นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินเฟ้อสหรัฐปรับตัวขึ้นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลงสู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมา ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกว่า 0.5% ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย และส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกได้ แต่อย่างไรก็ตามยังมีโอกาสในการกระจายการลงทุน โดยแนะนำให้ลงทุนในภูมิภาคประเทศที่มีการเติบโตสูงจากการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ด้านนางสาวธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน เปิดเผยว่า ระยะสั้นยังคงผันผวนอยู่ในกรอบแคบ ตามความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดเพื่อควบคุมสถานการณ์เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง จากผลกระทบของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นรุนแรง หลังได้รับปัจจัยหนุนจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย และ ยูเครน
โดยมอง Downside ดัชนี SET ในครั้งนี้ที่ระดับ 1,550 จุด โดยจะมีกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ที่คอยพยุงดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ ทั้งกลุ่มพลังงานที่มีสัดส่วนราว 25% ของตลาดหุ้นไทย ที่ได้รับปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่มีสัดส่วนราว 10% ของดัชนีตลาดหุ้นไทย จะได้รับปัจจัยหนุนจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
ขณะที่เป้าหมายดัชนีปลายปี 65 มองไว้ที่ระดับ 1,750 จุด โดยจะได้รับปัจจัยหนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และได้เดินหน้าเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามายังประเทศไทย 6 ล้านคน ในขณะเดียวกันจะยังมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านหลายโครงการของรัฐบาล การบริโภคในประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างต่อเนื่องด้วย
โดยกลยุทธ์การลงทุนจะเน้นเป็นการเลือกลงทุนหุ้นรายตัว (Selective) โดยพิจารณาเลือกหุ้นที่มีการเติบโตที่แน่นอน (Quality Earnings Growth) มีโอกาสฟื้นตัวสูง (High Potential for Recovery) และได้รับประโชน์จากการเปิดประเทศ (Reopening Theme)
นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน กล่าวเพิ่มเติมว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Yield Curve) ปรับตัวขึ้นทุกประเทศ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน และอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นมากจากหลายปัจจัย สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทย แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% แต่ Yield Curve ได้ปรับตัวสูงขึ้นในระดับที่สะท้อนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75-2.00% ไปแล้ว ค่าเงินบาทอ่อนตัวตามค่าเงินในภูมิภาค กระแสเงินไหลเวียนของผู้ลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) สุทธิแล้วเป็นเงินไหลเข้าเล็กน้อย แม้ปัจจัยพื้นฐานโดยรวมจะยังคงดีอยู่ และ Yield Curve ได้สะท้อนภาพการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว "กนง. อาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายบ้างในปีนี้ แต่อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นไม่ได้ช่วยเพิ่มให้อัตราเงินเฟ้อลดลง เพราะเงินเฟ้อส่วนใหญ่ที่ขึ้นของไทยมาจากต้นทุนการผลิต และ ต้นทุนด้านน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น"นายชัชชัย กล่าว