นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า กระทรวงการคลังร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ได้จัดการสัมมนาภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค เรื่อง การพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความยั่งยืนในตลาดทุนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านการใช้เครื่องมือดิจิทัล (Seminar on Developing the Ecosystem for Sustainable Finance in the Capital Market and Digitalization for Inclusive Finance: Embracing the Digital Fundraising) (การสัมมนาฯ) ในวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น
โดยมีผลการสัมมนาฯ ใน 3 หัวข้อหลัก ดังนี้ 1. การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลในมุมมองของผู้กำหนดนโยบาย โดยวิทยากร ประกอบด้วย นางแพทริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (ผอ. สบน.) ผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ผู้แทนกระทรวงการคลังมาเลเซีย และผู้แทนกระทรวงการคลังสิงคโปร์ ต่างเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงการวางแผนงบประมาณและแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
ในการนี้ ผู้แทนกระทรวงการคลังมาเลเซียและผู้แทนกระทรวงการคลังสิงคโปร์ ได้กล่าวถึงรูปแบบการระดมทุนที่ตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในเขตเศรษฐกิจของตน และ ผอ.สบน.ได้นำเสนอประสบการณ์การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ที่เป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในการปฏิบัติตามข้อกำหนดการระดมทุนและการใช้เงินทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยให้การระดมทุนและการดำเนินนโยบายอื่น ๆ ของรัฐเข้าถึงประชาชนและภาคประชาสังคมได้อย่างครอบคลุม และส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคพลังงาน ภาคการผลิต และภาคการคมนาคมขนส่ง จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึงร้อยละ 20
2. การพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างความยั่งยืนในตลาดทุน ซึ่งประกอบด้วย 2 หัวข้อหลัก ได้แก่
2.1 การพัฒนาสภาพแวดล้อมด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนในตลาดทุน ซึ่งนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. ผู้แทนกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย ผู้แทนหน่วยงานกำกับบริการทางเงินญี่ปุ่น (Japan Financial Service Agency) ผู้แทนสถาบัน Sustainable Finance Institute Asia และผู้แทนองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development: OECD) ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำนโยบายและมาตรฐานทางการเงินเพื่อความยั่งยืนได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับบทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน โดยกล่าวถึงความสำคัญของหลักการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG)
ทั้งนี้ ผู้ร่วมสัมมนาได้นำเสนอแนวทางในการจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาสภาพแวดล้อมด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนในตลาดทุนของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นบทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินในการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน โดยยึดหลักการการมีส่วนร่วม จัดทำนโยบายทางการเงินเพื่อความยั่งยืนอย่างมีส่วนร่วม พร้อมทั้งแนวทางการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน และธรรมาภิบาลของการลงทุน
2.2 กรอบการจัดหมวดหมู่ด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเงินที่ยั่งยืนสำหรับ เศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economies) และกลไกราคาสำหรับการซื้อขายคาร์บอน ซึ่งวิทยากรจาก OECD และภาคเอกชน ได้เสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนเกี่ยวกับการพัฒนามาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Taxonomy) รวมถึงแนวทางบริหารความเสี่ยงที่จะช่วยให้กิจการสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่กิจการที่ยั่งยืน (Transition Finance) และเปลี่ยนการลงทุนดั้งเดิมสู่การลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3. การเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านการใช้เครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย 2 หัวข้อย่อย ดังนี้
3.1 นโยบายและกรอบการดำเนินนโยบายกำกับดูแลการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการระดมทุนในตลาดทุนของ SMEs ซึ่งวิทยากรจากสำนักงาน ก.ล.ต. และ ADB ได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับกรอบนโยบายการกำกับดูแลและเครื่องมือเทคโนโลยีที่นำมาปรับใช้เพื่อสนับสนุนการระดมทุนในตลาดทุน โดยเฉพาะในประเด็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
ในกรณีประเทศไทย สำนักงาน ก.ล.ต. ได้พัฒนาเครื่องมือการระดมทุนโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ (Crowdfunding) เพื่อการระดมทุนของ SMEs และธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยในปัจจุบันมีการระดมทุนผ่านช่องทางดังกล่าวกว่า 76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2565) นอกจากนี้ ยังมีการระดมทุนในรูปแบบ Initial Coin Offerings (ICOs) หรือการระดมทุนเป็นโทเคนดิจิทัล (Digital Token) ซึ่งใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน โดยระดมทุนผ่านช่องทางของผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.
3.2 ความท้าทายและโอกาสของการระดมทุนผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล วิทยากรจากธนาคารโลก และวิทยากรจากภาคเอกชนที่ประกอบกิจการด้านการระดมทุนผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ได้แลกเปลี่ยนบทเรียน ประโยชน์ และความท้าทายในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อการระดมทุนในตลาดทุน โดยผู้ประกอบการภาคเอกชนเห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลที่นำมาใช้ในการระดมทุนรูปแบบใหม่ อาทิ Crowdfunding และ ICOs ได้ช่วยสนับสนุนให้ SMEs และธุรกิจสตาร์ทอัพ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ความชัดเจนของกฎระเบียบและนโยบายของหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลบริการด้านการเงินต่าง ๆ จะช่วยสนับสนุนให้การระดมทุนในรูปแบบดังกล่าวมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อภาคธุรกิจและนักลงทุนมากยิ่งขึ้น
การสัมมนาฯ ในครั้งนี้ทำให้สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคได้รับทราบถึงแนวทางและความคืบหน้าในการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างความยั่งยืนในตลาดทุนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านการใช้เครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปคในปี 2565 จะรายงานผลการสัมมนาในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังเอเปค (APEC Senior Finance Officials? Meeting) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22-23 มิถุนายน 2565 ณ จังหวัดขอนแก่น จากนั้นจะสรุปผลลัพธ์จัดทำเป็นเอกสารข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 29 ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 ต่อไป