นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญใหม่จำนวน 725,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (ราคาพาร์) หุ้นละ 10 บาท โดยกำหนดราคาเสนอขายสุดท้าย (Final Offering Price) ที่ 34.48 บาทต่อหุ้น เพื่อออกและเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมโดยไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทฯ มีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ (PPO) อัตราส่วนการเสนอขายต่อหุ้น 2 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญที่ออกใหม่ หลังจากที่บริษัทได้พิจารณาแล้วว่ามีความเหมาะสม สะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจโรงไฟฟ้าที่แข็งแกร่งและศักยภาพในการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตของบริษัทฯ
การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ จะเริ่มเปิดให้จองซื้อและชำระเงินในระหว่างวันที่ 6-10 มิ.ย.65 ผ่าน บล.บัวหลวง
"ราคาเสนอขายสุดท้ายของหุ้นเพิ่มทุนที่ราคา 34.48 บาทต่อหุ้น เป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและศักยภาพการเติบโตจากแผนการลงทุนที่ชัดเจน โดยมุ่งเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกและวิสัยทัศน์ขององค์กร ส่งผลให้ RATCH มีความสามารถเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว" นางสาวชูศรี กล่าว
นางสาวชูศรี เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาการเข้าลงทุนในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของบริษัท ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาทั้งหมด 5 ดีล คาดว่าจะทยอยเห็นความชัดเจนภายในปีนี้ ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 2 พันล้านบาท ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลเอกชนที่จะเข้าไปร่วมลงทุนกับพันธมิตร หลังจากที่บริษัทได้เข้าลงทุนไปแล้วในโรงพยาบาลพริ้นซ์สกลนคร รวมทั้งธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวล และโครงการ PPP ภาครัฐ เป็นต้น
ทั้งนี้ บริษัทมีวิสัยทัศน์มุ่งขยายการเติบโตจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าไปสู่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และยกระดับองค์กรเป็น "บริษัทชั้นนำด้านพลังงานและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก" ภายใต้กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1. บริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่เดิมให้ได้เต็มประสิทธิภาพ และบริหารโครงการระหว่างการพัฒนาให้เป็นไปตามเป้าหมายและงบประมาณ 2. มุ่งเน้นพัฒนาโครงการด้านพลังงานและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งในตลาดที่มีธุรกิจอยู่แล้วและตลาดใหม่ 3. แสวงหาพันธมิตรเพื่อขยายการลงทุนโครงการด้านพลังงานและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน 4. สร้างมูลค่าเพิ่มโดยขยายการลงทุนสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องและธุรกิจอื่นๆ 5. เสริมขีดความสามารถภายในองค์กร
ขณะที่การดำเนินงานด้านการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาสามารถขับเคลื่อนเดินหน้าได้ตามแผนงาน ส่วนการบริหารสินทรัพย์ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงต้นทุนการผลิต ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาเชื้อเพลิง โดยมีการกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด จนปัจจุบันโรงไฟฟ้าต่างๆ สามารถลดและจำกัดผลกระทบในระดับที่ยอมรับได้ และยังรักษาอัตรากำไรไว้ได้
ในปีนี้บริษัทจะมีโรงไฟฟ้าที่กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ในปีนี้ที่เข้ามาเสริมรายได้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว อินโดนีเซีย กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 145.15 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าผู้ผลิตรายเล็กเน็กส์ซิฟ ราช เอ็นเนอร์จี ระยอง 45.08 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลมอีโค่วิน เวียดนาม 15.16 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่นส่วนขยาย 31.19 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนไพตัน อินโดนีเซีย 930 เมกะวัตต์
บริษัทคาดหวังการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนไพตัน ในอินโดนีเซียหากดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมิ.ย.ที่จะถึงนี้ จะช่วยให้รายได้ของบริษัทแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และยังมีแผนการลงทุนโครงการใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งล่าสุดโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4A และ 4B กำลังการผลิตติดตั้งรวม 355 เมกะวัตต์ ใน สปป. ลาว ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการ และคาดว่าจะสามารถลงนามในบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) กับการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ในเร็วๆนี้
ส่วนโครงการนี้เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำประเภท Reservoir มีอายุสัญญา 27 ปี ปริมาณเสนอขายไฟฟ้าให้ กฟผ. 347.30 เมกะวัตต์ และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 76 ส่วนธุรกิจนอกภาคการผลิตไฟฟ้า โดยที่บริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการลงทุนในธุรกิจบริการสุขภาพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาคาดว่าจะสรุปได้ภายในปีนี้
ปัจจุบันบริษัทรับรู้กำลังการผลิตตามการถือหุ้นรวม 9,203.77 เมกะวัตต์ ซึ่ง 59% หรือคิดเป็นกำลังการผลิต 5,425.55 เมกะวัตต์ เป็นกำลังการผลิตภายในประเทศไทย และ 41% หรือ 3,778.22 เมกะวัตต์ เป็นกำลังการผลิตในต่างประเทศ สำหรับกำลังการผลิตจำแนกตามประเภทเชื้อเพลิง ประกอบด้วย เชื้อเพลิงประเภทฟอสซิล 7,844.03 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงพลังงานทดแทน 1,359.74 เมกะวัตต์