ทริสฯ คงอันดับเครดิต TFG ที่ BBB,หุ้นกู้ค้ำประกันที่ AAA แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 29, 2022 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) ที่ระดับ "BBB" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ของบริษัทที่ได้รับการค้ำประกันเต็มจำนวนโดย Credit Guarantee and Investment Facility (CGIF) ที่ระดับ "AAA" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"

ทั้งนี้ อันดับเครดิตหุ้นกู้ของบริษัทสะท้อนถึงคุณภาพเครดิตของ CGIF ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ "AAA/Stable" จากทริสเรทติ้งในฐานะที่ CGIF เป็นผู้ค้ำประกันตราสารหนี้ของบริษัท

อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทสะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งที่มีต่อการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของอุปสงค์ด้านผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ภายในประเทศจากผลของการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) อีกทั้งยังสะท้อนถึงสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้นและการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพของบริษัทอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความผันผวนของผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนความแปรปรวนของราคาอาหารสัตว์ และการก่อหนี้เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายลงทุนจำนวนมากของบริษัท

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • ผลการดำเนินงานทางการเงินปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2564 ได้รับแรงกดดันจากผลกระทบของมาตรการปิดเมือง (Lockdown) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ โรคโควิด 19 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ผนวกกับต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ มาตรการปิดเมืองส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในโรงงานแปรรูปอาหารหลาย ๆ แห่งและอุปสงค์ที่ลดลงของผู้บริโภคก็ส่งผลให้ราคาสัตว์บกลดลงด้วย

อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 10.3% ในปี 2564 จาก 14.7% ในปี 2563 ทั้งนี้ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในปี 2564 ลดลง 32.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมาอยู่ที่ระดับ 3.4 พันล้านบาท ในขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ก็ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 9.7% ในปี 2564 จากระดับ 16% ในปี 2563

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 แม้ราคาขายเฉลี่ยของอาหารสัตว์จะปรับตัวสูงขึ้น 12%-23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามรายงานของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย แต่บริษัทก็ยังคงสามารถปรับปรุงสัดส่วนของผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เพื่อชดเชยกับต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ ดังนั้น อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจึงยังคงอยู่ในระดับที่ดีในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาอยู่ที่ระดับ 1.5 พันล้านบาท

ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทในปี 2565 จะปรับตัวกลับมาดีขึ้น แม้ว่าต้นทุนอาหารสัตว์ยังคงอยู่ระดับสูง แต่ราคาปศุสัตว์ส่วนใหญ่ก็อยู่ในระดับสูงเช่นกันเนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก

ทั้งนี้ รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะเติบโตที่ระดับ 20% ในปี 2565 และหลังจากนั้นจะเติบโตที่ระดับ 6%-7% ต่อปีในระหว่างปี 2566-2567 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการเติบโตของรายได้ในธุรกิจปศุสัตว์และธุรกิจอื่น ๆ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทน่าจะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 10%-12% ในช่วงปี 2565-2567 อีกด้วย

  • การฟื้นตัวของอุปสงค์จากตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก ตลาดภายในประเทศยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท ยอดขายในประเทศไทยมีสัดส่วนคิดเป็น 75%-80% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2564 จนถึงช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 ยอดส่งออกของบริษัทเติบโตที่ระดับ 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอันสืบเนื่องมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่เริ่มฟื้นตัวในหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศญี่ปุ่นและจีนรวมถึงประเทศในทวีปยุโรป

ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายภายในประเทศของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 14% เมื่อเทียบกับปีก่อนโดยมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3.17 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และจะอยู่ที่ระดับ 3.5-3.8 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567 ทั้งนี้ บริษัทคาดว่ายอดขายจากการส่งออกในปี 2565 จะเติบโตที่ระดับ 45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และจะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 9 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2567.

  • เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ บริษัทเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารในประเทศไทยโดยดำเนินธุรกิจแบบกึ่งครบวงจร (Vertically Integration) ในธุรกิจไก่เนื้อและสุกร บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดใกล้เคียงกับผู้ประกอบการขนาดกลางส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ โดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจอาหารสัตว์คิดเป็นประมาณ 10% ในผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อ 11% และในผลิตภัณฑ์สุกร 7% ในขณะที่ผู้นำตลาดในประเทศไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 1 ใน 3 ของธุรกิจอาหารสัตว์และสินค้าจากปศุสัตว์ ในปี 2564 ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นโดยบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอาหารสัตว์และธุรกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจค้าปลีกที่เพิ่มสูงขึ้น ในอนาคตข้างหน้าบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะขยายสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมธุรกิจที่มีอัตรากำไรสูงให้มากขึ้นซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์จากสุกร สินค้าส่งออก และร้านค้าปลีก
  • ภาระหนี้ทางการเงินปรับตัวเพิ่มขึ้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 61.6% ณ สิ้นปี 2564 จากระดับ 47.5% ณ สิ้นปี 2563 แต่ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 60.3% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 เนื่องจากบริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแรงขึ้นจนสามารถใช้ชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้นได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม บริษัทวางแผนงบลงทุนไว้ทั้งสิ้นที่ระดับ 3.5-5.0 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567 ซึ่งสูงกว่าระดับ 1.5-3.2 พันล้านบาทในช่วงปี 2563-2564 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายลงทุนที่บริษัทวางแผนไว้ดังกล่าวจะใช้ในการขยายกำลังการผลิตในธุรกิจปศุสัตว์ ธุรกิจอาหารสัตว์ และลงทุนในร้านค้าปลีก ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 59% ในปี 2565 และจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 56%-57% ในระหว่างปี 2566-2567
  • กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อยู่ในระดับที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งคาดว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดในช่วงระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 752 ล้านบาท ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 4.4 พันล้านบาทในปี 2565 โดย ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดรวมกันทั้งสิ้นจำนวน 523 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่อีกจำนวน 9.2 พันล้านบาท

ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 20%-23% ในช่วงปี 2565-2567 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 7-8 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน

  • สถานะทางเครดิตของ CGIF อันดับเครดิตของ CGIF สะท้อนถึงสถานะของ CGIF ที่เป็นสถาบันระหว่างประเทศ (Supranational Institution) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลของกลุ่มประเทศอาเซียนกับประเทศนอกกลุ่มอาเซียนอีก 3 ประเทศ (ASEAN+3) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ซึ่งเรียกรวมกันว่า "กลุ่มผู้ร่วมทุน" (Contributors) ทริสเรทติ้งมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ CGIF จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากสมาชิกหลักของกลุ่มผู้ร่วมทุนในยามที่มีปัญหาทางการเงิน นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงเงินทุนที่แข็งแกร่ง ตลอดจนกรอบนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่ระมัดระวัง และสภาพคล่องที่แข็งแรงของ CGIF อีกด้วย

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

  • รายได้จะเติบโตที่ระดับ 20% ในปี 2565 และจะเติบโตที่ระดับ 6%-7% ต่อปีในระหว่างปี 2566-2567
  • อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับ 13%-15% และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับประมาณ 10%-12% ในระหว่างปี 2565-2567
  • ค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.5-5.0 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะในการแข่งขันในธุรกิจไก่และสุกรภายในประเทศเอาไว้ได้ อีกทั้งยังคาดว่าบริษัทจะรักษาสถานะเครดิตในปัจจุบันเอาไว้ได้ในขณะที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการบริหารจัดการแผนการใช้จ่ายและลงทุนที่ค่อนข้างสูงให้บรรลุผลอีกด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" ของตราสารหนี้ที่ได้รับการค้ำประกันของบริษัทสะท้อนถึงคุณภาพเครดิตของผู้ค้ำประกันคือ CGIF

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดได้มากขึ้นพร้อมกับรักษาเสถียรภาพได้อย่างมีสาระสำคัญโดยที่ยังคงรักษางบดุลให้แข็งแรงต่อไปได้ในระยะเวลาที่ยาวนาน นอกจากนี้ การปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังสามารถเกิดได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่เป็นไปตามประมาณการของทริสเรทติ้งและสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายให้ต่ำกว่าระดับ 3 เท่าเป็นเวลานานได้ ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ความสามารถในการทำกำไรหรือผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งอาจปรับลดอันดับเครดิตลงหากบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายสูงเกินกว่าระดับ 5 เท่าอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ อันดับเครดิตตราสารหนี้ที่ได้รับการค้ำประกันของบริษัทอาจเปลี่ยนแปลงหากอันดับเครดิตของผู้ค้ำประกันคือ CGIF มีการเปลี่ยนแปลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ