ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"
ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้มีการค้ำประกันภายใต้โครงการ Medium-term Note (MTN) ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนภายใน 5 ปี ในวงเงินไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "BBB+" ด้วยเช่นกัน โดยหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการค้ำประกันแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้โดย บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด (S2014) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลักของ SAWAD
โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปใช้ชำระคืนหนี้และขยายพอร์ตสินเชื่ออันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นประกัน (Title Loan) ตลอดจนฐานเงินทุน ความสามารถในการก่อหนี้ และการทำกำไรที่แข็งแกร่ง รวมถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายและสภาพคล่องที่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากการแข่งขันที่รุนแรง ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบาง และการที่บริษัทมีสินเชื่อที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันซึ่งมีความเสี่ยงสูงอยู่ในสัดส่วนจำนวนมาก
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
- จะยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่มั่นคงอย่างต่อเนื่อง บริษัทยังคงรักษาสถานะที่แข็งแกร่งในการเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นประกันรายใหญ่ ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทจะยังคงดำเนินต่อไปได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าแม้ว่าการเติบโตของสินเชื่อในปี 2564 มีการชะลอตัวลงจากผลกระทบด้านลบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) และจากการที่บริษัทมีการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวด โดยบริษัทมีสินเชื่อคงค้างที่กลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ระดับ 8% ในไตรมาสแรกของปี 2565 จากสิ้นปีก่อนหน้า
ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันซึ่งดำเนินงานโดย บริษัท ศรีสวัสดิ์แคปปิตอล จำกัด (SCAP) จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักในการขยายสินเชื่อของกลุ่มในอนาคต ในขณะที่ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นประกันซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ S2014 ก็มีแนวโน้มที่จะรักษาตำแหน่งทางการตลาดของตนเอาไว้ได้โดยผ่านการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เครือข่ายสาขาของ S2014 ขยายมาอยู่ที่จำนวน 4,954 สาขา ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 จากจำนวน 4,800 สาขา ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564
- การปรับโครงสร้างกลุ่มไม่มีผลกระทบต่ออันดับเครดิต ในเดือนพฤษภาคม 2565 บริษัทได้ประกาศแผนปรับโครงสร้างกลุ่มโดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีการจัดโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งให้มีนโยบายทางธุรกิจของกลุ่มที่มีความยืดหยุ่น และมีการบริหารงานแบบรวมศูนย์
ทั้งนี้ แผนการปรับโครงสร้างจะมีการรวม SCAP ซึ่งปัจจุบันบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 65% กับ บง.ศรีสวัสดิ์ (BFIT) ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 81.64% โดยผ่านการแลกเปลี่ยนหุ้น โดยที่ BFIT จะออกหุ้นใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ SCAP เพื่อให้ได้มาซึ่งการถือหุ้นทั้งหมดใน SCAP ที่มูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาท
การแลกหุ้นจะส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทใน BFIT ลดลงเหลือ 72.05% อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทจะยังคงมีอำนาจควบคุมส่วนใหญ่ใน BFIT ทริสเรทติ้งจึงเห็นว่า BFIT จะยังคงเป็นหน่วยงานหลักของกลุ่มศรีสวัสดิ์ (SAWAD Group) อยู่ต่อไปซึ่งหมายความว่าแผนการปรับโครงสร้างจะไม่มีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ BFIT
BFIT จะคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุนให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.ศรีสวัสดิ์แคปปิตอล 1969 (SCAP 1969) และหลังจากการโอนธุรกิจทั้งหมดของ SCAP ไปยัง BFIT ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 แล้ว SCAP 1969 จะเข้ามาครอบครองธุรกิจทั้งหมดของ SCAP รวมทั้งจะทำการจดทะเบียนเลิกกิจการของ SCAP และจะดำเนินการลดพอร์ตสินเชื่อที่มีที่ดินและทะเบียนรถยนต์เป็นประกันที่ยังมีคงค้างอยู่ของ BFIT ต่อไป
- ฐานเงินทุนและความสามารถในการสร้างผลกำไรมีความแข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งคาดว่าฐานทุนและสถานะในการก่อหนี้ที่แข็งแกร่งของบริษัทน่าจะยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนสถานะเครดิตของบริษัทต่อไปแม้ BFIT (หรือ SCAP1969) จะมีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจที่สูงมากในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกองทุนที่ปรับความเสี่ยง (Risk-adjusted Capital) ของบริษัทจะลดลงเหลือประมาณ 40% จาก 47% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 แต่จะยังถือว่าเป็นอัตราส่วนที่อยู่ในระดับสูงที่สุดรายหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่จัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง สำหรับความสามารถในการสร้างผลกำไรที่มั่นคงของบริษัทนั้น น่าจะช่วยเสริมฐานเงินทุนของบริษัทที่ดีอยู่แล้วให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นได้ในระยะปานกลาง
ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการสร้างผลกำไรที่เพียงพอของบริษัทจะได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงซึ่งน่าจะช่วยชดเชยอัตราผลตอบแทนที่ลดลงของสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นประกันอันเนื่องมาจากการแข่งขันได้บางส่วน ในขณะที่การขยายตัวของค่าธรรมเนียมจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยนั้นมีแนวโน้มที่จะทำให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยของบริษัทมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ค่าใช้จ่ายโดยรวมจะยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมจากการที่บริษัทนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เข้ามาใช้และประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทที่ดีขึ้น โดยคาดว่าความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์ที่ปรับความเสี่ยงรวมถัวเฉลี่ยจะยังคงแข็งแกร่งโดยอยู่ที่ระดับประมาณ 9%-10% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
- สถานะความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลาง ทริสเรทติ้งคาดว่าคุณภาพสินทรัพย์และผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่อาจเกิดขึ้นของบริษัทจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าแม้ว่าบริษัทจะนำนโยบายเชิงรุกในการพิจารณาสินเชื่อกลับมาใช้อีกครั้ง เช่น การปรับระดับสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan-to-value -- LTV) กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโรคโควิด 19 ที่สูงกว่า 50% ส่วนกลยุทธ์ในการเร่งรัดติดตามหนี้และยึดทรัพย์รวมถึงผลประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของบริษัทนั้นก็น่าจะช่วยสนับสนุนคุณภาพสินทรัพย์โดยรวมของบริษัทได้ในระยะปานกลาง
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตหรือสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loan ? NPL) ของบริษัทมีอัตราส่วนอยู่ที่ระดับ 3.3% ของสินเชื่อรวม โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายหลังการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้แต่น่าจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 4% ในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ บริษัทยังคงมีอัตราค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPL Coverage Ratio) อยู่ในระดับต่ำที่ 48.7% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 แต่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นปานกลางเนื่องจากทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเพิ่มการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่าด้านเครดิตให้มากขึ้นตามการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่า NPL Coverage Ratio ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของบริษัทคู่แข่งซึ่งอยู่ที่ระดับ 110%-310% อย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากนโยบายการตั้งสำรองของบริษัทที่มีความเข้มงวดน้อยกว่า
- สถานะเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ ฐานทุนขนาดใหญ่ของบริษัทและแหล่งเงินทุนที่หลากหลายจากความสามารถในการเข้าถึงตลาดเงินและตลาดตราสารหนี้ยังคงเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการประเมินฐานเงินทุนที่เพียงพอและเสริมความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 อัตราส่วนแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพ (Stable Funding Ratio -- SFR) ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 172.3% แม้จะลดลงจากระดับ 305.2% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 เนื่องจากการลดลงของทั้งเงินรับฝากที่ BFIT และการออกหุ้นกู้ระยะยาว สำหรับสถานะสภาพคล่องของบริษัทนั้นได้รับการประเมินว่ามีเพียงพอโดยมีวงเงินสินเชื่อจำนวน 1.3 หมื่นล้านบาทจากสถาบันการเงินต่างๆ โดย 60% ของวงเงินดังกล่าวยังสามารถเบิกใช้ได้
- สินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์เพิ่มความเสี่ยงให้แก่สถานะเครดิตของบริษัท การขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญของการปล่อยสินเชื่อที่ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันอาจสร้างแรงกดดันต่อสถานะความเสี่ยงด้านเครดิตของบริษัท ถึงแม้ว่าการปรับลดอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันของบริษัทจะช่วยจำกัดผลขาดทุนทางด้านเครดิตลงได้ แต่การยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดสินทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้นั้นมักใช้เวลานานและอาจนำไปสู่ความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่องที่เพิ่มสูงขึ้นได้ อีกทั้งขนาดของสินเชื่อที่ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่นั้นยังอาจทำให้เกิดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของเครดิตได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีสินเชื่อที่ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันคิดเป็นสัดส่วน 41% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดของบริษัท ลดลงจากระดับ 48% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 อันเนื่องมาจากการหดตัวของสินเชื่อที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันและการขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ หากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไป สัดส่วนของสินเชื่อที่ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันจะค่อยๆ ลดลงซึ่งจะช่วยบรรเทาแรงกดดันที่มีต่อสถานะความเสี่ยงด้านเครดิตของบริษัทลงได้
- การแข่งขันด้านการปล่อยสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นประกันยังคงกดดันรายได้ต่อไป ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง วิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลางรวมทั้งภาคครัวเรือนยังคงมีความต้องการสภาพคล่องสำหรับธุรกิจและการบริโภคอยู่ สิ่งดังกล่าวได้นำไปสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นประกัน โดยในปี 2564 อัตราการเติบโตเฉลี่ยของสินเชื่อคงค้างของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุด 3 รายอยู่ที่ระดับ 14% ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงในมุมมองของทริสเรทติ้ง การแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยและอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันที่สูงยังคงเป็นกลยุทธ์หลักในการดึงดูดลูกค้าเนื่องจากการแข่งขันเริ่มมีความรุนแรงขึ้นจากทั้งเป้าหมายการเติบโตเชิงรุกของผู้ประกอบการเดิมและจากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ รายใหม่
เมื่อการแข่งขันทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น อัตราผลตอบแทนของสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นประกันก็มีแนวโน้มที่จะลดลง ผู้ประกอบการจึงปรับตัวโดยการริเริ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและประกันวินาศภัย หรือสินเชื่อ"ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง" หรือ "Buy Now Pay Later" (BNPL) สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างกระแสรายได้แหล่งใหม่ ๆ สำหรับชดเชยผลตอบแทนที่ลดลงในธุรกิจหลัก
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานบริษัทในระหว่างปี 2565-2567 มีดังนี้
- ยอดสินเชื่อคงค้างจะเติบโตที่ระดับ 10%-15%
- ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 16%
- อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตจะคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 4%
- อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 45%-55%
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะทางธุรกิจและผลการดำเนินงานทางการเงินให้อยู่ในระดับแข็งแกร่งต่อไปได้ในขณะที่คุณภาพสินทรัพย์จะยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้และฐานเงินทุนจะยังคงแข็งแกร่ง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่องในขณะที่บริษัทยังคงรักษาสถานะทางธุรกิจเอาไว้ได้โดยสัดส่วนของสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันไม่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอ่อนตัวลงอย่างมีนัยสำคัญจนส่งผลทำให้อัตราส่วนต้นทุนทางด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวมเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 3% หรือสถานะเงินทุน ความสามารถในการก่อหนี้ และความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างชัดเจนโดยอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 25% อย่างต่อเนื่อง