นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ แนะนำลดสัดส่วนการลงทุนหุ้นลงและถือเงินสดเพิ่มขึ้นบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยง โดยมองตลาดหุ้นไทยจะมีความผันผวนมากขึ้นตามหุ้นโลก จากปัจจัยกดดันต่างประเทศที่เป็นลบรอบด้าน ทั้งสงครามยูเครน-รัสเซียที่ยืดเยื้อ เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นไม่หยุด การล็อกดาวน์ในจีน และการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ล้วนสร้างความกังวลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ให้แนวรับสำคัญของดัชนีหุ้นไทยเดือนนี้อยู่ที่ 1,655 จุด และแนวรับต่อไปที่ 1,620-1,630 จุด และแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,680-1,685 จุด และแนวต้านถัดไปที่ 1,695-1,700 จุดตามลำดับ
บล.ทิสโก้ ระบุว่า การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อคืนนี้ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ซึ่งเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นแรงรอบ 20 ปี และคาดว่าในการประชุมครั้งต่อไปธนาคารกลางสหรัฐฯมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% พร้อมกับการเริ่มต้นลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ลงเดือนละ 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะที่ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) จะเริ่มส่งสัญญาณยุติมาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ และเตรียมส่งสัญญาณเตรียมตัวขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้ ขณะที่ตลาดมองว่า การขึ้นดอกเบี้ยของ ECB จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายน ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย Deposit Rate จะอยู่ที่ระดับ 0% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ -0.50%
สำหรับธนาคารอังกฤษ (BOE) เริ่มดำเนินการขึ้นดอกเบี้ยมา 3 ครั้งแล้วตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะดำเนินการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น เพราะฉะนั้นในปีนี้จะมีเพียงธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางจีน (PBOC) เท่านั้นที่ยังมีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากยังไม่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อมากนัก
แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว ทั้งการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและการเริ่มดึงสภาพคล่องออกจากระบบ โดยเฉพาะจากเฟดคาดจะสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นมากขึ้นในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ขณะที่ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อาจกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องติดตามในระยะถัดไป
"ในอดีตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 11 รอบ ซึ่ง 8 ใน 11 รอบ เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในเวลาต่อมา มีเพียง 3 รอบที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวขึ้นต่อได้ (Soft-landing) คือ ในปี พ.ศ. 2508, 2527 และ 2537
อย่างไรก็ดี บล.ทิสโก้ มองโอกาสที่เฟดจะทำ Soft-landing ได้สำเร็จในรอบนี้ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากในปัจจุบันเงินเฟ้อสหรัฐฯ อยู่ในสูงกว่า 8% ซึ่งจะกดดันให้เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่เร็ว หากใช้การส่งสัญญาณเตือน Recession จากส่วนต่างของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve) อายุ 10 ปี และ 2 ปี ที่ติดลบ ที่มักบ่งชี้ล่วงหน้าก่อนเข้าสู่ Recession โดยเฉลี่ย 19 เดือน และ Yield Curve ที่ติดลบไปในวันที่ 1 เม.ย. ชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้ที่จะเข้าสู่ภาวะ Recession ในช่วงเดือนพ.ย. 66" นายอภิชาติ กล่าว
นอกจากการเกิดปรากฎการณ์ Inverted Yield Curve ของส่วนต่าง Bond Yield อายุ 10 ปี และ 2 ปี ในต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาแล้ว อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Yield) หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรหักด้วยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจนใกล้กลับมาเป็นบวกแล้ว หาก Real Yield พลิกกลับมาอยู่ในแดนบวก คาดจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เม็ดเงินไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นเป็นต้น เพราะฉะนั้นแนวโน้มการลงทุนนับจากนี้ จะไม่ใช่การแสวงหา "ผลตอบแทน" ด้วยการยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น แต่ต้องเฟ้นหาการลงทุนในเชิง "คุณภาพและคุณค่า" มากขึ้น (Quality & Value) ที่ราคาสมเหตุสมผล มีระดับการประเมินมูลค่าที่ไม่แพง
สำหรับหุ้นที่แนะนำในเดือนนี้จะเน้นหุ้นที่คาดว่างบจะออกมาดีเป็นพื้นฐาน โดยอย่างน้อยต้องเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และมีประเด็นบวกหนุนระยะสั้น บล.ทิสโก้ยังคงแนะนำให้ลงทุนในธีมหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการทยอยเปิดเศรษฐกิจ (Re-opening) แนะนำ BEM, CENTEL สำหรับหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อน แนะนำ GFPT และ MEGA และหุ้นที่มีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว เด่น คือ JMT โดยคาดว่าจะได้เข้าคำนวณในดัชนี MSCI และ SET50 และหุ้น STANLY ที่คาดว่าจะประกาศงบปีพร้อมจ่ายปันผลสูง
ดังนั้น หุ้นเด่นเดือนนี้ คือ BEM, CENTEL, GFPT, JMT, MEGA และ STANLY