นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/65 มียอดขายสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 36,272 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ความต้องการสินค้าทั่วโลกที่สูงขึ้นเนื่องจากหลายประเทศได้กลับสู่สภาวะปกติ และผ่อนคลายมาตรการป้องการการแพร่ระบาดต่างๆ
TU แจ้งกำไรสุทธิไตรมาส 1/65 ที่ 1.75 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.36 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.8 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.37 บาท
แม้ว่าบริษัทจะต้องเผชิญกับความท้าทายทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทยังสามารถทำผลงานได้ดี รวมถึงยอดขายจากหน่วยธุรกิจหลักทั้ง 3 ส่วน โดยที่ยังคงให้ความสำคัญกับสุขภาพ ความเป็นอยู่ และความปลอดภัยของพนักงาน ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 บริษัทได้มีมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ทำให้บริษัทสามารถจัดการฐานการผลิตทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถผลิตสินค้าคุณภาพให้กับผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง
ด้านความต้องการสินค้าทั่วโลกส่งผลดีต่อยอดขายของบริษัท ซึ่งธุรกิจหลักทั้ง 3 ส่วนของบริษัทมียอดขายที่เพิ่มขึ้น โดยธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องมียอดขายเพิ่มขึ้น 14.3% อยู่ที่ 1.55 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 1/65 มีปัจจัยบวกจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ส่งผลบวกต่อธุรกิจ และราคาขายของสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นมียอดขายเพิ่มขึ้น 14.2% อยู่ที่ 1.37 หมื่นล้านบาท สืบเนื่องจากความต้องการที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชีย ที่มีความต้องการสินค้าประเภทกุ้งสูงขึ้น อีกทั้งธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเริ่มทยอยฟื้นตัว และเช่นเดียวกัน อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้ส่งผลบวกต่อยอดขาย นอกจากนี้บริษัทยังได้นำระบบเครื่องจักรอัตโนมัติเข้ามาใช้ในโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและบริหารจัดการต้นทุนต่อหน่วย
ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและสินค้าเพิ่มมูลค่า ยังคงมีส่วนสำคัญในการเติบโตทางธุรกิจของ TU อย่างต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี ด้วยยอดขายที่พุ่งสูงขึ้น 27.2% อยู่ที่ 6.95 พันล้านบาท จากการที่ผู้คนใช้เวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยงมากขึ้นและบริษัทมีการออกผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต่างๆ นอกจากนี้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ยังมียอดขายที่สูงขึ้นด้วย
สำหรับในไตรมาส 1/65 บริษัทยังได้ขยายธุรกิจไปยังตลาดอื่นๆ และมีการตั้งบริษัทร่วมทุน ร่วมกับ บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) และ บริษัท Srinivasa Cystine Private Limited ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออะแวนติ กรุ๊ป โดยใช้ชื่อ บริษัท อาร์บีเอฟ-ทียู ฟู้ด อินกรีเดียนท์ ไพรเวท จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายส่วนผสมในอาหารคุณภาพสูงในประเทศอินเดีย
อีกทั้งบริษัทยังเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการห่วงโซ่อุปทาน โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่นี้กับ บริษัทแปซิฟิค ห้องเย็น ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD) ในนาม บริษัท แปซิฟิค ทียูเอ็ม โคลด์ สโตเรจ จำกัด บริษัทร่วมทุนใหม่นี้จะดำเนินการก่อสร้างคลังสินค้าห้องเย็นในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อรองรับการจัดเก็บวัตถุดิบและสินค้าที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
"ท่ามกลางวิกฤตนั้นมีโอกาส และในขณะเดียวกันในวิกฤตก็มีความท้าทายอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบจากโอไมครอน รวมถึงสถานการณ์ห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งทั่วโลก และแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงยึดกลยุทธ์หลักในเรื่องความหลากหลายของธุรกิจ โดยได้ลงทุนและขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องในธุรกิจที่มีอัตราการทำกำไรสูง ซึ่งเราจะสามารถใช้นวัตกรรมสร้างมูลค่าและใช้วัตถุดิบในโรงงานได้อย่างคุ้มค่า และให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ผ่านผลิตภัณฑ์และธุรกิจต่างๆของเรา เพื่อให้ธุรกิจหลักเติบโตและทำกำไร รวมถึงขยายตัวไปยังธุรกิจที่น่าสนใจเพื่อสร้างสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คนและได้ดูแลสิ่งแวดล้อมและท้องทะเลไปพร้อมกัน" นายธีรพงศ์ กล่าว