ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร KGI ที่ A แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 24, 2022 11:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจผลิตภัณฑ์ตราสารอนุพันธ์ ตลอดจนความสามารถในการสร้างผลกำไรที่ดี และสถานะเงินทุนที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนลงบางส่วนจากการที่บริษัทมีการพึ่งพากำไรจากผลิตภัณฑ์ตราสารทางการเงินเป็นหลัก

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • เป็นบริษัทในเครือที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ KGI Group

ทริสเรทติ้งมองว่า บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) มีสถานะในการเป็นบริษัทในเครือที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ KGI Taiwan โดยอันดับเครดิตของบริษัทได้รับการปรับเพิ่มขึ้น 1 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท ทั้งนี้ KGI Asia (Holdings) Pte. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทลูก 100% ของ KGI Taiwan ถือหุ้นในสัดส่วน 34.97% ในบริษัท โดยคณะกรรมการของบริษัทจำนวน 3 คนจากทั้งหมด 9 คนได้รับการเสนอชื่อโดย KGI Taiwan

KGI Taiwan ได้ให้การสนับสนุนทางธุรกิจและความรู้ความเชี่ยวชาญแก่บริษัทมาโดยตลอดและทริสเรทติ้งคาดว่าการสนับสนุนดังกล่าวจะยังคงอยู่ต่อไปในอนาคตอันใกล้ การสนับสนุนของ KGI Taiwan ทำให้บริษัทกลายมาเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดตราสารอนุพันธ์ในประเทศไทย การดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนานและการจ่ายเงินปันผลที่สม่ำเสมอให้แก่กลุ่มเป็นการยืนยันมุมมองของทริสเรทติ้งว่า KGI Group มีพันธะผูกพันที่แน่นแฟ้นกับบริษัท อย่างไรก็ดี แม้ว่าทริสเรทติ้งจะมองเห็นถึงความสัมพันธ์ในระดับหนึ่งในด้านกลยุทธ์และความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างบริษัทกับ KGI Taiwan และบริษัทในเครือ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานการสนับสนุนทางด้านการเงินที่ชัดเจนจากกลุ่มแต่อย่างใด

  • มีการพึ่งพากำไรจากผลิตภัณฑ์ตราสารทางการเงินค่อนข้างสูง

กำไรจากผลิตภัณฑ์ตราสารทางการเงินมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 35% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่อยู่ที่ระดับประมาณ 7.5% ในระหว่างปี 2562-2564 อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ กำไรจากตราสารทางการเงินของบริษัทส่วนใหญ่มาจากธุรกิจใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant ? DW) ซึ่งบริษัทยังคงครองตำแหน่งทางการตลาดสูงที่สุดในประเทศไทย

ในขณะที่ยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำในธุรกิจ DW บริษัทก็มีความคืบหน้าที่ดีในการกระจายแหล่งรายได้โดยเห็นได้จากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการกองทุนซึ่งดำเนินการโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนวรรณ จำกัด (บลจ. วรรณ) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท สัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมต่อรายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 29.6% ในปี 2564 จากประมาณ 25% โดยเฉลี่ยในระหว่างปี 2561-2563 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับ 17% ในช่วงปี 2562-2564 อย่างไรก็ตาม อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งที่การกระจายตัวของรายได้จะสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทเนื่องจากสัดส่วนของกำไรจากตราสารทางการเงินที่ค่อนข้างสูง

  • มีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง

ทริสเรทติ้งคาดว่า บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) จะยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำทางการตลาดในธุรกิจตราสารอนุพันธ์เอาไว้ได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจากการที่บริษัทมีปัจจัยสนับสนุนจากการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ในต่างประเทศ และเทคโนโลยีจากบริษัทแม่และบริษัทในเครือของ KGI Group โดยในปี 2564 บริษัทเป็นผู้ออก DW มากที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ บริษัทยังถูกจัดอยู่ในอันดับที่หนึ่งในด้านปริมาณการซื้อขาย DW ของผู้ออกผลิตภัณฑ์อีกด้วย โดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 50.26% ในปี 2564 เพิ่มขึ้นจาก 42.98% ในปี 2563

สำหรับธุรกิจนายหน้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives Brokerage Business) นั้น ส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทก็เพิ่มขึ้นอย่างอย่างมากโดยมาอยู่ที่ระดับ 9.04% ในปี 2564 จากระดับ 5.98% ในปี 2563 ซึ่งสาเหตุหลักมาจากปริมาณการซื้อขายของ SET50 Index Futures ที่แข็งแกร่ง บริษัทมีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุดในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของประเทศไทย (Thailand Futures Exchange ? TFEX) ในปี 2564 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ระดับ 13.38% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 9.35% ในปี 2563 ส่วนแบ่งทางการตลาดของรายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้ค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 32.7% ในปี 2563 และ 40.4% ในปี 2564

ในขณะที่ค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จากลูกค้ารายย่อยยังคงเป็นสัดส่วนสูงที่สุดที่ระดับ 72.2% ของรายได้นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทในปี 2564 ค่าธรรมเนียมนายหน้าจากลูกค้าต่างประเทศก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวในปีเดียวกันโดยได้แรงหนุนจากการให้บริการซื้อขายผ่านระบบ Direct Market Access (DMA) และคำสั่งซื้อขายจำนวนมากจากลูกค้าสถาบันในต่างประเทศ หากแรงหนุนดังกล่าวยังมีต่อเนื่อง ค่าธรรมเนียมจากลูกค้าต่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นจะช่วยรักษาการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยรวมของบริษัทต่อไปได้

นอกจากธุรกิจนายหน้าแล้ว บลจ. วรรณ ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการกองทุนที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 99% ก็ได้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งของสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (Asset Under Management ? AUM) ที่ระดับ 16.7% ในปี 2564 อีกด้วย ส่วนแบ่งทางการตลาดของ บลจ. วรรณ ในกลุ่มธุรกิจกองทุนรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.54% ณ สิ้นปี 2564 จากระดับ 1.21% ณ สิ้นปี 2563 ในขณะที่กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Funds ? FIFs) ก็ยังคงขับเคลื่อนการเติบโตให้แก่ บลจ. วรรณ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

  • สถานะเงินทุนอยู่ในระดับที่พอเพียง

ทริสเรทติ้งประเมินให้สถานะเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าสถานะเงินทุนของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยง (Risk-adjusted Capital Ratio -- RAC) จะอยู่ในช่วง 15%-16% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทอยู่ที่ระดับ 16.4% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ทริสเรทติ้งมองว่าฐานทุนในปัจจุบันของบริษัทนั้นถือว่ามีเพียงพอที่จะสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในภาวะปกติของบริษัท โดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Ratio -- NCR) ที่ยังคงแข็งแกร่งที่ระดับ 82.50% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งสูงกว่าอัตราขั้นต่ำของทางการที่ระดับ 7% ค่อนข้างมาก

  • ความสามารถในการสร้างผลกำไรอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งแต่มีความผันผวนสูง

ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการสร้างผลกำไรโดยรวมของ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ซึ่งวัดจากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ที่ปรับความเสี่ยงถัวเฉลี่ยจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งต่อไปในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.36% ในปี 2564 หลังจากลดลงไปอยู่ที่ระดับ 1.82% ในปี 2563 เนื่องจากสภาวะตลาดที่ตึงตัว

ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าสัดส่วนรายได้จากกำไรจากตราสารทางการเงินที่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งอาจทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทมีความอ่อนไหวต่อตลาดในช่วงที่มีความผันผวนสูง อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของรายได้ประจำจากค่าธรรมเนียมในธุรกิจบริหารจัดการกองทุนน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถลดความผันผวนของกำไรลงไปได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ที่ปรับความเสี่ยงถัวเฉลี่ยของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.5% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าโดยอยู่บนสมมติฐานที่กำไรจากตราสารทางการเงินจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับที่รายงานในปี 2562

  • การบริหารความเสี่ยงอยู่ในระดับที่เหมาะสม

บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ยังคงได้รับทั้งการสนับสนุนและแนวทางการบริหารความเสี่ยงจาก KGI Group ในด้านความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ระบบการซื้อขายอัตโนมัติ กลยุทธ์การซื้อขาย และการบริการความเสี่ยง ในขณะเดียวกันบริษัทยังมีการพัฒนารวมทั้งกำหนดนโยบายและกระบวนการบริหารความเสี่ยงของตนเองที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานโดยได้กำหนดระดับความเสี่ยงที่รับได้และระบบตรวจสอบความเสี่ยงของตลาดตามเวลาจริง (Real Time) ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีการบริหารความเสี่ยงอยู่ในระดับที่เหมาะสมแม้ว่าจะมีความเสี่ยงในระดับปานกลางก็ตาม

บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ได้ทำการพัฒนาและปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงหลังจากเกิดการขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยงของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในปี 2563 บริษัทยังได้ทำการปรับปรุงลักษณะของผลิตภัณฑ์และปัจจัยในการคำนวณราคาของ DW เพื่อรองรับความเสี่ยงที่มีขอบเขตกว้างขึ้นอีกด้วย การบริหารเงินลงทุน (Proprietary Trading) ของบริษัทประกอบไปด้วยการซื้อขายแบบมีทิศทาง (Directional Trading) และการซื้อขายแบบไม่มีทิศทาง (Non-directional Trading) ส่วนการบริหารเงินลงทุนของบริษัทนั้นมีการทำธุรกรรมผ่านระบบการซื้อขายอัตโนมัติซึ่งมีการควบคุมปริมาณธุรกรรมให้อยู่ในขอบเขตที่กำหนด

  • สถานะเงินทุนอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ส่วนสถานะสภาพคล่องยังคงเพียงพอ

ทริสเรทติ้งประเมินให้สถานะเงินทุนของ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพ (Gross Stable Funding Ratio ? GSFR) เฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก 5 ปี (2563-2567) อยู่ที่ระดับประมาณ 140% ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งก็พิจารณาว่าสถานะสภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่เพียงพอเนื่องจากบริษัทมีวงเงินสินเชื่อที่มากพอจากสถาบันการเงินหลายแห่งเพื่อช่วยส่งเสริมความยืดหยุ่นทางการเงินซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับระดับการดำเนินงานและแผนการขยายธุรกิจในปัจจุบัน

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2565-2567 ดังนี้

อัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.03%-0.04%

อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิจะอยู่ที่ระดับประมาณ 42%-43% ในระหว่างปี 2565-2567

อัตราส่วนกำไรก่อนหักภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.5% ในระหว่างปี 2565-2567

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงเพิ่มความหลากหลายของแหล่งที่มาของรายได้ต่อไปด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ธุรกิจที่สร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมและการรักษาความสามารถในการทำกำไรให้อยู่ในระดับที่ดี นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะรักษาฐานเงินกองทุนที่แข็งแกร่งจากการมีระดับกำไรที่มีเสถียรภาพและการจ่ายเงินปันผลในระดับที่เหมาะสม รวมถึงระบบการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมอีกด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจมาจากการที่บริษัทสามารถเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่สถานะทางธุรกิจได้อย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม การปรับลดอันดับเครดิตก็อาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีฐานทุนซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลาที่ต่อเนื่องซึ่งอาจเกิดจากการขาดทุนที่ทำให้ส่วนทุนลดลงหรือจากการขยายตัวของงบดุลอย่างรวดเร็วจากการขยายธุรกิจเชิงรุก

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่มีต่อสถานะเครดิตของ KGI Group หรือมุมมองของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับสถานะของบริษัทที่มีต่อ KGI Group ที่เปลี่ยนไปก็อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ