ACOM เตรียมความพร้อมเสนอขาย IPO ระดมทุนขยายธุรกิจหลัง ก.ล.ต.อนุมัติไฟลิ่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 17, 2022 10:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ACOM เตรียมความพร้อมเสนอขาย IPO ระดมทุนขยายธุรกิจหลัง ก.ล.ต.อนุมัติไฟลิ่ง

นายธนิก ธราวิศิษฏ์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking and Capital Markets ธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ของบมจ.เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป (ACOM) เปิดเผยว่า ACOM อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ตลอดจนพิจารณากำหนดช่วงราคาและระยะเวลาที่จะเสนอขายหุ้น IPO หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุมัติแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์แล้ว

ทั้งนี้ ACOM จะเสนอขายหุ้น IPO รวมไม่เกิน 1,599,642,100 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 35% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 685,560,900 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1.00 บาท คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 15.0 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ และ 2) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป ลิมิเต็ด จำนวนไม่เกิน 914,081,200 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 20% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้

บริษัทจะนำเงินไปใช้ลงทุนขยายธุรกิจและเข้าซื้อกิจการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อขยายขอบเขตทางภูมิศาสตร์สู่ตลาดใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถในการได้มาซึ่งผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจร ใช้เป็นเงินทุนพัฒนาแพลตฟอร์ม EcommerceIQ และเทคโนโลยีด้านอื่นๆ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ EcommerceIQ SaaS และเป็นเงินทุนหมุนเวียนทั่วไป

นายวีระพงษ์ (พอล) ศรีวรกุล ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ACOM เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้นำการให้บริการสนับสนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-commerce Enabler) อย่างครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เมื่อพิจารณาจากเกณฑ์ยอดขายสินค้ารวม (Gross Merchandise Value หรือ GMV) โดยมีมูลค่าเป็น 1.8 เท่าเทียบกับคู่แข่งที่ใกล้เคียงที่สุดและมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 16.5% ในปี 63 ปัจจุบันให้บริการแก่ลูกค้าใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ เพื่อสนับสนุนแบรนด์สินค้าต่างๆ พัฒนาและเพิ่มศักยภาพการจำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซผ่านช่องทางที่หลากหลาย ทั้งเว็บสโตร์ มาร์เก็ตเพลสและโซเชียลมีเดีย

บริษัทฯ ให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจร ครอบคลุมการออกแบบและพัฒนาร้านค้าออนไลน์ (Webstore Development) บริหารร้านค้าให้กับแบรนด์ต่างๆ (Brand Store Operations) ให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์ (E-commerce Strategy Consulting) ให้บริการคลังสินค้าครบวงจร (Warehousing and Fulfillment) รับชำระเงินและจัดส่งสินค้า (Payment and Delivery) วิเคราะห์และให้ข้อมูลเชิงลึก (Data Analytics and Insights) รวมถึงมีศูนย์บริการและดูแลลูกค้า (Customer Care Solutions) เพื่อช่วยเหลือแบรนด์ต่างๆ สื่อสารกับลูกค้า

ขณะเดียวกันบริษัทฯ มุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ทันสมัยโดยใช้เงินลงทุนไปแล้วกว่า 800 ล้านบาท ทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยี EcommerceIQ สำหรับการบริหารการขายสินค้าบนแพลตฟอร์มต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้เชื่อมต่อแพลตฟอร์มดังกล่าวเข้ากับซอฟต์แวร์ช่องทางการเชื่อมต่อ (Application Programing Interfaces หรือ APIs) แล้วกว่า 300 รายการ ไปยังผู้ให้บริการต่างๆ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซ รวมถึงได้พัฒนาซอฟต์แวร์ EcommerceIQ Market Insights และ EcommerceIQ Client Analytics ในรูปแบบ Software as a Service หรือ SaaS เพื่อให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง ช่วยให้แบรนด์สินค้าเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคและคู่แข่ง สามารถกำหนดราคาสินค้าและวางตำแหน่งให้กับแบรนด์ได้อย่างถูกต้อง โดยบริษัทคาดว่าตลอดช่วงปี 65 และ 67 จะสามารถนำเสนอการให้บริการเพิ่มเติมภายใต้ EcommerceIQ SaaS ได้อีก

ณ สิ้นปี 64 บริษัทฯ มีฐานลูกค้าแบรนด์ไทยและแบรนด์ชั้นนำระดับโลกทั้งสิ้นกว่า 168 ราย เพิ่มขึ้นถึง 50 ราย หรือ 42% เทียบกับปีก่อน ในจำนวนนี้เป็นแบรนด์ระดับโลกที่มีมูลค่าสูงสุดถึง 13 แบรนด์ จาก 100 แบรนด์แรกในปี 64 โดยมีสินค้าที่รับบริหารจัดการสินค้ากว่า 39,221 รายการ ขณะที่ยอดขายสินค้าที่บริหารจัดการแบบครบวงจรนับจากปี 62-64 มีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 52% ปัจจัยมาจากการขยายฐานลูกค้ารายใหม่และยอดขายของลูกค้ารายเดิมที่เพิ่มขึ้น โดยเมื่อพิจารณายอดขายของลูกค้ารายเดิมที่เริ่มใช้บริการในปี 59-62 มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 62-64 ที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 35-184% ส่วนยอดขายสินค้าจากต้นทางไปยังปลายทาง (EMV) ของบริษัทฯ ในปี 64 อยู่ที่ 10,149.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 63 ซึ่งอยู่ที่ 8,192.8 ล้านบาท

"บริษัทได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ DKSH เพื่อเป็นพาร์ทเนอร์เพียงรายเดียวสำหรับการให้บริการธุรกิจออนไลน์แบบ B2C ทั้งหมดในประเทศที่บริษัทฯ เข้าไปดำเนินธุรกิจ โดย DKSH ได้โอนและแนะนำแบรนด์สินค้าที่ต้องการขยายธุรกิจออนไลน์แบบ B2C แก่ ACOM ทำให้จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาส 4/2564 และบริษัทฯ ยังวางแผนขยายธุรกิจในเวียดนามเพื่อสนับสนุน DKSH และลูกค้าอย่างต่อเนื่อง" นายวีระพงษ์ กล่าว

บริษัทวางกลยุทธ์ขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนเพื่อขยายขอบเขตทางภูมิศาสตร์สู่ตลาดใหม่ และเพิ่มฐานผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจร ได้แก่ 1) มุ่งพัฒนาความสัมพันธ์ในฐานะพันธมิตรกับกลุ่มผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรระดับโลกของบริษัทฯ เพื่อเพิ่มจำนวนแบรนด์ รายการสินค้าและการให้บริการมากกว่า 1 ประเทศ

2) ลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ เช่น บริการจัดการคำสั่งซื้อที่ซับซ้อน และการเพิ่มขีดความสามารถด้านข้อมูล เป็นต้น เพื่อให้ลูกค้าที่ใช้บริการสามารถสร้างสรรค์แคมเปญที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

3) ขยายฐานผู้ใช้บริการรายใหม่ และกลุ่มสินค้าใหม่ๆ ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

4) มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ EcommerceIQ SaaS ทั้งในด้านฟีเจอร์ ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ และเพิ่มความปลอดภัยในการรักษาข้อมูล เพื่อขยายไปสู่ตลาดที่กว้างขึ้น ทั้งบริษัทข้ามชาติและผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ด้วยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นน้อยมาก

และ 5) การเข้าซื้อกิจการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อขยายตลาดใหม่ เช่น เวียดนามและขยายธุรกิจที่มีในมาเลเซีย เป็นต้น เพื่อรักษาความเป็นผู้นำธุรกิจในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ