บล.พาย ประเมินว่า ทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ประเมินกรอบสัปดาห์นี้ 1,560-1,585 จุด โดยมองแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดปรับลงมาสะท้อนความกังวลทั้งเงินเฟ้อและดอกเบี้ยไปสมควร สะท้อนจากการปรับลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 และ 10 ปี ส่วนปัจจัยที่จะมีผลอย่างมีนัยสำคัญของตลาดจะอยู่ช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ก.ค.65 (เงินเฟ้อ)
เชิงกลยุทธ์การลงทุนยังชอบหุ้นโรงไฟฟ้า (BGRIM GULF GPSC RATCH) หนุนจากราคาก๊าซ และ US Bond Yield ปรับลง รวมถึงหุ้นมีปัจจัยบวกเฉพาะ (SCGP) นอกจากนี้ ยังแนะค้าปลีก (BJC CPALL) รวมถึงท่องเที่ยว (AOT CENTEL ERW MINT)
ทั้งนี้ วันศุกร์ที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นแรง 2.68% ตลาดผ่อนคลายกับภาวะดอกเบี้ยหลังตัวเลขเศรษฐกิจออกมาอ่อนแอประกอบกับช่วงที่ผ่านมาราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายๆ อย่างปรับลงช่วยคลายกังวลภาวะเงินเฟ้อ (น้ำมัน ถ่านหิน) โดยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ประกาศออกมาในวันศุกร์ ได้แก่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนออกมาที่ 50 ต่ำกว่าตลาดประเมินที่ 50.2 ขณะเดียวกันได้ประกาศดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ 53.8 ต่ำกว่าตลาดประเมินที่ 55.4 และต่ำสุดในรอบ 12 ปี อย่างไรก็ตาม สหรัฐรายงานยอดขายบ้านมือหนึ่งที่ 6.96 แสนหลังคาเรือน ดีกว่าตลาดประเมินที่ 5.9 แสนหลังคาเรือน
ด้านราคาน้ำมันดิบ BRT กลับมาปิดบวก 2.8% หลังมีรายงานออกมาว่ากำลังการผลิตบางส่วนจากลิเบียได้หายไป เนื่องจากมีการประท้วงทางการเมืองเพิ่มขึ้น ระยะสั้นเป็นบวกต่อกลุ่มน้ำมัน (PTTEP)
ขณะที่สัปดาห์นี้ ปัจจัยหลักจะเน้นไปที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ
1. การรายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CB) ในวันอังคารที่ 28 มิ.ย. 65 ซึ่งBloomberg ประเมินที่ 100
2. การรายงานดัชนี PCE สำหรับเดือน พ.ค.ในคืนวันที่ 30 มิ.ย. 65 ตามเวลาประเทศไทย Bloomberg คาดการณ์ที่ 6.4% YoY , 0.7% MoM และ Core PCE (ดัชนีราคาที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน) 4.8% YoY , 0.4% MoM หากประกาศออกมาแล้วต่ำกว่าตลาดคาดหมายไว้จะเป็นบวกกับบรรยากาศการลงทุน
3. การรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในวันศุกร์ Bloomberg ประเมินที่ 54.7 สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯทั้งหมดประเมินว่าต่ำกว่าคาดจะดีกว่า เพราะหากเร่งแรงกว่าคาดตลาดจะกลับมากังวลกับเงินเฟ้อ
ส่วนปัจจัยภายในประเทศจะมีการรายงานการค้าระหว่างประเทศ Bloomberg คาดการณ์มูลค่าส่งออกจะขยายตัว 8.4%YoY และนำเข้าขยายตัว 17.9% YoY พร้อมประเมินดุลการค้าจะขาดดุล 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มองเป็นลบต่อค่าเงินบาทที่ยังคงแนวโน้มอ่อนค่า รวมถึงมีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะขายต่อเนื่อง