นายธนัตถ์ ธำรงศักดิ์สุวิทย์ ผู้จัดการ แผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/65 จะเติบโตตามคาดการณ์ปริมาณการขายเฉลี่ยเพิ่มมาที่ 4.67 แสนบาร์เรล/วัน (KBOED) จาก 4.27 แสนบาร์เรล/วันในไตรมาส 1/65 และคาดว่าทั้งปีก็น่าจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ยดังกล่าว
ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติก็คาดว่าไตรมาส 2/65 จะอยู่ที่ 6.2 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 1/65 และทั้งปีมองไว้ที่ 6.4 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู โดยราคาก๊าซฯ น่าจะปรับตัวขึ้นไปถึงจุดสูงสุดในไตรมาส 4/65 เนื่องจากเป็นช่วงปรับรอบสัญญาของโครงการสำคัญหลายโครงการ
ขณะที่บริษัทยังคงมองต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยจะอยู่ที่ 28-29 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และอัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จะอยู่ในช่วง 70-75% ตามเดิม
"เราคาดว่าปริมาณขายในไตรมาส 2/65 จะสูงขึ้นมาอยู่ที่ 4.67 แสนบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ราคาขายก็ยังสูงอยู่เช่นเดียวกัน และมองว่าราคาก๊าซธรรมชาติยังปรับตัวขึ้นเป็น 6.2 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ทำให้คาดว่ากำไร หรือผลประกอบการของบริษัทฯ น่าจะออกมาดีขึ้น" นายธนัตถ์ กล่าว
สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันในปี 65 คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่เฉลี่ย 90-130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัวราว 9.95 แสนบาร์เรล ถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ยังสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก็อาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังต้องรอติดตามในระยะต่อไป
ด้านการเติบโตของซัพพลายก็ยังเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากกลุ่มโอเปกพลัสยังคงมติเพิ่มกำลังการผลิตที่ 4.32 แสนบาร์เรล/วัน จนถึงเดือนก.ย.65 ทำให้บางประเทศเริ่มมีการปล่อยน้ำมันดิบออกจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะสหรัฐฯ
ราคาก๊าซธรรมชาติ คาดการณ์ราคา Asian Spot LNG เฉลี่ยทั้งปี 65 จะอยู่ที่ประมาณ 23-26 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู โดยความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อความผันผวนของราคาก๊าซธรรมชาติในปีนี้ ขณะที่ความต้องการรวมคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 401 ล้านตัน/ปี จากความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในภูมิภาคยุโรปเพื่อไปเติมเต็มระดับก๊าซธรรมชาติคงคลัง และความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในภูมิภาคเอเชียที่ยังคงเพิ่มขึ้นจากประเทศจีน อินเดียและบังคลาเทศ ด้านซัพพลาย สถานการณ์ LNG ในตลาดโลกคาดจะมีกำลังการผลิตรวมจากโครงการเดิมและโครงการใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 27 ล้านตันในปี 64 เป็น 422 ล้านตันในปี 65 โดยหลักมาจากสหรัฐและรัสเซีย
นายธนัตถ์ กล่าวว่า ด้านโครงการลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า บริษัทจะมุ่งเน้นการลงทุนในโครงการที่ดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ,โครงการ G2/61 (แหล่งบงกช),โครงการโครงการโมซัมบิก แอเรีย วันในประเทศโมซัมบิก และโครงการที่กำลังพัฒนาในประเทศมาเลเซียอย่างโครงการซาราวัก เอสเค 410 บี (แหล่งลัง เลอบาห์) ส่วนด้านแหล่งเงินทุนมองว่ายังมีอยู่เพียงพอ เพราะมีทั้งกระแสเงินสดในมือที่ยังอยู่ในระดับสูงและสภาพคล่องจากการดำเนินธุรกิจ รวมถึงอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ต่ำเพียง 0.33 เท่า จึงทำให้บริษัทยังไม่มีแผนจัดหาเงินกู้จากภายนอก
นอกจากนี้กลยุทธ์การเข้าซื้อกิจการ (M&A) ยังคงเน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักอย่างสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยเฉพาะการลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงการเปลี่ยนผ่าน โดยมีเป้าหมายโครงการทั้งในประเทศไทย,มาเลเซีย และภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างกระแสเงินสดได้ดีในอนาคต