นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญใหม่จำนวน 725,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (ราคาพาร์) หุ้นละ 10 บาท โดยกำหนดราคาเสนอขายสุดท้าย (Final Offering Price) ที่ 34.48 บาทต่อหุ้น เพื่อออกและเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมโดยไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทฯ มีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ (PPO) อัตราส่วนการเสนอขายต่อหุ้น 2 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญที่ออกใหม่ หลังจากที่บริษัทได้พิจารณาแล้วว่ามีความเหมาะสม สะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจโรงไฟฟ้าที่แข็งแกร่งและศักยภาพในการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตของบริษัทฯ
การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ จะเริ่มเปิดให้จองซื้อและชำระเงินในระหว่างวันที่ 6-10 มิ.ย.65 ผ่าน บล.บัวหลวง
"ราคาเสนอขายสุดท้ายของหุ้นเพิ่มทุนที่ราคา 34.48 บาทต่อหุ้น เป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและศักยภาพการเติบโตจากแผนการลงทุนที่ชัดเจน โดยมุ่งเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกและวิสัยทัศน์ขององค์กร ส่งผลให้ RATCH มีความสามารถเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว" นางสาวชูศรี กล่าว
กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทมีวิสัยทัศน์มุ่งขยายการเติบโตจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าไปสู่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และยกระดับองค์กรเป็น "บริษัทชั้นนำด้านพลังงานและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก" ภายใต้กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1. บริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่เดิมให้ได้เต็มประสิทธิภาพ และบริหารโครงการระหว่างการพัฒนาให้เป็นไปตามเป้าหมายและงบประมาณ 2. มุ่งเน้นพัฒนาโครงการด้านพลังงานและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งในตลาดที่มีธุรกิจอยู่แล้วและตลาดใหม่ 3. แสวงหาพันธมิตรเพื่อขยายการลงทุนโครงการด้านพลังงานและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน 4. สร้างมูลค่าเพิ่มโดยขยายการลงทุนสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องและธุรกิจอื่นๆ 5. เสริมขีดความสามารถภายในองค์กร
ทั้งนี้ RATCH มีลักษณะการดำเนินธุรกิจแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1.) ธุรกิจผลิตไฟฟ้า เป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯ ที่มีการดำเนินงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก ได้แก่ โรงไฟฟ้าราชบุรี, โรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์, โรงไฟฟ้าราชบุรีเวอลด์ โรงไฟฟ้านวนคร และโรงไฟฟ้าสหโคเจน (ชลบุรี) เป็นต้น และ กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โซล่าเพาเวอร์โคราช 3, 4 และ 7, โรงไฟฟ้าพลังงานลมห้วยบง 2 และ 3 และโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลสงขลาไบโอแมส นอกจากนี้ ยังมีโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย และเวียดนาม
2.) ธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐาน ได้แก่ น้ำประปา รถไฟฟ้า โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง รวมถึงธุรกิจโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคม และรองรับการคมนาคมให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว รวมถึงโครงข่ายสายใยแก้วนำแสงเพื่อการติดต่อสื่อสาร
3.) ธุรกิจเกี่ยวเนื่องไฟฟ้าและพลังงาน โดยให้ความสำคัญกับธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่การจัดหาวัตถุดิบ รวมไปถึงปลายทางในการบริการงานเดินเครื่องและการซ่อมบำรุงเครื่องจักรโรงไฟฟ้าและซ่อมกังหันก๊าซ รวมถึงลงทุนในนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องผ่านทาง InnoPower ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัทในกลุ่ม กฟผ. สะท้อนให้เห็นถึงการไม่หยุดนิ่งเพื่อพัฒนาธุรกิจให้เป็นไปตามกระบวนการทำงานในการจัดการพลังงานและการบริการต่างๆ และพร้อมดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รวมถึงความพร้อมสำหรับเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานสูงสุด และ
4.) ธุรกิจบริการสุขภาพ โดยบริษัทฯ ได้เข้าลงทุนในโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากมองเห็นศักยภาพในธุรกิจบริการสุขภาพที่สามารถเติบโตได้ในระยะยาว ทั้งจากสภาวะสังคมผู้สูงอายุและพฤติกรรมของผู้คนที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ เช่น ไวรัสโควิด ? 19 ถือเป็นตัวเร่งการเติบโตที่สำคัญ เป็นต้น นอกจากนี้โมเดลการลงทุนในธุรกิจบริการสุขภาพที่มีความใกล้เคียงกับธุรกิจผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างมั่นคง เนื่องด้วยเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับความจำเป็นขั้นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป ซึ่งจะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม ทำให้เชื่อมั่นว่าบริษัทฯ มีความพร้อมในการจัดการความเสี่ยงและบริหารผลตอบแทนการลงทุนได้อย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ บริษัทฯ มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของธรรมาภิบาล และยึดมั่นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการสร้างการเติบโตขององค์กร ควบคู่ไปกับการดูแลและรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จากแผนยุทธศาสตร์มุ่งพัฒนาพลังงานทดแทนสอดคล้องกับเมกะเทรนด์และทิศทางอุตสาหกรรมพลังงานของโลก โดยให้ความสำคัญด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้วทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าและใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าในอนาคต