บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ที่ระดับ "A" รวมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน (MINT18PA) ของบริษัทที่ระดับ "BBB+" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่เข้มแข็งของบริษัทจากการมีแบรนด์สินค้าที่แข็งแกร่งและทำเลที่ตั้งของธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารที่ครอบคลุม ตลอดจนภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงแต่กำลังลดลงของบริษัท
ทริสเรทติ้ง ปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น "Stable" หรือ "คงที่" จาก "Negative" หรือ "ลบ" ซึ่งสะท้อนถึงการคลายความกังวลจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) และความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งในหลายไตรมาสข้างหน้าแม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ก็ตาม ทั้งนี้ การยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางอันเนื่องมาจากโรคระบาดและการค่อย ๆ กลับคืนสู่ภาวะปกติทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การดำเนินธุรกิจกลับมาฟื้นตัวได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถฟื้นสถานะเครดิตได้อย่างมั่นคงโดยมีอัตราส่วนหนี้ทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ปรับปรุงแล้วลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 7 เท่าภายในปี 66
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
- อุปสงค์ห้องพักโรงแรมที่แข็งแกร่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของธุรกิจ
ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจโรงแรมของบริษัทจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องจากอุปสงค์ห้องพักโรงแรมที่อยู่ในระดับสูงและมาตรการควบคุมที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ต่าง ๆ มีการผ่อนคลายลงทั่วโลก โดยสมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน (RevPAR) ของโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของในปี 65 จะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการเกิดโรคระบาดประมาณ 5-10% และจะเติบโตประมาณปีละ 10% ในช่วงปี 66-67
ธุรกิจโรงแรมของบริษัทในยุโรปจะเป็นผู้นำการฟื้นตัว โดยทริสเรทติ้งคาดว่าค่าห้องเฉลี่ยต่อคืนจะเพิ่มขึ้น 15-20% ในปี 65 เมื่อเทียบกับปีก่อนจากปัจจัยกดดันด้านเงินเฟ้อและอุปสงค์ห้องพักโรงแรมที่อยู่ในระดับสูงเป็นสำคัญ ภาวะขาดแคลนแรงงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีส่วนทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมต่างเน้นไปที่การรักษาราคาห้องพักให้อยู่ในระดับสูงมากกว่าที่จะแข่งขันกันเพิ่มอัตราการเข้าพัก ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าห้องเฉลี่ยต่อคืนจะเพิ่มในอัตราที่เป็นปกติมากขึ้นในช่วงปี 66-67 และการเพิ่มขึ้นของรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนจะมีปัจจัยสนับสนุนจากการเดินทางระยะไกลและการกลับมาของนักเดินทางแบบกลุ่มและการเดินทางเพื่อธุรกิจบางส่วน
ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 65 หลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการควบคุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ทั้งนี้ การฟื้นตัวของรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนของโรงแรมในประเทศไทยอาจเป็นไปได้ช้ากว่าในยุโรปส่วนหนึ่งเกิดจากการที่อุปสงค์ห้องพักจากนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวรัสเซียยังอยู่ในระดับต่ำแต่สถานการณ์จะค่อย ๆ ดีขึ้นในช่วงปี 66-67 ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งก็คาดว่าธุรกิจโรงแรมแบบ Management Letting Rights (MLR) ของบริษัทซึ่งอยู่ในประเทศออสเตรเลียเป็นหลักจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องและสูงกว่าระดับในปี 62 ได้ในช่วงปี 65-67
- ธุรกิจร้านอาหารจะยังคงมีความยืดหยุ่นสูง
ทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้ของบริษัทจากธุรกิจร้านอาหารจะอยู่ที่ระดับ 2.3-2.6 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 65-67 ซึ่งประมาณการดังกล่าวได้รวมรายได้จากธุรกิจรับจ้างผลิตที่ประมาณปีละ 1 พันล้านบาทหลังจากการปรับโครงสร้างธุรกิจภายในของบริษัทเอาไว้ด้วย ทั้งนี้ ประมาณการรายได้ดังกล่าวสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งที่ธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยจะดีขึ้นจากการที่ร้านอาหารสามารถเปิดดำเนินงานได้ตามปกติและการกลับมาของกิจกรรมการท่องเที่ยว
ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจร้านอาหารของบริษัทในประเทศจีนนั้นได้รับผลกระทบอย่างมากจากนโยบายควบคุมโรคโควิด 19 ที่เข้มงวดเนื่องจากร้านอาหารส่วนใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้และกรุงปักกิ่งที่มีมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ที่เข้มงวดมาก อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นและธุรกิจจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งหลังของปี 65 อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศจีน
- ปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจมหภาคและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์
ทริสเรทติ้งมองว่าความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกนั้นเป็นความเสี่ยงในเชิงลบที่สำคัญ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการเดินทางจากผลของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะชะลอการฟื้นตัวของอุปสงค์ด้านบริการโรงแรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักท่องเที่ยวที่ใช้ระยะเวลาในการเดินทางนานหลายชั่วโมง ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของต้นทุนและผลกระทบต่อสายพานการผลิตของโลกจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังส่งผลกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจอาหาร นอกจากนี้ ความพยายามของธนาคารกลางในหลายประเทศที่จะควบคุมเงินเฟ้อโดยการใช้มาตรการทางการเงินแบบตึงตัวก็จะยิ่งส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่ภาวะเศรษฐกิจจะถดถอยในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั้งหลายในปี 66 อีกด้วย
แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ทริสเรทติ้งก็ยังเชื่อว่าอุปสงค์ด้านการท่องเที่ยวแบบพักผ่อนจะแข็งแกร่งเพียงพอที่จะทำให้ผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมของบริษัทฟื้นตัวได้อย่างน้อยในอีกหลายไตรมาสข้างหน้า ในขณะที่การเดินทางเพื่อธุรกิจที่แม้ว่าอาจจะไม่สามารถกลับสู่ระดับก่อนการเกิดโรคระบาดได้เนื่องจากบางส่วนถูกทดแทนด้วยการประชุมเสมือนจริง (Virtual Meeting) แต่ก็น่าจะเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เช่นกัน และเมื่ออุปสงค์จากยุโรปและกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกลับสู่สภาวะปกติก็คาดว่าจะมีอุปสงค์มาจากนักท่องเที่ยวจีนที่น่าจะเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ประเทศท้าย ๆ ที่เปิดประเทศซึ่งคาดว่าจะไม่เกินปี 66
สำหรับธุรกิจร้านอาหารนั้น บริษัทมีมาตรการต่าง ๆ ในการลดผลกระทบที่จะเกิดกับอัตรากำไรทั้งการบริหารจัดการระบบการจัดซื้อวัตถุดิบ การปรับปรุงเมนูอาหาร และการเพิ่มราคาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งมองว่าความสามารถในการรักษาอัตรากำไรของบริษัทอาจเป็นไปอย่างจำกัดจากความกดดันของภาวะเงินเฟื้อท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีความอ่อนแอทั่วโลกซึ่งอาจจำกัดความสามารถในการผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดไปยังผู้บริโภคได้
- สถานะทางการเงินกำลังปรับตัวดีขึ้น
ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.14 แสนล้านบาทในปี 65 และประมาณ 1.25-1.35 แสนล้านบาทต่อปีในช่วงปี 66-67 และแม้ว่าบริษัทจะมีการขึ้นราคาเพื่อรองรับต้นทุนที่สูงขึ้น ทริสเรทติ้งก็คาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะยังคงได้รับแรงกดดันต่อไป โดยคาดว่า EBITDA Margin ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 23-24% ในปี 65 และที่ระดับประมาณ 25-27% ในระหว่างปี 66-67 ซึ่งน่าจะนำไปสู่ EBITDA ที่ระดับ 2.7 หมื่นล้านบาทในปี 65 และจะเพิ่มขึ้นที่ระดับ 3.1-3.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 66-67 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งจะปรับประมาณการใหม่หากเห็นว่าการฟื้นตัวเกิดขึ้นช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะลดลงอย่างต่อเนื่องสู่ระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตของบริษัทในปัจจุบันได้ภายในปี 66 จากการที่ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้น ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 8-8.5 เท่าในปี 65 ก่อนที่จะลดลงต่ำกว่า 7 เท่าในปี 66 และจะคงอยู่ที่ระดับ 5-6 เท่าในปี 67 ทั้งนี้ ประมาณการดังกล่าวได้รวมการคาดการณ์ว่าบริษัทจะมีแผนลงทุนที่จำนวนประมาณ 6.5 พันล้านบาทในปี 65 และ 1.0-1.1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 66-67 เอาไว้แล้ว นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังประมาณการว่าบริษัทจะมีการขายหรือหมุนเวียนสินทรัพย์บางส่วนออกไปที่จำนวนประมาณ 2-2.5 พันล้านบาทในปี 65 และประมาณ 7-7.5 พันล้านบาทในปี 66 อีกด้วย
ทั้งนี้ หนี้สินทางการเงินของบริษัทได้รับการปรับปรุงด้วยภาระค้ำประกัน รวมทั้งภาระผูกพันที่มีกับบริษัทที่เกี่ยวข้องในสัญญาเช่าดำเนินงาน และหนี้สินอันเกิดจากตราสารหนี้ที่มีลักษณะคล้ายทุน (Perpetual Securities) ซึ่งตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตนั้น ทริสเรทติ้งพิจารณาให้เงินต้นคงค้างของหุ้นกู้ประเภทด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่ออกภายในประเทศของบริษัทจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาทเป็นทุน 50% และอีก 50% เป็นหนี้สินทางการเงิน ในขณะที่หุ้นกู้ประเภทไม่ด้อยสิทธิและมีประกันลักษณะคล้ายทุนที่ออกในต่างประเทศทั้งจำนวนรวม 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นถือว่าเป็นหนี้สินทางการเงินทั้งจำนวน
ณ เดือนมีนาคม 65 บริษัทมีหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับการชำระคืนก่อนจำนวน 5.7 หมื่นล้านบาทจากหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยทั้งหมดจำนวน 1.67 แสนล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับการชำระคืนก่อนเมื่อเทียบกับหนี้สินรวมอยู่ที่ระดับ 34% ตามข้อกำหนดทางการเงินหลักของเงินกู้จากธนาคารและตราสารหนี้ที่ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนให้ต่ำกว่า 1.75 เท่านั้น บริษัทได้รับการผ่อนผันให้ไม่ต้องทดสอบข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวจนถึงสิ้นปี 65
- สภาพคล่องมีเพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในระยะ 12 เดือนข้างหน้า แหล่งที่มาของเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในมือจำนวนประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 65 รวมถึงวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนอีกจำนวนประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท และเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระรวม 9 พันล้านบาท รวมทั้งยังมีภาระผูกพันในสัญญาเช่าดำเนินงานประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท และมีแผนการลงทุนอีกประมาณ 5-8 พันล้านบาท ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทดำรงนโยบายในการสำรองเงินสดและรักษาสภาพคล่องอย่างรอบคอบเพื่อจะรับมือกับภาวะความเสี่ยงในการดำเนินงานที่อาจเกิดขึ้นได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนของโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของและเช่าดำเนินการจะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดที่ระดับประมาณ 5%-10% ในปี 2565 และจะเติบโตที่ประมาณปีละ 10% ในช่วงปี 66-67
- รายได้จากธุรกิจร้านอาหารจะอยู่ที่ 2.3-2.6 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 65-67
- รายได้รวมจะอยู่ที่ระดับ 1.14 แสนล้านบาทในปี 65 และระดับ 1.25-1.35 แสนล้านบาทต่อปีในช่วงปี 66-67
- EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 23%-24% ในปี 65 และที่ระดับประมาณ 25%-27% ต่อปีในช่วงปี 66-67
- ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ 6.5 พันล้านบาทในปี 65 และ 1.0-1.1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 66-67
- บริษัทจะมีการขายสินทรัพย์บางส่วนออกไปจำนวน 2-2.5 พันล้านบาทในปี 65 และจำนวน 7-7.5 พันล้านบาทในปี 66
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งต่อการฟื้นตัวทางธุรกิจและสถานะเครดิตของบริษัทจากการที่สถานการณ์ของธุรกิจโรงแรมค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นตลอดจนสภาวะสังคมและเศรษฐกิจที่กลับคืนสู่ภาวะปกติมากขึ้นแม้ว่าจะมีปัจจัยกดดันจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจระดับมหภาคก็ตาม
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับแรงกดดันในเชิงลบหากการฟื้นตัวทางธุรกิจของบริษัทอ่อนแอกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ หรือหากบริษัทมีการลงทุนที่ใช้การก่อหนี้ขนาดใหญ่เพิ่มเติม ในขณะที่โอกาสในการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอันดับเครดิตนั้นมีจำกัดในระยะใกล้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจเพิ่มขึ้นได้หากสถานะทางธุรกิจและการเงินของบริษัทมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้บริษัทสามารถดำรงอัตราส่วนหนี้ทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วให้ต่ำกว่าระดับ 5 เท่าพอสมควรได้อย่างต่อเนื่อง