กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อบ่ายวันนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 16 ติดต่อกัน ท่ามกลางคะแนนเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ โดยคณะกรรมการ 3 ใน 7 ราย ลงคะแนนสนับสนุนให้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 0.75%
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวดีเกินที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า เนื่องจากอุปสงค์ภายในที่เพิ่มขึ้นและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเชิงบวก จากถ้อยแถลงของ กนง. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง สืบเนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดย กนง. ได้ปรับคาดการณ์ GDP ในปี 65 และ 66 เป็น 3.3% และ 4.2% ตามลำดับ จากเดิมคาดไว้ 3.2% และ 4.4% จากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด และสัญญาณของการฟื้นตัวในภาคแรงงานและรายได้ครัวเรือน เงินเฟ้อทั่วไปปี 65 ปรับขึ้นเป็น 6.2% และเป็น 2.5% ในปี 66 จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 4.9% และ 1.7% ตามลำดับ
จากมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ของ กนง. เงินบาทแข็งค่าเล็กน้อยในช่วงแรกก่อนที่จะพลิกอ่อนค่ามาที่ 34.51 บาท/ดอลลาร์ ช่วงท้ายตลาด อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทนั้นมีการอ่อนค่ากว่า 3.3% ในปีนี้ ท่ามกลางราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นและความคาดหวังของตลาดต่อการลดสภาพคล่องจากระบบของเฟด โดย กนง. มีความเห็นว่าค่าเงินบาทนั้นมีการเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และจะยังคงติดตามพัฒนาการและความผันผวนของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด
คณะกรรมการกนง. มีกำหนดการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 10 ส.ค. 65 ถ้อยแถลงของ กนง. ครั้งนี้ บ่งชี้ถึงการปูทางไปสู่การปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติ กนง. นั้นแสดงความกังวลต่อความกดดันด้านราคาในวงกว้างที่มากขึ้น ควบคู่ไปกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้น การกำหนดนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า ซึ่งผิดความคาดหมายของเรา เนื่องจากเมื่อเร็วๆ นี้ทางการเพิ่งจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยังคงส่อแววเปราะบาง
กรุงศรีมีความเห็นว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคล่าสุด ความกดดันจากประเทศต่างๆ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการไหลของเงินทุนนั้นล้วนมีส่วนต่อการสื่อสารของ กนง. ในวันนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบัน และจุดยืนของ กนง. ด้านนโยบายที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่วัฏจักรการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกภายในครึ่งหลังของปี 65 นี้