อนึ่ง ANAN แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/65 ขาดทุนสุทธิ 281.26 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.10 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5.54 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.03 บาท
นายประเสริฐ กล่าวว่า ปัจจัยหนุนสำคัญของผลประกอบการไตรมาส 2/65 มาจากการโอนคอนโดมิเนียม 2 โครงการใหม่ที่สร้างเสร็จ มูลค่ากว่า 6 พันล้านบาทที่จะทยอยรับรู้รายได้เข้ามา ประกอบกับ บริษัทยังมีการขายและโอนโครงการในสต็อกเข้ามาต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีสต็อกโครงการพร้อมอยู่รวมกว่า 5.8 หมื่นล้านบาทที่จะทยอยขายและรับรู้รายได้เข้ามา คาดว่าในไตรมาสนี้จะจะรับรู้รายได้จากมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) เข้ามาราว 3.2 พันล้านบาท จาก Backlog ที่มีอยู่กว่า 3 พันล้านบาท
ขณะเดียวกันบริษัทยังมีเป้าหมายที่จะปิดการขาย 6 โครงการให้ได้ภายในปีนี้ มูลค่ากว่า 9.8 พันล้านบาท ได้แก่ อาร์เทล เอกมัย-รามอินทรา มูลค่า 1.53 พันล้านาท, ไอดีโอ สาทร-วงเวียนใหญ่ มูลค่า 2.35 พันล้านบาท, ไอดีโอ รัชดา-สุธิสาร มูลค่า 1.52 พันล้านบาท, ไอดีโอ โมบิ สุขุมวิท 66 มูลค่า 2.15 พันล้านบาท, ยูนิโอ สุขุมวิท เฟส 2 มูลค่า 1.86 พันล้านบาท และ ยูนิโอ ทาวน์ เพชรเกษม 110 มูลค่า 383 ล้านบาท
สำหรับการเปิดโครงการใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้วางแผนไว้ 7 โครงการ มูลค่า 2.9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นคอนโดมิเนียม 5 โครงการ และแนวราบ 2 โครงการ ซึ่งคาดหวังว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า โดยแผนการพัฒนาคอนโดมิเนียมในปีนี้ยังเน้นทำเลตามแนวรถไฟฟ้า แต่ในส่วนของแนวราบจะมีการปรับพอร์ตใหม่ขยายไปสู่กลุ่มบ้าน Luxury ซึ่งจะมีการเปิดโครงการ Pool Villa หรูใจกลางเมืองตอบโจทย์และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ต้องการอยู่อาศัยบ้านไลฟสไตล์การพักผ่อน
"โครงการที่จะเป็นปัจจัยหนุนให้แก่ยอดโอนของบริษัทในไตรมาส 2 คือ โครงการ IDEO จรัญ 70 Riverview ที่มียอดขายแล้วกว่า 80% เริ่มโอนไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.ส่วนในช่วงไตรมาส 3/65 และไตรมาส 4/65 จะมีการโอนโครงการคอนโดใหม่ต่อเนื่อง ทำให้จะเห็นทิศทางของยอดโอนสูงขึ้นในทุกไตรมาส ช่วงไตรมาส 2/65 ตั้งเป้ายอดโอนไว้ที่ 3-3.5 พันล้านบาท และทำให้ผลการดำเนินงานพลิกกลับมามีกำไรได้ และทั้งปี 65 ก็จะพลิกกลับมามีกำไรได้"นายประเสริฐ กล่าว
ด้านกลยุทธ์ของการกระจายการพัฒนาโครงการของบริษัทจะหันมาเพิ่มสัดส่วนกลุ่มสินค้าบ้านแนวราบมากขึ้น ซึ่งตั้งเป้ามีสัดส่วนเพิ่มเป็น 30% ภายในปี 66 จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนโครงการแนวราบที่บริษัทพัฒนาเพียง 15% เพราะบริษัทเล็งเห็นถึงโอกาสของตลาดที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบมากขึ้น ทำให้บริษัทจะเริ่มรุกเข้าใมไปในการพัฒนาโครงการแนวราบในกลุ่ม Luxury และระดับกลาง-บน เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 65 เป็นต้นไป และจะมีการพัฒนาโครงการแนวราบออกมาในทุกๆปี
นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ANAN กล่าวว่า ปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานในปีนี้ที่พลิกมาเป็นบวกได้หลังจากไตรมาสแรกผ่านไปแล้ว ก็จะมีในส่วนของธุรกิจโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ที่จะเข้ามาเสริม หลังจากรัฐบาลเริ่มกลับมาเปิดประเทศ ทำไห้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทยอยเดินทางเข้ามา
โดยธุรกิจโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ทเม้นของบริษัทเป็นธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดและรายได้ประจำ (Recurring Income) ให้กับบริษัท โดยมี 5 โครงการเซอร์วิสอพารท์เม้นท์ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน คือ ซัมเมอร์เซ็ต พระราม 9 ที่เปิดไปในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และจะเปิดตัวต่อเนื่องอีก 4 โครงการ คือ แอสคอทท์ ทองหล่อ บางกอก เปิดในเดือนก.ค. 65, แอสคอทท์ เอ็มบาสซี สาทร ไลฟ์ เปิดให้บริการในเดือน ส.ค. 65, สุขุมวิท 8 บางกอก เปิดให้บริการในเดือน ก.ย. 65 และ ซัมเมอร์เซ็ต พัทยา เปิดให้บริการในเดือน ต.ค.65
ทั้งนี้ สถานการณ์ภาพรวมของประเทศไทยเริ่มมีแนวโน้มในทิศทางดีขึ้นจากการเปิดเมืองมากขึ้น เห็นได้จากนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น ยอดการจองห้องพักโรงแรมเพิ่มขึ้น รถติดมากขึ้น รวมถึงการปลดล็อกระบบ "Test & Go" ทั้งหมดส่งผลให้ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตคล้ายปกติได้แล้ว และที่สำคัญเป็นการกลับมาในวิถีชีวิตคนเมือง
แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยในเรื่องการปรับขึ้นของราคาที่ดิน ราคาน้ำมัน และการก่อสร้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องเตรียมความพร้อมรับมือ และในส่วนของบริษัท มองว่า การเปิดเมืองเป็นโอกาสที่ดี เพราะบริษัทเป็นผู้นำตลาดคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้าที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และเข้าใจลูกค้าคนเมืองทั้งตลาดคอนโดและแนวราบในเมืองได้เป็นอย่างดี
บริษัทได้ทำการศึกษาและนำผลข้อมูลเชิงลึกของผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยมาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการ เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตในทุกมิติของผู้อยู่อาศัย และยังมีสินค้าที่ดีมีคุณภาพพร้อมอยู่ พร้อมส่งมอบในราคาต้นทุนเดิมนำเสนอให้กับลูกค้าได้เลือกสรรมากมาย และยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพคอนโดติดรถไฟฟ้าที่ยังเป็นสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในการใช้ชีวิตคนเมืองได้เป็นอย่างดี
"เรามั่นใจว่าความเชื่อมั่นของลูกค้าดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดีมานด์คอนโดฯในเมือง ยังไม่หายและกำลังจะกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากการใช้ชีวิตในเมืองยังคงเป็นความจำเป็น มีความสำคัญสำหรับกลุ่มคนในวัยทำงาน กลุ่มคนที่กำลังศึกษาเล่าเรียน กลุ่มครอบครัว ตลอดจนกลุ่มระดับลักชัวรี่ในเมือง กลุ่มคนเหล่านี้ยังต้องการที่อยู่อาศัยที่มีความสะดวกสบายในการเดินทาง รวมถึงแวดล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า ยังเป็นคำตอบที่พร้อมตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เป็นคนเมืองได้อย่างตรงจุด และชัดเจน" นายชานนท์ กล่าว