บล.คิงส์ฟอร์ด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กลุ่มพลังงาน มีปัจจัยจากกรณีรัฐขอความร่วมมือให้โรงกลั่นน้ำมันนำส่งค่าการกลั่นส่วนเกินจากอัตราปกติเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อนำมาอุดหนุนราคาน้ำมันภายในประเทศเป็นเวลา 3 เดือน คาดว่าจะได้เงินประมาณ 6-7 พันล้านบาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย.65) เพื่ออุดหนุนน้ำมันดีเซล 5-6 พันล้านบาท/เดือน น้ำมันเบนซิน 1 พันล้านบาท/เดือน
วันนี้คาดว่าข่าวดังกล่าวจะสร้าง Sentiment เชิงลบต่อหุ้นโรงกลั่นทั้ง 6 โรง ที่ต้องมีภาระในการร่วมกันส่งเงินราว 1.8-2.1 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการออกมากจากผู้ประกอบการ คาดว่ากลุ่มที่มีภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้นอย่างกลุ่ม ปตท.(PTTGC TOP IRPC) และ BCP อาจเลือกแบ่งกันรับผิดชอบ และกลุ่มโรงกลั่นต่างชาติ ESSO SPRC อาจเลือกไม่ปฏิบัติตามก็ได้ ทั้งนี้ประเมินหากแบ่งกันจ่ายตามสัดส่วนการผลิตน่าจะกระทบต่อค่าการกลั่นของแต่ละบริษัทลดลงประมาณ 1-2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นอกจากนี้ จะขอความร่วมมือจากโรงแยกก๊าซฯ ซึ่งจะมีกำไรจากส่วนเกินส่วนหนึ่งมา 50% เข้ากองทุนน้ำมัน ประมาณ 1.5 พันล้านบาท/เดือน ซึ่งเมื่อรวมผลกระทบจากโรงกลั่นที่เป็น บ.ลูกของ PTT คาดว่าจะกระทบต่อกำไรของ PTT ไม่เกิน 10%
แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนกลุ่มโรงกลั่นและ PTT ออกไปก่อน รวมถึงรอรายละเอียดที่ชัดเจน และหากราคาน้ำมันทรงตัวสูงไปจนถึงสิ้นปี ตลาดอาจจะกังวลถึงการต่ออายุมาตรการออกไปอีก
ขณะที่ บล.เอเซีย พลัส มองว่า กรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อกำไรกลุ่มฯในปี 65 อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามยังเป็นเพียงข้อเสนอจากทางภาครัฐ เพราะจากการสอบถามไปยังกลุ่มโรงกลั่น (TOP, PTTGC, IRPC, SPRC, ESSO, BCP) และโรงแยกก๊าซฯ (PTT) พบว่ายังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนและข้อสรุปจากผู้ประกอบการ สะท้อนให้เห็นว่าในทางปฏิบัติยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะปฎิบัติได้จริงหรือไม่ และผู้ประกอบการจะยอมรับข้อเสนอของภาครัฐหรือไม่ เพราะถือเป็นการแทรกแซงจากภาครัฐโดยตรง ซึ่งบิดเบือนจากในอดีตที่ธุรกิจโรงกลั่นเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี ไม่มีการควบคุมค่าการกลั่น ซึ่งก็มีทั้งช่วงที่โรงกลั่นได้กำไร และขาดทุน
ในมุมมองของฝ่ายวิจัย ค่าการกลั่นที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบันมาจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ทำให้ supply โดยรวมของตลาดโลกปรับตัวลดลง ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในภาวะผิดปกติ และอาจจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้น หากภาครัฐเข้ามาแทรกแซงบังคับให้ปรับลดค่าการกลั่นเพื่อให้ราคาขายปลีกหน้าโรงกลั่นปรับลดลง ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการหันไปส่งออกมากขึ้นเพราะได้ราคาสูงกว่าการขายในประเทศ รวมถึงทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงกลั่นลดลงอย่างมาก เพราะอาจจะเกิดเหตุการณ์แทรกแซงได้อยู่เสมอ ถ้ากลไกการค้าเสรีถูกบิดเบือน
ฝ่ายวิจัยได้มีการประเมินเบื้องต้น หากภาครัฐจะเข้ามาแทรกแซงกลุ่มโรงกลั่น จะกระทบต่อผู้ประกอบการโดยโรงกลั่นแต่ละโรงจะผลิตผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปแต่ละชนิดในสัดส่วนที่แตกต่างกัน และในแต่ละผลิตภัณฑ์ก็จะมี spread (ราคาผลิตภันฑ์-ต้นทุนน้ำมันดิบ) ที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงปี 2555-2562 spread ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปหลักๆ ได้แก่ ก๊าซออยล์, ก๊าซโซลีน และเจ็ท อยู่ที่ราว 10-15 เหรียญฯต่อบาร์เรล หรือราว 2.1-3.2 บาทต่อลิตร ซึ่งถือเป็นกำไรขั้นต้นจากการขายผลิตภัณฑ์หลักทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว แต่เนื่องจากโรงกลั่นยังผลิตผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปที่มีกำไรขั้นต้นติดลบ ได้แก่ น้ำมันเตา เป็นส่วนประกอบด้วย ดังนั้นเมื่อมาเฉลี่ยกันแล้วค่าการกลั่นหรือกำไรขั้นต้น ก็จะไม่สูงเท่ากับ spread ของน้ำมันหลักเท่านั้น
นอกจากนี้ หากพิจารณาในช่วงปี 2563-2564 ซึ่งโลกของเราประสบกับปัญหาโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปลดลงอย่างมีนัยฯส่งผลให้ spread ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปหลักๆ ได้แก่ ก๊าซออยล์, ก๊าซโซลีน และเจ็ท มีการปรับตัวลดลงตามเฉลี่ยเหลือราว 3-8 เหรียญฯต่อบาร์เรล หรือราว 0.6-1.7 บาทต่อลิตร รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำมันเตาก็ติดลบมากขึ้น ส่งผลให้โรงกลั่นหลายโรงต้องเผชิญกับผลขาดทุน
ดังนั้น แสดงให้เห็นว่าธุรกิจโรงกลั่นในอดีตที่ผ่านมามีทั้งกำไรและขาดทุนตามสถานการณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบ demand และ supply น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ โดยต้นทุนเฉลี่ยของโรงกลั่นแต่ละโรงก็ไม่เท่ากัน เฉลี่ย Breakeven ของโรงกลั่นเมื่อรวมค่าใช้จ่ายหลักๆได้แก่ operating cost, ค่าเสื่อมราคา และดอกเบี้ยจะอยู่ราว 4.5-7.5 เหรียญฯต่อบาร์เรล หรือราว 1.0-1.6 บาทต่อลิตร
ฝ่ายวิจัยได้ประเมินเบื้องต้นจากค่าการกลั่นในสถานการณ์ปัจจุบันโดยอิงค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ที่ราว 30-35 เหรียญฯต่อบาร์เรล (แต่ในความเป็นจริงค่าการกลั่นแต่ละโรงจะไม่เท่ากัน และไม่เท่ากับค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ เพราะประเภทผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้มีสัดส่วนไม่เท่ากัน) หักด้วย crude premium จากน้ำมันดิบที่ราว 6-8 เหรียญฯต่อบาร์เรล และ fuel loss ราว 1-3 เหรียญฯต่อบาร์เรล จะได้ ค่าการกลั่นเฉลี่ยจะเหลือราว 20-25 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งคือกำไรขั้นต้นที่ราว 4.3-5.4 บาทต่อลิตร และเมื่อหักค่าใช้จ่ายหลักๆได้แก่ operating cost, ค่าเสื่อมราคา และดอกเบี้ยที่อยู่ราว 4.5-7.5 เหรียญฯต่อบาร์เรล หรือราว 1.0-1.6 บาทต่อลิตร จะเหลือเป็นกำไรราว 3.3-3.8 บาทต่อลิตร
ดังนั้น หากกำหนดให้โรงกลั่นทุกๆแห่งสนับสนุนช่วยเหลือภาครัฐทุกๆ 1 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 เดือน จะทำให้กำไรของโรงกลั่นแต่ละแห่งหายไปเท่ากับ 1.3 พันล้านบาท, 691.6 ล้านบาท, 1.0 พันล้านบาท, 572.4 ล้านบาท, 830.0 ล้านบาท และ 8434.7 ล้านบาท สำหรับโรงกลั่น TOP, PTTGC, IRPC, BCP, ESSO และ SPRC ตามลำดับ ประเด็นดังกล่าวจะกดดันราคาหุ้นกลุ่มโรงกลั่นทั้งกลุ่ม รวมถึงโรงแยกก๊าซฯของ PTT ที่ได้รับผลกระทบด้วย