บมจ. การบินไทย (THAI) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1/65 โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 11,181 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 6,797 ล้านบาท (155%) เนื่องจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเพิ่มขึ้น 6,719 ล้านบาท (255.7%) มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 14,348 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 2,967 ล้านบาท จากปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ขาดทุนจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 3,167 ล้านบาท โดยขาดทุนลดลงจากปีก่อน 3,830 ล้านบาท (54.7%)
บริษัทและบริษัทย่อย มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 3,243 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 8,962 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 3,247 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 1.49 บาท ในขณะที่ในไตรมาส 1/64 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 12,203 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 5.59 บาท
ขณะที่ EBITDA เป็นลบ 354 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 156 ล้านบาท โดย EBITDA Margin เท่ากับ -3.2% เปรียบเทียบกับปีก่อนที่ -11.6%
ณ วันที่ 31 มี.ค.65 บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวม 162,423 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธ.ค.64 จำนวน 1,204 ล้านบาท หนี้สินรวมมีจำนวน 236,909 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,439 ล้านบาท โดยมีส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบ 74,486 ล้านบาท ติดลบเพิ่มขึ้น 3,235 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการขาดทุนจากการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย
ในช่วงไตรมาสที่ 1 ต่อเนื่อง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ของปี 65 ปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ เป็นผลจากการที่รัฐบาลนำมาตรการ Test and Go กลับมาใช้ ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้โดยสารรวมเฉลี่ยของบริษัท และสายการบินไทยสมายล์ในช่วง 10 วันแรกของเดือน พ.ค.65 เปรียบเทียบกับเดือน ต.ค.64 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 10,238 และ 10,870 คนต่อวันจาก 4,929 และ 269 คนต่อวัน สำหรับเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศตามลำดับ ขณะที่ปริมาณการขนส่งสินค้าเฉลี่ยต่อวันของบริษัทฯ กลับไปอยู่ในระดับ 50% ของปี 62 ก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ตั้งแต่ไตรมาส 2/65 เป็นต้นไป การบินไทยและสายการบินไทยสมายล์ปรับเพิ่มความถี่เที่ยวบินไป-กลับในเส้นทางต่างๆ เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารทั่วโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ดังนี้
เส้นทางบินที่ปรับเพิ่มความถี่ในการให้บริการ
- เชนไน (อินเดีย) จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 เม.ย.65
- เบงกาลูรู (อินเดีย) จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 เม.ย.65
- นิว เดลี จาก 7 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 เม.ย.65
- มุมไบ จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 เม.ย.65
- ละฮอร์ (ปากีสถาน) จาก 3 เป็น 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พ.ค.65
- การาจี จาก 2 เป็น 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พ.ค.65
- อิสลามาบัด จาก 2 เป็น 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พ.ค.65
- ฮานอย จาก 7 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พ.ค.65
- โฮจิมินห์ จาก 7 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พ.ค.65
- พนมเปญ จาก 7 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พ.ค.65
- เมลเบิร์น จาก 4 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 17 พ.ค.65
- ลอนดอน จาก 11 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 29 พ.ค.65
- จาการ์ตา จาก 3 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 มิ.ย.65
- ธากา (บังคลาเทศ) จาก 7 เป็น 10 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 มิ.ย.65
- แฟรงก์เฟิร์ต จาก 10 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 25 มิ.ย.65
- ไทเป จาก 4 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 ก.ค.65
- สิงคโปร์ จาก 10 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 ก.ค.65
- โคเปนเฮเกน จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 ก.ค.65
- มิวนิก จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 ก.ค.65
- ซูริก จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 ก.ค.65
เส้นทางบินที่เปิดให้บริการเพิ่มเติม ได้แก่
- ปีนัง 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พ.ค.65
- เวียงจันทน์ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พ.ค.65
- บาหลี (เดนปาซาร์) 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พ.ค.65
เพิ่มเป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 18 มิ.ย.65
- ไฮเดอราบัด วันละ 1 เที่ยวบิน ตั้งแต่ 13 พ.ค.65
- ย่างกุ้ง วันละ 1 เที่ยวบิน ตั้งแต่ 1 มิ.ย.65
- โตเกียว (ฮาเนดะ) วันละ 1 เที่ยวบิน ตั้งแต่ 1 ก.ค.65
- เกาสง (ไต้หวัน) วันละ 1 เที่ยวบิน ตั้งแต่ 1 ก.ค.65
- บรัสเซลส์ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 2 ก.ค.-30 ส.ค.65
นอกจากการปรับเพิ่มความถี่เที่ยวบินและการเปิดให้บริการเส้นทางบินใหม่จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิข้างต้นแล้ว สายการบินไทยสมายล์ยังจะเปิดทำการบินในเส้นจากท่าอากาศยานดอนเมืองไปกลับจังหวัดภูเก็ต จำนวน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.65 เป็นต้นไปอีกด้วย
ในขณะเดียวกัน บริษัทได้ปรับปรุงการบริการเพื่อมอบประสบการณ์ลูกค้าที่เหนือระดับอย่างต่อเนื่อง อาทิ บริการห้องโดยสารชั้นหนึ่งในเที่ยวบิน TG910/911 เส้นทางลอนดอน และ TG600/601 เส้นทางฮ่องกง ด้วยเครื่องบินแบบ Boeing 777-300ER ลำใหม่ ด้วยที่นั่งที่กว้างขวางขึ้น จอภาพที่ใหญ่ขึ้น และระบบสื่อสาระบันเทิงที่ครบครันกว่าพันรายการ
พร้อมรังสรรค์เมนูอาหารนานาชาติที่ผลิตด้วยวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง รสเลิศ พร้อมทั้งรายการเครื่องดื่มที่หลากหลายมากขึ้น จัดเตรียมไว้ต้อนรับผู้โดยสาร อีกทั้งมีการปรับปรุงเมนู และการให้บริการอาหารสำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจ อาทิ เพิ่มอาหารเรียกน้ำย่อย (Amuse-bouche) และเมนูอาหารว่างระหว่างเที่ยวบิน (All Day Dining) โดยนำเมนูสตรีทฟู้ดยอดนิยมของไทย เช่น ผัดไทยเส้นจันท์ และข้าวเหนียวมะม่วง มาให้บริการในเส้นทางยุโรป เป็นต้น