ในตอนที่ 1 บทความนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าบิทคอยน์ และเงินตราเข้ารหัสอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันนี้ ซึ่งไม่รวมถึงเงินคริปโทที่มีการดำเนินธุรกิจหนุนหลังและสกุลเงินดิจิตัลของรัฐ (CBDC) ที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเป็นผู้ออกซึ่งรวมถึงเงินบาทดิจิตอลแท้ที่จริงแล้วไม่ใช่เงินตราแต่คือมายา ตอนที่ 2 นี้จะวิเคราะห์ให้เห็นว่าการซื้อขายบิทคอยน์ไม่ใช่การลงทุน แต่คือการเก็งกำไรที่มีความเสี่ยงสูงเทียบเคียงกับการพนันนั่นเอง
*บิทคอยน์ไม่ใช่การลงทุน แท้จริงแล้วคือการเก็งกำไรที่มีความเสี่ยงสูง
แม้จะเชื่อกันว่าการเข้าไปซื้อบิทคอยน์คือการลงทุน โดยหลักการแล้วการลงทุนคือการนำเงินในปัจจุบันไปใช้ในกิจกรรมที่สามารถสร้างผลประโชน์ตอบแทนในอนาคต และสามารถคาดการณ์ผลตอบแทนที่เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของกิจการนั้นได้ เช่น การลงทุนโดยตรงในกิจการต่างๆ (direct investment) การลงทุนในหลักทรัพย์ทางการเงิน (portfolio investment) ได้แก่หุ้น พันธบัตร หรือโลหะมีค่า เช่นทองคำ
กรณีของการลงทุนโดยตรงในธุรกิจเหตุที่นักลงทุนหรือผู้ประกอบการสนใจลงทุนในธุรกิจ เพราะมองเห็นว่าธุรกิจดังกล่าวสามารถผลิตสินค้าหรือบริการที่เป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต จึงสามารถสร้างผลตอบแทนกลับคืนมาได้ โดยมูลค่าของธุรกิจคือมูลค่าของกระแสเงินสดที่ธุรกิจจะสร้างได้ในอนาคตหลังจากหากค่าใช้จ่ายต่างๆ และคิดลดเป็นมูลค่าปัจจุบัน
ในทำนองเดียวกัน การลงทุนในหลักทรัพย์ เช่น หุ้นของธุรกิจ คือการที่นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นของธุรกิจในราคาที่เท่ากับมูลค่าของธุรกิจตามที่กล่าวแล้วต่อหุ้น เพื่อหวังผลตอบแทนคือกำไรของธุรกิจตามสัดส่วนของการถือหุ้น
แต่บิทคอยน์ไม่มีกิจกรรมการผลิตใดหนุนหลังที่จะสร้างกระแสเงินสดตอบแทนได้เลยโดยหลักการแล้วจึงไม่มีค่าในตัวของมันเอง แม้แต่การลงทุนในธุรกิจ หากผลผลิตของธุรกิจนั้นไม่เป็นที่ต้องการของตลาด แม้นักลงทุนจะทุ่มเงินลงทุนเพื่อซื้อเครื่องจักร และสร้างโรงงานอย่างใหญ่โต แต่มูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจนั้นก็เป็นศูนย์ ทั้งที่ตัวอาคารโรงงานและเครื่องจักรมีราคาในตัวของมันเองแต่เมื่อผลผลิตไม่เป็นที่ต้องการของตลาด จึงไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดในอนาคตได้ หุ้นของธุรกิจนี้จึงไม่มีค่าต่อการลงทุน นั่นคือมูลค่าเป็นศูนย์
ดังนั้น บิทคอยน์ ซึ่งไม่มีกิจกรรมการผลิตใดหนุนหลังที่จะสร้างกระแสเงินสดในอนาคตได้เลย จึงไม่มีมูลค่าในตัวของมันเองแม้บิทคอยน์ถูกสร้างโดยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า มีความมั่นคงและปลอดภัยสูง มีการกระจายอำนาจการตรวจสอบและถูกจำกัดจำนวนไว้ แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดังกล่าวไม่ได้ทำให้บิทคอยน์มีค่าในตัวของมันเอง แต่มันสามารถทำให้ผู้คิดสร้างระบบคริปโทนี้สร้างรายได้จากนวัตกรรมนี้ได้มหาศาล หากในอนาคตมีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าและมาหยุดชะงัก (disrupt) บล็อกเชน เช่น การประมวลผลแบบควอนตัม (Quantum Computing) อาจทำให้ระบบเหรียญคริปโทล่มสลายเร็วขึ้นได้
*ความสูญเสียทางสังคม
บิทคอยน์นอกจากไม่มีคุณค่าในตัวของมันเองแล้ว ยังสร้างความสูญเสียทางสังคมอย่างมาก การขุดเหมืองบิทคอยน์และการจัดการระบบเครือข่ายของบิทคอยน์นั้น ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมโหฬาร เพราะต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่สมรรถนะสูงเพื่อประมวลผลและรักษาความเย็นของคอมพิวเตอร์ไม่ให้ร้อนเกินไป และนี่คือเหตุผลที่ทำให้การขุดเหมืองบิทคอยน์ในปัจจุบันตกอยู่ในมือของศูนย์ประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ของบริษัท หรือกลุ่มบุคคล มากกว่าที่จะเป็นปัจเจกบุคคลเช่นในยุคแรก
จากผลการวิจัยที่จัดทำในต่างประเทศพบว่า การขุดเหมืองบิทคอยน์กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจ โดย 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ขุดบิทคอยน์ควบคุมขีดความสามารถในการขุดเหมืองมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของเครือข่ายทั้งหมด และยิ่งบิทคอยน์ได้รับความนิยมมากขึ้น มีผู้เข้ามาทำธุรกรรมและขุดเหมืองมากขึ้น จำนวนข้อมูลที่จะต้องประมวลผลจึงมากขึ้นตาม ยิ่งต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น
มีผลการศึกษาว่าการใช้ไฟฟ้าในระบบเครือข่ายบิทคอยน์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแบบจรวด โดยในปี 2564 การใช้ไฟฟ้าในระบบเครือข่ายของบิทคอยน์ประมาณ 91 TWh (terawatt-hours) มากกว่าการใช้ไฟฟ้าของประเทศฟินแลนด์ทั้งประเทศ หรือหากคิดเป็นค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของครัวเรือนในการขุดบิทคอยน์ในเดือนพฤษภาคม 2564 ต้องใช้ไฟฟ้าเทียบเท่าถึง 13 ปี ในการขุด 1 บิทคอยน์ จะเห็นได้ว่านอกจากบิทคอยน์ ไม่มีคุณค่าใดๆ ในตัวของมันเองและไม่มีประโยชน์ต่อสังคมแล้ว ยังสร้างปัญหาให้สังคมเรื่องความสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าและภาวะโลกร้อนอีกด้วย
*ประโยชน์ของบล็อกเชนและค่าของเหรียญคริปโทบางประเภท
บทความนี้ไม่ได้มองข้ามความสำคัญของเทคโนโลยีบล็อกเชนแต่อย่างใด จากลักษณะพิเศษของบล็อกเชนในเรื่องการเข้ารหัสเพื่อความปลอดภัยของข้อมูล และการกระจายการเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลโดยไม่ต้องมีหน่วยงานกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้บล็อกเชนสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เป็นประโยชน์จำนวนมาก ทั้งด้านตลาดเงินตลาดทุน อุตสาหกรรม การศึกษา สาธารณสุข ตลอดจนการบริหารงานภาครัฐ เช่น การโอนเงิน การกู้ยืมเงิน การติดตามระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชน การเลือกตั้งดิจิทัล การทำงบประมาณแบบโปร่งใส ระบบข้อมูลทางการแพทย์ที่ปลอดภัย และ NFT (Non-Fungible Token) เพื่อการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล
บทความนี้ก็มิได้หมายรวมว่าเหรียญคริปโททั้งหมดไม่มีคุณค่า สำหรับเหรียญคริปโทที่มีธุรกิจหนุนหลัง เช่น ธุรกิจสตาร์ทอัพที่นำแนวคิดการออกเหรียญคริปโทไปใช้ระดมทุนพัฒนาธุรกิจที่สามารถก่อให้เกิดรายได้ เช่น ธุรกิจทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ เหรียญคริปโทของธุรกิจเหล่านี้ถือได้ว่ามีมูลค่า
การออกเหรียญเพื่อระดมทุนนี้เรียกว่า ICO (Initial Coin Offering) คล้ายกับการที่ธุรกิจออกหุ้นเพื่อระดมทุนที่เรียกว่า IPO (Initial PublicOffering) เพื่อไปสร้างธุรกิจดังที่กล่าวมาแล้ว เหรียญคริปโทที่มีธุรกิจหนุนหลังแบบนี้จึงมีค่าในตัวของมันเอง ซึ่งก็คือมูลค่าของธุรกิจที่ได้นำเงินไปลงทุนนั่นเอง
ดังนั้น ค่าของเหรียญคริปโทจะมากขึ้นถ้าธุรกิจเติบโตและมีกำไร ในทางกลับกันกันค่าของเหรียญคริปโทจะลดลงถ้าธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จและขาดทุน แต่เหรียญคริปโทที่ไม่มีธุรกิจที่สามารถสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจหนุนหลังเลย จึงไม่มีหลักคิดได้ที่จะนำมาคิดหามูลค่าได้เลย
โดยสรุปแล้วบทความนี้ชี้ให้เห็นว่าบิทคอยน์และเหรียญคริปโทในลักษณะเดียวกันนี้ที่ถือว่าเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง มีความเป็นอิสระ ปราศจากการกำกับและแทรกแซงจากภาครัฐ มีการกระจายอำนาจการตรวจสอบไปยังเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในระบบ (ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมีการกระจุกตัวอย่างสูงในกลุ่มธุรกิจที่มีอำนาจประมวลผลสูง) เป็นทางเลือกของนักลงทุนรุ่นใหม่ แท้ที่จริงคือมายาที่ถูกสร้างและปรุงแต่งขึ้นมาให้มีค่าเพื่อให้ผู้ที่ยังคงเชื่อว่าบิทคอยน์คือเงินตราที่มีมูลค่าในตัวของมันเองยังคงหลั่งไหลเข้ามาหนุนให้ระบบนี้ยังคงอยู่และเอื้อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแสวงหาประโยชน์จากระบบเงินคริปโตนี้ต่อไป
หากเมื่อใดที่ผู้คนเข้าใจและตระหนักมากขึ้น มายานี้ก็จะถึงจุดจบ และผู้ที่ลงทุนในบิทคอยน์ก็อาจ End game ด้วยความสูญเสีย
ดร. วิทยา ปิ่นทอง
อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิ
อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ