ทริส จัดอันดับเครดิตองค์กร MK ที่ระดับ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 20, 2008 08:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. มั่นคงเคหะการ  หรือ MK ที่ระดับ “BBB" พร้อมแนวน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนผลงานที่ยาวนานของบริษัทในตลาดที่อยู่อาศัยระดับปานกลางถึงล่าง ความสามารถในการควบคุมต้นทุน และฐานะทางการเงินที่ดี 
นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงอุปสงค์ที่ชะลอตัวในตลาดบ้านจัดสรร และลักษณะของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทมั่นคงเคหะการจะสามารถดำรงสถานะในตลาดที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรรเอาไว้ได้ด้วยโครงสร้างการเงินและความสามารถในการบริหารต้นทุนที่ดี
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทมั่นคงเคหะการเป็นผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดกลางที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2516 โดยนายชวน ตั้งมติธรรม และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2533 กลุ่มตระกูลตั้งมติธรรมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจ และมีสัดส่วนการถือหุ้น ณ เดือนเมษายน 2550 จำนวน 28% บริษัทเน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรรแนวราบในระดับราคาเฉลี่ยหลังละประมาณ 3.4 ล้านบาท
ยอดขายของบริษัทในระหว่างปี 2546-2550 มาจากบ้านเดี่ยวมากกว่า 60% ในขณะที่ยอดขายบ้านแฝดที่ผ่านมาจนถึงปี 2549 มีสัดส่วนที่น้อยมาก และต่อมาเพิ่มขึ้นเป็น 33% ของยอดขายรวมในปี 2550 ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากความสามารถในการบริหารต้นทุนก่อสร้างและสามารถรักษาอัตรากำไรในระดับที่ดี
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในปี 2550 บริษัทมั่นคงเคหะการมีผลการดำเนินงานน่าพอใจ แม้ว่าอุปสงค์ในตลาดบ้านจัดสรรจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง แต่รายได้ของบริษัทสำหรับปี 2550 ยังเพิ่มขึ้น 3% เป็น 1,986 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงจากค่าเฉลี่ยรายไตรมาสที่ระดับ 179 ล้านบาทในปี 2548 และ 79 ล้านบาทในปี 2549 เป็น 39 ล้านบาทในปี 2550 เนื่องจากบริษัทมีการให้ส่วนลดเพิ่มเติมในปี 2550 เพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงที่ตลาดบ้านจัดสรรชะลอตัว
บริษัทมีฐานะทางการเงินอยู่ในระดับปานกลาง แม้ว่าความสามารถในการทำกำไรโดยรวมจะลดลง แต่อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทที่ระดับ 38% ในปี 2550 นั้นยังคงสูงกว่าอัตรากำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ที่ระดับ 30%-35% บริษัทยังคงมีความคล่องตัวในการจัดหาแหล่งเงินทุนจากการมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนในระดับไม่สูงที่ 27.39% และวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีก 1,392 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550
ภาวะอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัยขึ้นอยู่กับแนวโน้มโดยรวมของภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยน่าจะมีอัตราการเติบโตในระดับปานกลางที่ 4.5%-5.5% ในปี 2551 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลซึ่งรวมถึงการลดอัตราภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านและผู้ประกอบการคาดว่าจะช่วยบรรเทาภาวะชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และกระตุ้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ