ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (17 มี.ค.) อย่างไรก็ตาม ตลาดยังเคลื่อนตัวผันผวน โดยดัชนี S&P และดัชนี Nasdaq ปิดลบ เนื่องจากนักลงทุนมองว่าเจพีมอร์แกน เข้าซื้อกิจการแบร์ สเติร์นส์ในมูลค่าที่ต่ำมาก และข่าวดังกล่าวยังไม่สามารถบรรเทาความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในตลาดสินเชื่อได้
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดบวก 21.16 จุด หรือ 0.18% แตะระดับ 11,972.25 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดลบ 11.54 จุด หรือ 0.90% แตะระดับ 1,276.60 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดรูดลง 35.48 จุด หรือ 1.60% แตะระดับ 2,177.01 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ประมาณ 2.0 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 5 ต่อ 1 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ประมาณ 2.38 พันล้านหุ้น
ไรอัน เดทริค หัวหน้านักวิเคราะห์จากบริษัทแชฟเฟอร์ อินเวสเมนท์ รีเสิร์ช กล่าวว่า "ดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวขึ้นหลังจากร่วงลงเกือบ 200 จุดเมื่อวันศุกร์ แต่ตลาดยังผันผวนอยู่มากเนื่องจากนักลงทุนมองว่า การที่เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค เข้าซื้อกิจการแบร์ สเติร์นส์ ในราคาหุ้นละ 2 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นวงเงินรวม 236.2 ล้านดอลลาร์นั้น เป็นราคาที่ต่ำเกินไป"
"ขณะเดียวกันนักลงทุนมองว่า วิกฤตการณ์ในตลาดสินเชื่อที่บีบให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องประกาศลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินเมื่อวานนี้ กำลังส่งสัญญาณว่า สถานการณ์ในตลาดกำลังย่ำแย่กว่าที่ประเมินไว้ในเบื้องต้น แม้ว่ารมว.คลังสหรัฐและเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆของสหรัฐจะออกมาขานรับความเคลื่อนไหวของเฟดก็ตาม" เดทริคกล่าว
ขณะที่ปีเตอร์ ดูเนย์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทมาริเดียน อิควิตี้ พาร์ทเนอร์สในกรุงนิวยอร์กกล่าวว่า "การล่มสลายของแบร์ สเติร์นส์ถือเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของวาณิชธนกิจสหรัฐ คำถามอยู่ที่ว่าจะมีสถาบันการเงินอีกกี่รายที่ต้องเจอปัญหาแบบนี้ และนี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐถดถอย"
เมื่อวานนี้ เฟดประกาศมาตรการกอบกู้วิกฤตสินเชื่อครั้งใหม่ ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน(discount rate) ลงอีก 0.25% สู่ระดับ 3.25% โดยให้มีผลบังคับใช้ทันที นอกจากนี้ เฟดยังจัดเตรียมวงเงินกู้ประเภทอื่นๆให้กับวาณิชธนกิจรายใหญ่เพื่อผ่อนคลายภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อ พร้อมกับอนุมัตการจัดสรรเม็ดเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับแบร์ สเติร์นส์ วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐ
เฟดกล่าวในแถลงการณ์ว่า "มาตรการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อกระตุ้นสภาพคล่องในตลาดและเพื่อให้กลไกในตลาดดำเนินต่อไปได้ การที่เฟดตัดสินใจครั้งนี้เพราะเล็งเห็นว่าตลาดที่มีสภาพคล่องที่ดีถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัว"
นักลงทุนจับตาดูรายงานผลประกอบการของวาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐ โดยนักลงทุนบางกลุ่มกังวลว่า เลห์แมน บราเธอร์ส อาจเป็นวาณิชธกิจอีกแห่งหนึ่งที่มีโอกาสล้มละลายเหมือนกับแบร์ สเติร์นส์ เนื่องจากสถานะทางการเงินและโครงสร้างธุรกิจส่วนใหญ่ของวาณิชธนกิจทั้ง 2 แห่งมีความคล้ายคลึงกันมาก
ทั้งนี้ ราคาหุ้นแบร์ สเติร์นส์ ปิดร่วงลง 86% แตะระดับ 4.10 ดอลลาร์ แต่ยังสูงกว่าระดับที่เจพีมอร์แกนเข้าซื้อ ขณะที่หุ้นเลห์แมน บราเธอร์ส ดิ่งลง 19%
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับปัจจัยหนุนจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐที่ระบุว่า ตัวเลขขาดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐในปี 2550 มีอยู่ทั้งสิ้น 7.38 แสนล้านดอลลาร์ ลดลง 9% จากระดับ 8.11 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2549 และเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2544
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--