นายแพทย์กำพล พลัสสินทร์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินธุรกิจของบริษัทในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 มีรายได้จากการประกอบกิจการโรงพยาบาล อยู่ที่ 3,571.4 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 2,156.6 ล้านบาท หรือ 152% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2564 อยู่ที่ 1,414.8 ล้านบาท และกำไรสุทธิในไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 1,356.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,104.6 ล้านบาท หรือ 439% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2564 อยู่ระดับ 251.78 ล้านบาท
ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากกลุ่มผู้ป่วยทั่วไป มีรายได้อยู่ที่ 1,494.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79% จากไตรมาส 1/2564 แบ่งเป็นรายได้จากกลุ่มผู้ป่วยนอก (OPD) อยู่ที่ 882.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 407.3 ล้านบาท, รายได้จากกลุ่มผู้ป่วยใน (IPD) อยู่ที่ 612.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 252 ล้านบาท โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับโรคโควิด-19 และการให้บริการฉีดวัคซีนทางเลือก รวมถึงการกลับเข้ามาใช้บริการในสถานพยาบาลของผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น, รายได้โครงการประกันสังคม อยู่ที่ 471.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากจำนวนผู้ประกันตนที่เพิ่มขึ้น, ส่วนรายได้จากโครงการภาครัฐอื่นๆ อยู่ที่ 1,605.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,174% ส่วนใหญ่มาจากรายได้ที่เกี่ยวเนื่องกับโรคโควิด-19 ทั้งจากการตรวจคัดกรอง การรักษา ทั้งในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) และการทำ Home Isolation และสุดท้ายที่รายได้อื่นๆ เพิ่มขึ้น 9.7 ล้านบาท จากการรับจ้างบริหารงานให้กับโรงพยาบาลภาครัฐ
"ปี 65 นับเป็นปีที่ 3 ในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการระบาดอย่างหนักของสายพันธุ์โอมิครอนตั้งแต่ช่วงต้นปี ส่งผลให้จำนวนผู้มาใช้บริการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR และ ATK เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งผู้ป่วยติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) ทางกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับภาครัฐในการทำ Home Isolation เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวที่มีอาการไม่รุนแรง ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ คาดว่าในปีนี้จะมีผู้เข้าใช้บริการทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง โดยโรงพยาบาลพร้อมให้บริการที่ครอบคลุมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการให้ได้มากที่สุด และเชื่อว่าจะยังคงเห็นการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องในปี 2565 " นายแพทย์กำพล กล่าว
นายแพทย์กำพล กล่าวอีกว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะมีแนวโน้มดีขึ้น บริษัทฯยังเดินหน้าสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจในปี 65 อย่างต่อเนื่อง โดยยังคงมีเป้าหมายรักษาการเติบโตแบบอนุรักษ์นิยม ด้วยการวางเป้าการเติบโตของรายได้เป็นตัวเลข 2 หลัก เมื่อเทียบกับปี 63 ที่มีรายได้รวมกว่า 5,464 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตจะมาจากธุรกิจบริษัทฯเอง (Organic Growth) อาทิ เช่น การกลับเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นของกลุ่มผู้ป่วยทั่วไป รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยสวัสดิการภาครัฐ กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการรักษา และกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติ เป็นต้น
พร้อมกันนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการให้บริการรักษาโรคยากและซับซ้อนที่ผู้ป่วยต้องเข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที ภายใต้การดำเนินการศูนย์บริการทางการแพทย์ (Excellence Center) ที่มีความพร้อมในด้านเครื่องมือทางการแพทย์และบุคลากรรองรับการให้บริการรับรักษาโรคเฉพาะทาง เช่น ศูนย์โรคหลอดเลือดหัวใจครบวงจร และศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Center) ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงยังเป็นศูนย์กลางในการรับส่งต่อผู้ป่วยหลอดเลือดสมองจากทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ตะวันออกและพื้นที่บริเวณโดยรอบ เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองได้รับการรักษาทันเวลา ลดอัตราการทุพพลภาพและเสียชีวิต รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน บริษัทสานต่อความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อให้บริการทางด้านสาธารณสุขกับประชาชนในพื้นที่ อาทิเช่น การจัดตั้งศูนย์หัวใจครบวงจรขึ้นในโรงพยาบาลรัฐ 3 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์หัวใจโรงพยาบาลสิรินธร กรุงเทพมหานคร, ศูนย์หัวใจโรงพยาบาลสมุทรปราการ และศูนย์หัวใจโรงพยาบาลระยอง ที่พร้อมให้การดูแลอย่างเต็มรูปแบบและครอบคลุมทุกสิทธิ์การรักษา รวมถึงการเข้าไปรับจ้างบริหารโรงพยาบาลเมืองพัทยา และศูนย์แพทย์ชุมชนเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี
สำหรับแผนการขยายธุรกิจ บริษัทวางแผนเปิดให้บริการศูนย์มะเร็งครบวงจรในปีนี้ ภายใต้ชื่อ โรงพยาบาลชีวารัตน์ ซึ่งถือเป็นศูนย์มะเร็งครบวงจรแห่งแรกในจังหวัดสมุทรปราการ รวมถึงการขยายพื้นที่ให้บริการและเพิ่มจำนวนเตียงในในสาขาเดิม เพื่อรองรับผู้รับการบริการที่เพิ่มขึ้นในอนาคต อาทิเช่น โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 304 อินเตอร์และโรงพยาบาลรวมแพทย์ฉะเชิงเทรา
ส่วนการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 บริษัทฯยังคงเดินหน้าให้ความร่วมมือและพร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 และประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความพร้อมในการให้บริการรักษาคนไข้ทั่วไปที่ทยอยกลับมารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ด้วยบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพและมาตรฐานสอดรับกับนโยบายด้านสุขภาพของรัฐบาล ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม (Green Hospital & Zero Waste) ตามแนวทาง "ESG" เพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ มีศักยภาพในการแข่งขัน การสร้างผลตอบแทนในระยะยาว และการเติบโตอย่างยั่งยืน