"ปกรณ์"คาดนำชื่อตั้ง คกก.พัฒนาตลาดทุนให้รมว.คลัง เสนอครม.ในสัปดาห์หน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 20, 2008 11:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในวันอังคารหน้าจะนำรายชื่อคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ และหากได้รับการแต่งตั้ง คณะกรรมการชุดดังกล่าวก็จะมีการประชุมเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาตลาดทุนต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนของการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์นั้น นายปกรณ์ กล่าวว่า การแปรรูปถือเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้ตลาดหุ้นไทยมีความสามารถในการแข่งขัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างให้บริษัท boston consulting group ศึกษาและหาข้อเสนอแนะถึงวิธรีการแปรรูปว่าเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงทิศทางตลาดหลักทรัพย์ใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งหากมีการแปรรูปก็จะต้องมีการปรับทิศทางด้วยเหมือนกัน
นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า หลังจากสหรัฐปรับลดดอกเบี้ย 0.75% ในส่วนของประเทศไทยในการปรับลดคงอยู่ที่ดุลยพินิจของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะการปรับลดดอกเบี้ยหรือไม่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งโดยในส่วนตัวมองว่าเป็นไปได้ที่สหรัฐจะปรับลดดอกเบี้ยลงมาอีกอยู่ประมาณ 1%
"การปรับลดดอกเบี้ยของสหรัฐในครั้งนี้ เชื่อว่า ธปท. คงจะต้อง Wait and See และชั่งใจให้ดีในการที่จะปรับหรือไม่ปรับเพราะมีทั้งข้อดีและไม่ดีต่อประเทศ แต่โดยส่วนตัวมองว่ามีแนวโน้มที่สหรัฐจะปรับดลดอกเบี้ยจนไปอยู่ที่ 1% เพื่อเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศสหรัฐเอง"นายปกรณ์ กล่าว
นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า หากกนง.จะปรับลดดอกเบี้ยลง คงมี 2 เหตุผล หนึ่ง คือ ควรที่จะปรับลดดอกเบี้ยตามสหรัฐเนื่องจากขณะนี้ดอกเบี้ยสหรัฐมีส่วนต่าง 1% เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยในประเทศ อีกทั้งตลาดการเงินของสหรัฐประสบปัญหาซับไพร์ม ซึ่งตรงนี้อาจเป็นจุดดีที่ทำให้เม็ดเงินจากสหรัฐถูกโยกเข้ามาลงทุนในตลาดภูมิภาครวมถึงประเทศไทย
แต่อย่างไรก็ตาม หากมีเม็ดเงินเข้ามากเกินไปก็จะส่งผลต่อค่าเงินบาท ซึ่งตรงนี้ถือเป็นภาระที่แบงก์ชาติจะต้องพิจารณาและดูแลการเคลื่อนไหวของเงินบาทให้มีเสถียรภาพ
ขณะเดียวกัน การที่ควรปรับดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับดอกเบี้ยสหรัฐ จะสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐในการกระตุ้นการลงทุนเมกะโปรเจกต์ และการอัดเม็ดเงินสู่รากหญ้า ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนกล้ากู้เงินเพื่อการลงทุน
แต่ขณะเดียวกันก็มองว่าการที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ถือเป็นปัจจัยกดดันเงินเฟ้อ ดังนั้นการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก็จะช่วยรักษาเสถียรภาพและไม่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวไปมากกว่านี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ