นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยในงานสัมมนา " Battle Strategy IV : STARTUP SME TO MEGATREND" ในหัวข้อ แข็งแกร่งแบบมหาชน ว่า การเติบโตไปข้างหน้า จะต้องทำธุรกิจที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นจำนวนมาก และสามารถเพิ่มมูลค่า (value added) ในขณะเดียวกันต้องเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของบริษัทฯ
นอกจากนี้ผู้บริหารจะต้องปรับตัวอยู่เสมอ เพื่อให้ทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และเติบโตต่อไปในอนาคต อีกทั้งต้องกล้าเปลี่ยนตัวเองเพื่อเข้าระดมในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มฐานทุน สร้างการเติบโตอย่างมั่นคง รวมถึงยังต้องปรับปรุงตัวเอง เพื่อเริ่มธุรกิจใหม่ๆ หรือเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจ อีกทั้งการทำธุรกิจ ไม่เพียงแค่การมุ่งเน้นที่วอลุ่ม แต่ให้เน้นในเรื่องของคุณภาพ ปริมาณ และมาร์จิ้นด้วย ซึ่งหากสามารถขยายไปทำในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ ความสามารถในการแข่งขันการทำกำไรก็จะดีขึ้นตามลำดับ
ทั้งนี้บริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานสะอาดมาอย่างยาวนาน โดยเริ่มจากไบโอดีเซล โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม วินด์ฟาร์ม จนมาถึงปัจจุบันก็ได้เริ่มขยายไปสู่การผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Lithium-Ion Battery) และเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ ทรานสปอร์ต หรือรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องของพลังงานสะอาด ขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น และเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มากขึ้น ส่งผลให้บริษัทฯ มีการเติบโตมากขึ้น
อย่างไรก็ตามมอง EA ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่มีความท้าทายของบริษัทฯ เนื่องจากต้องการเข้าไปอยู่ในธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี ใช้ intelligent ของคน หรือนวัตกรรมใหม่ในธุรกิจที่ยังไม่มีใครเข้าไปทำมากนัก ทำให้ต้องใช้ความกล้าและจินตนาการ แต่หากทำสำเร็จ และมีฐานลูกค้าที่กว้าง จะทำให้ EA เข้าไปอยู่ในธุรกิจที่มีโอกาสในการทำกำไรสูง นอกเหนือจากประเทศไทย
ขณะเดียวกันยังมีความท้าทายจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ไม่เสถียร ทั้งการทำสงครามระหว่างชาติตะวันออกและตะวันตก สงครามรัสเซีย ยูเครน ส่งผลทำให้การขยายกิจการ การทำสินค้าใหม่ๆ มีความท้าทายมากขึ้น ส่วนราคาวัตถุดิบที่มีความผันผวนสูง EA ได้มีการทำธุรกิจที่มี value added จึงชดเชยกับราคาวัตถุดิบที่ผันผวนได้พอสมควร
นางสาวราชสุดา รังสิยากูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการโครงการ ORion บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริบทของธุรกิจมีความเปลี่ยนแปลงไปซึ่งจะเริ่มเห็นการดำเนินธุรกิจที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะเป็นการกระจายความเสี่ยง ซึ่งหลังจากนี้จะเห็นการประกอบธุรกิจของ OR ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะมีการประกอบธุรกิจใหม่ๆที่นอกเหนือจากน้ำมัน
ซึ่งมองว่าการดำเนินกิจการของบริษัทจะเป็นการร่วมมือกันธุรกิจ ด้วยการนำจุดแข็งของแต่ละคนเข้ามาร่วมกันเพื่อที่จะให้มีการเติบโตไปร่วมกัน โดยจะนำผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ หรือ SMEs เข้ามาร่วมธุรกิจกัน จึงเป็นที่มาของคำว่า OR เท่ากับโอกาส ด้วยนโยบาย 3 มิติ คือ 1.People ในเรื่องของการทำให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น 2.Planet สิ่งแวดล้อมต้องดีขึ้น และ 3.Profit ผลตอบแทนที่จะตามมา ซึ่งต้องสร้างสมดุลของทั้งสามข้อ
ทั้งนี้ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จาก 3P ที่บริษัทวางไว้คือ 1.ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ หรือ SMEs เข้ามาร่วมธุรกิจกัน 2.ลูกค้า และ 3. คือ OR โดยการสร้างผลกำไรในมิติของ 3P บริษัทจะมุ่งเน้นให้เกิดต่อผู้มีส่วนได้เสียในทุกกลุ่มของ OR มีทั้ง ประเทศ สังคม ชุมชน คู่ค้า ผู้ถือหุ้น และครอบครัว พนักงาน
โดยการก้าวกระโดดร่วมไปกับ OR นั้นจะต้องมีความเชื่อในเรื่องของ Synergy คือ 1+1 ต้องไม่เท่ากับ 2 ซึ่งต่างฝ่ายจะต้องนำจุดแข็งเข้ามาต่อยอดซึ่งกันและกัน เอาจุดแข็งมารวมกันทำให้ OR และ พันธมิตรทางธุรกิจเข้าสู่ตลาดได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากกว่าผู้เล่นรายอื่นๆ อาทิเช่น การเข้ามาใช้คลังสินค้าร่วมกัน งบการตลาดร่วมกัน หรือ ระบบการขนส่งร่วมกัน ต้นทุนก็จะปรับตัวลดลงทันที การใช้จ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
"ตอนนี้สิ่งที่ OR กำลังทำคือ แสวงหาก่อนว่าใครจะมีศักยภาพ อันดับที่สองเมื่อเจอแล้วเราก็จะต้องติดอาวุธให้กับเค้า ธรรมชาติของ SMEs หรือ สตาร์ทอัพ แน่นอนว่าทำธุรกิจใหม่ๆเอาให้รอดก่อน ซึ่งปัจจัยสำคัญก่อนเลยที่จะทำให้รอดคือความเป็นมาตรฐาน ทั้งเรื่อง บริหารคน บริหารงาน ภาษี เงิน กฎหมาย ต่างๆเหล่านี้ นี่คือสิ่งที่ OR จะเข้าไปทำให้เค้าเป็นมืออาชีพมากขึ้น" นางสาวราชสุดา
นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) กล่าวว่า บริษัทฯ วางกลยุทธ์การเติบโตแบบก้าวกระโดด (Aggressive) ผ่านการทำธุรกิจแบบกินแบ่ง เพื่อคนตัวเล็ก และเป็นผู้ที่มีข้อจำกัดในการร่วมธุรกิจน้อย ทำให้มั่นใจว่ารายได้ปีนี้จะเติบโตแตะ 5,000-5,500 ล้านบาท จากปีก่อน 2,300 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 66 จะเติบโตแตะ 20,000 ล้านบาท เป็นไปตามการเติบโตของ 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ Financial Inclusion, Retail, Payments, Solutions and Channels, Innovation and Infrastructure