที่ได้รับการลงนามในสัญญามีจำนวนน้อยต่อเนื่องกันถึง 2 ปีโดยอยู่ระดับต่ำที่ 2.6 พันล้านบาทในปี 2563 และ 4.5 พันล้านบาทในปี 2564 เปรียบเทียบกับระดับ 7.7 พันล้านบาทในปี 2561 และ 1.01 หมื่นล้านบาทในปี 2562 นอกจากนี้ บริษัทยังสูญเสียสัญญาให้บริการงานที่เกี่ยวข้องกับสนามบินจำนวนหลายงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะค่อย ๆ ฟื้นตัว บริษัทมีมูลค่างานที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) ของบริษัท ณ สิ้นปี 2564 ที่ระดับ 6 พันล้านบาท ทั้งนี้ มูลค่างานที่ยังไม่ได้ส่งมอบประมาณ 1.8 พันล้านบาทจะรับรู้เป็นรายได้ในปี 2565 และอีก 1.3 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2567 ในไตรมาสแรกของปี 2565 บริษัทได้มีการลงนามในสัญญาใหม่ ๆ มูลค่ารวม 3 พันล้านบาท ซึ่งแสดงถึงสัญญาณการฟื้นตัว ทริสเรทติ้งยังประเมินว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด 19 จากผลของการที่สัญญาให้บริการงานที่สนามบินซึ่งมีอัตรากำไรสูงยุติลงเป็นสำคัญ
- สภาพคล่องจะยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งเงินทุนประกอบไปด้วยเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวนประมาณ 420 ล้านบาท เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 505 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 ตลอดจนวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 1.7 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีหนี้ที่จะต้องชำระคืนรวมจำนวน 1.8 พันล้านบาทและมีแผนลงทุนรวมมูลค่าประมาณ 550 ล้านบาท
เนื่องจากภาระหนี้ของบริษัทส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้นและเป็นเงินกู้โครงการซึ่งมีการโอนสิทธิ์รับเงินไปที่เจ้าหนี้โครงการ ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงมองว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทอาจมีสถานะที่ด้อยสิทธิ์อย่างมีนัยสำคัญในด้านลำดับสิทธิเรียกร้องเหนือสินทรัพย์ของบริษัทเมื่อเทียบกับเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันหรือเจ้าหนี้โครงการ
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" ของบริษัทขึ้นอยู่กับแนวโน้มอันดับเครดิตของ SAMART
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของ SAMART โดยอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการทบทวนหากทริสเรทติ้งเห็นว่าสถานะของบริษัทที่มีต่อกลุ่มนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน