นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ (SENA) เปิดเผยว่า กรณีที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมาคาดว่าจะส่งผลให้สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 65 ปรับตัวดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยจะเห็นเป็นรูปธรรมในช่วงไตรมาส 3-4 แต่สิ่งที่กังวลคือช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าภาวะค่าครองชีพของประชาชนจะสูงขึ้นจากระดับราคาสินค้า ค่าพลังงานที่ปรับเพิ่ม เช่นเดียวกับต้นทุนของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นแล้วเฉลี่ยประมาณ 10%
สถานการณ์ของต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นมีแนวโน้มว่าผู้ประกอบการอาจจะทยอยปรับราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น โดยบริษัทฯ อาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ราว 10% ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่แต่ละโครงการ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ได้ออกแคมเปญต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละกลุ่มลูกค้า รวมถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาทุกโครงการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกบ้าน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา หลังคนทำงานต้องปรับการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ โดยทำงานอยู่ที่บ้านทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายจากค่าไฟฟ้ามากขึ้น
ในปี 65 กำลังต้องเผชิญกับวิกฤตราคาพลังงานโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมีผลต่อราคาค่าไฟฟ้า คณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติให้ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือน พ.ค.-ส.ค.65 โดยให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนเพิ่มเป็น 4.00 บาทต่อหน่วย จากเดิมเรียกเก็บที่ 3.76 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 5.82% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ดังนั้นที่อยู่อาศัยที่ติดตั้งโซลาร์จะช่วยบรรเทาภาระลดภาระค่าไฟฟ้าได้อย่างแท้จริง ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน โดยในปี 65 จะมีการผลักดันการใช้โซลาร์รูฟท็อปในโครงการใหม่ของบริษัทฯ ทุกโครงการ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดของปีนี้ โดยเฉพาะในโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ
"เรากำลังเปิดประเทศและโควิด-19 ก็เริ่มคลี่คลาย นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะต่างชาติก็น่าจะทยอยกลับมา แต่เราต้องยอมรับว่าการจะกลับไปยังจุดเดิมเหมือนก่อนเกิดโควิด-19 อย่าง กทม.มีต่างชาติเข้ามาเที่ยวถึง 60 ล้านคนเป็นที่ 11 ของโลกคงต้องใช้เวลา ดังนั้นเศรษฐกิจไทยก็จะค่อย ๆ ฟื้นตัว แต่แน่นอนว่าจะดีกว่าช่วงที่ไม่เปิดท่องเที่ยว แต่ระหว่างที่เศรษฐกิจเรากำลังทยอยกลับมาเราก็ต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูง ต้นทุนธุรกิจที่แพงขึ้น ดังนั้นช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ต้องกัดฟันสู้กันและมั่นใจว่ารัฐบาลน่าจะออกมาตรการมาดูแลประชาชาชนโดยรวมเพิ่มเติม" นางเกษรา กล่าว
สำหรับธุรกิจอสังหาฯ ตัวแปรขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ เพราะหากเศรษฐกิจดีประชาชนก็จะมีกำลังซื้อที่ดี ที่อยู่อาศัยก็จะมียอดขายดีตามไปด้วย โดยหากเทียบกับช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์แม้เงินเฟ้อจะสูงขึ้นแต่เศรษฐกิจภาพรวมดีทำให้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง แต่เศรษฐกิจไทยขณะนี้เผชิญกับเงินเฟ้อและชะลอตัวจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 และเศรษฐกิจโลกจากผลสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้รายได้สวนทางกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นมาก กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานที่มีฐานเงินเดือน 20,000-30,000 บาทต่อเดือน หากซื้อที่อยู่อาศัยต้องห่างไกลจากตัวเมือง เมื่อคิดค่าเดินทางคงไม่คุ้ม ส่งผลให้กลุ่มคนดังกล่าวชะลอหรือไม่คิดซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งกระทบต่อภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ของไทย
นอกจากนี้ ต้นทุนของผู้ประกอบการอสังหาฯ ภาพรวมที่ขึ้นมา 10% ซึ่งมาจากทั้งราคาเหล็กก่อสร้างที่ปรับขึ้นจากกิโลกรัมละ 22 บาท เพิ่มเป็น 28 บาท รวมถึงคอนกรีตและสินค้าอื่นๆ ที่เป็นการซ้ำเติมภาคอสังหาฯ จากก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้ต้นทุนด้านแรงงานสูงขึ้นไปก่อนแล้ว จึงทำให้ผู้ประกอบการอาจต้องมีการทยอยปรับขึ้นราคาที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับเสนาที่อาจจะปรับราคาขาย 0-10% มากน้อยขึ้นอยู่กับโครงการและทำเลที่ตั้ง ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างการขายรวมทั้งสิ้น 90 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 52,617 ล้านบาท โดยในปี 2565 มีโครงการใหม่ 49 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 27,480 ล้านบาท แบ่งเป็นแนวสูง 21 โครงการ และแนวราบ 28 โครงการ ส่วนหนึ่งเกิดจากการควบรวมกิจการ บมจ.เจ.เอส.พี พร็อพเพอร์ตี้ (JSP) ในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่โครงการคอนโดมิเนียมที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่าล้านบาท ส่วนใหญ่จะอยู่ภายใต้แบรนด์เสนาคิทท์ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดีจากกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากคู่แข่งขันในตลาดน้อย และมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนโดยเฉพาะพนักงานบริษัท ปัจจุบันบริษัทฯ มีประมาณ 10 โครงการ กระจายอยู่ในพื้นกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ใกล้เคียงกับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ บางชัน, ลาดกระบัง, บางกระดี และนวนคร เป็นต้น
"ภาพรวมอสังหาฯ ตลาดยังพอไปได้ แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าใครจะปรับตัวในการควบคุมต้นทุนการก่อสร้างและปรับตัวให้เข้ากับธุรกิจของตัวเองให้มากที่สุดได้มากกว่า หากใครทำบริหารจัดการส่วนนี้ได้มากก็จะทำให้มีความได้เปรียบ และนอกเหนือจากต้นทุนที่สูงสิ่งที่ต้องติดตามก็คือแนวโน้มดอกเบี้ยที่อาจจะเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งขณะนี้การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินต่างๆ ก็เข้มงวดมากอยู่แล้วจะเห็นได้จากลูกค้าถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อกว่า 40-50% จากจำนวนผู้ขอสินเชื่อ 100% เพราะมีหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเสนาฯ จึงได้จัดตั้ง บริษัท Power Cash ธุรกิจบริการสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อซื้อบ้านและคอนโดมิเนียม เพื่อให้ลูกค้าทุกคนสามารถมีที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น" นางเกษรา กล่าว