ทริสฯ ประกาศเครดิตพิจ TRUE แนวโน้ม Positive ตอบรับแผนควบรวมกิจการ DTAC

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 24, 2022 17:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งประกาศ "เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Positive" หรือ "บวก" สำหรับอันดับเครดิตองค์กร รวมทั้งอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันและหุ้นกู้ที่มีการค้ำประกันบางส่วนของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) โดยปัจจุบันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทอยู่ที่ระดับ "BBB+" ส่วนอันดับเครดิตหุ้นกู้ที่มีการค้ำประกันบางส่วนอยู่ที่ระดับ "A-"

การประกาศ "เครดิตพินิจ" ดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากความคืบหน้าของแผนการควบรวมกิจการระหว่างบริษัทและ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และประโยชน์ที่คาดว่าน่าจะเกิดจากความแข็งแกร่งทั้งในด้านธุรกิจและสถานะทางการเงินที่มีมากยิ่งขึ้นของบริษัทใหม่ซึ่งเกิดจากการควบรวม (NEWCO)

ทั้งนี้ ทั้งบริษัทและ DTAC เพิ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นของแต่ละบริษัทในการควบรวมกิจการดังกล่าว โดยขณะนี้การควบรวมอยู่ระหว่างรอการอนุมัติด้านกฎระเบียบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงเงื่อนไขอื่นๆ เพื่อการดำเนินการควบรวมให้แล้วเสร็จ ในการนี้ เมื่อการควบรวมแล้วเสร็จ หนี้ทั้งหมดของบริษัทซึ่งรวมถึงหุ้นกู้ที่จัดอันดับโดยทริสเรทติ้งจะถูกโอนไปยัง NEWCO

ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าบริษัทใหม่ที่จะเกิดจากการควบรวมในครั้งนี้จะมีสถานะเครดิตที่แข็งแกร่งกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสถานะเครดิตของบริษัท โดยคาดว่าการควบรวมจะทำให้เกิดการผสานพลังทางธุรกิจ รวมทั้งการขยายขนาดของธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุน

ในขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาในเชิงตัวเลขแล้ว การควบรวมกิจการจะทำให้ NEWCO ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดในด้านรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ อีกทั้ง สถานะทางการเงินของ NEWCO น่าจะแข็งแกร่งกว่าสถานะทางการเงินของบริษัทในปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ

โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ NEWCO หลังจากการควบรวมแล้วจะอยู่ที่ระดับ 5-5.5 เท่าซึ่งต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราส่วนของบริษัทซึ่งอยู่ที่ระดับประมาณ 7 เท่า

ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าความท้าทายในการได้รับการอนุมัติด้านกฎระเบียบจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นั้นถือว่าเป็นความเสี่ยงสำคัญสำหรับการควบรวมกิจการดังกล่าวและมีความเป็นไปได้ว่ากำหนดเวลาในการควบรวมกิจการให้แล้วเสร็จนั้นอาจมีการขยายออกไป

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งจะทบทวน "เครดิตพินิจ" ของบริษัทอีกครั้งเมื่อธุรกรรมดังกล่าวเสร็จสิ้นและทริสเรทติ้งได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบที่จะมีต่อสถานะเครดิตของบริษัทจากการทำธุรกรรมดังกล่าวอย่างถี่ถ้วนแล้ว ซึ่งบริษัททั้ง 2 แห่งคาดว่าการควบรวมจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ในการนี้ ทริสเรทติ้งจะติดตามความคืบหน้าในการควบรวมกิจการอย่างใกล้ชิดและจะดำเนินการทบทวนอันดับเครดิตตามความเหมาะสมต่อไป

อันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ของบริษัทยังคงสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้นำในการให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจรในประเทศไทยที่มีสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งทั้งในธุรกิจการให้บริการสื่อสารแบบไร้สายและธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงต่อไป อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่น่าพอใจของบริษัทและความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือกลุ่มซีพีและพันธมิตรเชิงกลยุทธ์คือ China Mobile International Holdings Ltd. (China Mobile) อีกด้วย ในทางกลับกัน อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนจากภาระหนี้สินในระดับสูงและการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอีกด้วยเช่นกัน

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • มีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อ อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะที่เป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจรของไทย โดยบริษัทดำเนินธุรกิจในหลากหลายแพลตฟอร์มซึ่งประกอบด้วยธุรกิจให้บริการสื่อสารแบบไร้สาย ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก (Pay TV) และธุรกิจให้บริการด้านดิจิทัล

บริษัทยังคงมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ทั้งนี้ รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทในปี 2564 เติบโต 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยมาอยู่ที่ 1.47 แสนล้านบาท และเพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่จำนวน 3.62 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 โดยได้รับแรงหนุนจากธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีการเติบโตที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม รายได้จากการให้บริการซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (Interconnection Charge -- IC) ในปี 2564 ลดลง 0.9% มาอยู่ที่ 1.06 แสนล้านบาทจากผลของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงซึ่งส่งผลกระทบต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบเติมเงินและธุรกิจ Pay TV ทั้งนี้ รายได้จากการให้บริการของบริษัทในไตรมาสแรกของปี 2565 ลดลง 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

  • เป็นผู้ให้บริการสื่อสารแบบไร้สายรายใหญ่อันดับ 2 บริษัทมีสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับ 2 ในอุตสาหกรรมทั้งในด้านจำนวนลูกค้าและรายได้ ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีลูกค้าทั้งสิ้นจำนวน 32.6 ล้านรายหรือคิดเป็นสัดส่วน 33.6% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมดในอุตสาหกรรม ในขณะที่รายได้จากการให้บริการที่ไม่รวม IC ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 7.98 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และอยู่ที่ระดับ 1.97 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านของรายได้ที่ระดับประมาณ 32%

บริษัทยังคงขยายโครงข่าย 5G และ 4G (5th and 4th Generation) อย่างต่อเนื่องไปพร้อม ๆ กับนำเสนอเนื้อหาดิจิทัลและประสบการณ์ด้านดิจิทัลแบบพิเศษแก่ลูกค้าเพื่อที่จะรักษาฐานลูกค้าและเสริมสถานะทางการตลาดของบริษัทให้มีความแข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทในอนาคตจะค่อยๆ ฟื้นตัวโดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ด้านบริการข้อมูลที่เพิ่มขึ้นตลอดจนการที่ลูกค้าเปลี่ยนจากการใช้งานระบบเติมเงินไปสู่ระบบรายเดือน ทั้งนี้ รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้ (Average Revenue per User -- ARPU) ของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่น่าจะฟื้นตัวในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเมื่อมีการเปิดประเทศอีกครั้งเพื่อรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมา

  • การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ อุตสาหกรรมการสื่อสารแบบไร้สายของไทยต้องเผชิญกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดใหญ่ที่ยืดเยื้อส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดต่ำลงอีกทั้งการแข่งขันก็ทวีความรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้าในระบบเติมเงิน

ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างก็พยายามนำเสนอบริการใหม่ ๆ และการส่งเสริมการตลาดที่น่าสนใจเพื่อแย่งชิงลูกค้าจากคู่แข่ง แม้ว่าจำนวนลูกค้าโดยรวมของทั้งอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวในปี 2564 แต่ ARPU ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้มูลค่ารวมของตลาดลดลง 1.3% มาอยู่ที่ 2.53 แสนล้านบาทเมื่อเทียบกับการเติบโตเฉลี่ยที่ระดับ 2% ต่อปีในช่วงปี 2561-2562 ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2565 มูลค่าตลาดยังคงหดตัวที่ระดับ 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

  • เป็นผู้นำในตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง บริษัทยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดในธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยส่วนแบ่ง 35.6% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 ในช่วงที่มีการปิดเมือง (Lockdown) จากผลของการแพร่ระบาดใหญ่ ธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตของครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากคนจำนวนมากทำงานจากบ้าน รวมทั้งเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ และชมรายการความบันเทิงที่บ้านมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ARPU ของบริษัทก็ได้รับแรงกดดันจากการส่งเสริมการขายของคู่แข่งในบางพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง โดยในปี 2564 รายได้จากธุรกิจนี้มีมูลค่ารวม 2.52 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปี 2563 แม้จะมีแรงกดดันในด้านลบต่อ ARPU แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะยังรักษาระดับการเติบโตในธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในช่วงปี 2565-2567 เอาไว้ได้
  • ธุรกิจ Pay TV เผชิญกับความท้าทาย ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจ Pay TV ของบริษัทจะยังคงเผชิญกับความท้าทายจากจำนวนสมาชิกที่ลดลงรวมถึงการเปลี่ยนไปสู่การชมรายการผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ "Over-the-Top" (OTT) มากยิ่งขึ้น โดยในปี 2564 รายได้ของบริษัทจากธุรกิจ Pay TV หลังจากหักรายการระหว่างกันแล้วลดลง 11% มาอยู่ที่ 7.35 พันล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วงปี 2565-2567 ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจ Pay TV กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว โดยคาดว่ารายได้จากความบันเทิงและโฆษณาจะค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมาพร้อม ๆ กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม รายได้จากบริการ Pay TV โดยรวมมีแนวโน้มที่จะยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดต่อไปเนื่องจากพฤติกรรมการรับชมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง
  • การเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุนจะส่งผลดีต่อผลกำไร บริษัทได้มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการต้นทุนและการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานซึ่งส่งผลในด้านบวกต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท โดยในปี 2564 EBITDA ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 6.23 หมื่นล้านบาทจาก 5.68 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และมีอัตรา EBITDA ต่อรายได้รวม (EBITDA Margin) เพิ่มขึ้นเป็น 42.3% จาก 40.6% นอกจากนี้ EBITDA ในไตรมาสแรกของปี 2565 ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยมาอยู่ที่ 1.53 หมื่นล้านบาท

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาระดับการเติบโตในธุรกิจหลัก ๆ เอาไว้ได้ ทั้งนี้ ในประมาณการ ทริสเรทติ้งพิจารณาธุรกิจของบริษัทให้เป็นไปตามปกติโดยไม่ได้รวมแผนการควบรวมไว้ด้วย โดยคาดว่ารายได้รวมของบริษัทจะอยู่ในช่วง 1.48-1.52 แสนล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567 ในการนี้ บริษัทมุ่งเน้นให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน การทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดระบบดิจิทัล และการใช้มาตรการควบคุมต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 6.1-6.5 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยจะมี EBITDA Margin ที่ระดับ 41%-43% ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทนั้นคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วง 4.2-4.3 หมื่นล้านบาทต่อปี

  • งบการเงินที่มีภาระหนี้สินอยู่ในระดับสูง อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดที่สำคัญจากการมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง โดย ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีหนี้ที่ปรับปรุงสุทธิอยู่ที่จำนวนประมาณ 4.1 แสนล้านบาท เนื่องจากบริษัทมี EBITDA ที่แข็งแกร่งขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจึงทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 6.5 เท่า ณ เดือนมีนาคม 2565 จากระดับ 7-8 เท่าในช่วงปี 2562-2563 ในขณะที่มีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ที่ระดับ 10.4% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ระดับ 83.6%

ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อพิจารณาจากความต้องการใช้เงินลงทุนสำหรับขยายโครงข่ายและภาระในการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ตามกำหนด ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนสำหรับการขยายโครงข่ายจำนวน 3.8-4 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567 และมีภาระในการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่อีกปีละประมาณ 9.4 พันล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้ทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทว่าจะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 6.5-7 เท่าและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะอยู่ที่ระดับประมาณ 10%

ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินทั้งหมดที่ระดับประมาณ 40%

  • มีความจำเป็นจะต้องกู้เงินใหม่เพื่อนำมาชำระคืนหนี้เงินกู้เดิม ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะตึงตัวแต่ก็อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 2.63 หมื่นล้านบาท ในขณะที่มีหุ้นกู้และเงินกู้จากธนาคารที่จะครบกำหนดชำระในช่วงเวลา 12 เดือนข้างหน้าจำนวนประมาณ 5.98 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีภาระหนี้สินตามสัญญาเช่าในส่วนที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปีอีกจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาทอีกด้วย เมื่อพิจารณาความต้องการใช้เงินทุนในการขยายโครงข่ายและเงินทุนจากการดำเนินงานแล้ว ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทมีความจำเป็นจะต้องกู้เงินใหม่เพื่อนำมาชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมส่วนใหญ่ที่จะครบกำหนด ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งและผลการดำเนินงานที่น่าพอใจของบริษัทแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงในการกู้เงินใหม่เพื่อนำมาชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมได้
  • สถานะเครดิตของผู้ค้ำประกัน ทริสเรทติ้งประเมินอันดับเครดิตหุ้นกู้ที่มีการค้ำประกันบางส่วนของบริษัท โดยพิจารณาจากสถานะเครดิตของทั้งผู้ออกตราสารและผู้ค้ำประกัน คือธนาคารกสิกรไทย ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ "AA+" และแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" จากทริสเรทติ้ง โดยธนาคารกสิกรไทยค้ำประกันหุ้นกู้ในสัดส่วน 45% ของเงินต้นคงเหลือและดอกเบี้ยค้างชำระของหุ้นกู้

อันดับเครดิตองค์กรของธนาคารกสิกรไทยอยู่ที่ระดับ "AA+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" โดยในการพิจารณาอับดับเครดิตของธนาคารกสิกรไทยนั้น ทริสเรทติ้งใช้ข้อมูลสาธารณะซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่าเป็นข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการประเมินสถานะเครดิตของธนาคาร

ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดอันดับเครดิตดังกล่าวแต่อย่างใด อันดับเครดิตองค์กรของธนาคารกสิกรไทยสะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของธนาคารจากการเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากมูลค่าสินทรัพย์ ตลอดจนพอร์ตเงินให้กู้ยืมที่มีความหลากหลาย สถานะเงินทุนที่แข็งแกร่ง และความสามารถในการทำกำไรที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย

นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของธนาคารทั้งในด้านแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนลงจากการที่ธนาคารมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงจากการมีลูกค้าอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นจำนวนมากซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับลูกค้าเงินกู้ในกลุ่มอื่น ๆ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบัน

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

  • รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของบริษัทจะเติบโตเล็กน้อยในช่วงปี 2565-2567 ในขณะที่รายได้จากธุรกิจ Pay TV จะยังคงได้รับแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค
  • EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 41%-43% ในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า
  • เงินลงทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.8-4 หมื่นล้านบาทต่อปีเพื่อใช้ขยายโครงข่ายการให้บริการในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า
  • ภาระในการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ตามกำหนดจะอยู่ที่ประมาณ 9.4 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ