นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.(PTT) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยไตรมาส 1/65 มีกำไรสุทธิจำนวน 25,571 ล้านบาท ลดลง 7,017 ล้านบาท หรือ 21.5% จากไตรมาส 1/64 ที่มีกำไรสุทธิ 32,588 ล้านบาท และลดลง 1,973 ล้านบาท หรือ 7.2% จากไตรมาส 4/64 ที่มีกำไรสุทธิ 27,544 ล้านบาท
เนื่องจากในไตรมาสนี้มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพิ่มขึ้นมาก โดยหลักจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ ที่ราคาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศยูเครนที่หลายประเทศมีการประกาศคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงมีภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น
แม้ว่ารายได้จากการขาย และกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) จะเพิ่มขึ้น ตามรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นจากราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นตามราคาในตลาดโลก รวมถึงปริมาณขายโดยรวมที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ กำไรสุทธิเป็นผลการดำเนินงานรวมจากบริษัทในเครือทั้งในและต่างประเทศ โดยสัดส่วนกำไร 30% มาจากการดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติและธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของ ปตท. และ 70% มาจากผลตอบแทนการลงทุนในบริษัทในกลุ่ม ปตท.
นายอรรถพล กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เป็นเหตุให้อุปทานพลังงานลดลง ส่งผลต่อราคาเชื้อเพลิงตลอดจนค่าครองชีพของประชาชนที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก ทำให้แต่ละประเทศต่างตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงด้าน พลังงาน โดยเฉพาะประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานเป็นหลัก ปตท. ยังคงยึดมั่นดำเนินธุรกิจให้บรรลุพันธกิจดูแลความมั่นคงทางพลังงานของชาติ และได้ดำเนินมาตรการบริหารจัดการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรองรับความต้องการใช้ในประเทศอย่างเต็มความสามารถ ประกอบด้วย การจัดหาน้ำมันดิบเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มปริมาณสำรอง ประสานงานโรงกลั่นในกลุ่ม ปตท. จัดเก็บน้ำมันคงคลังในระดับสูงสุด ควบคู่ไปกับการร่วมดูแลสาธารณสุขและสังคม รวมถึงสนับสนุนด้านพลังงาน เพื่อแบ่งเบาภาระของภาครัฐและประเทศในระหว่างที่ยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนอย่างต่อเนื่อง
ในช่วงที่ผ่านมา โครงการ "ลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท." ได้มีส่วนร่วมดูแลด้านสาธารณสุขและการสนับสนุนด้านพลังงาน รวมงบประมาณ 3,793 ล้านบาท โดย ปัจจุบัน ปตท. คงสถานะหน่วยวัคซีนเคลื่อนที่เชิงรุก จนถึงหน่วยคัดกรองโควิด-19 และโรงพยาบาลสนามครบวงจรที่ EnTer ตั้งแต่เปิดให้บริการเดือนสิงหาคม 2564 มีผู้มารับบริการแล้วมากกว่า 125,500 ราย มีผู้ป่วยที่รับเข้าระบบรักษา รวมแล้วมากกว่า 12,000 ราย
ช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ตรึงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม และราคาขายปลีก NGV ในโครงการ "เอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกัน" สำหรับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ 13.62 บาท/กิโลกรัม ถึงกลางเดือนมิ.ย.65 เพื่อเป็นอีกหนึ่งพลัง ร่วมขับเคลื่อนประเทศในทุกมิติ ให้คนไทยฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกัน