นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการ TMBAM Eastspring และ Thanachart Fund Eastspring กล่าวในงานสัมมนา Eastspring Exclusive Luncheon Talk: How to seize your investment opportunities when Asia is back on track เจาะลึกโอกาสการลงทุนเอเชีย ว่า ในช่วงเวลานี้ เชื่อว่าเอเชียมีความน่าสนใจ เนื่องจากปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคเอเชียในระยะยาวมีความโดดเด่น ทั้งการเติบโตของการอุปโภคบริโภคในภูมิภาค รวมทั้งนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีและธุรกิจที่เกี่ยวข้องยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ประกอบกับแต่ละประเทศต่างมีปัจจัยเฉพาะตัวที่น่าสนใจ
และเมื่อพิจารณาในรายประเทศ ต่างก็มีความน่าสนใจที่แตกต่างกันไป อย่างในจีนเอง แม้เราจะเห็นว่าเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา แต่ล่าสุดจีนได้ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจจีน ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนพ.ค.เริ่มปรับตัวขึ้น 0.7% ดังนั้นโดยส่วนตัวเชื่อว่า ไม่ว่าอย่างไรรัฐบาลจีน จะต้องใช้นโยบายสนับสนุนด้านเศรษฐกิจเพิ่ม เพื่อให้ครอบคลุมพอที่จะดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 5.5% ตามเป้าหมาย
นอกจากนั้น สำหรับเวียดนาม เราจะพบว่าเศรษฐกิจภาพรวมเติบโตต่อเนื่องและมีปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐอย่างมีนัยยะ ประกอบกับเชื่อว่าหลังจากการฟื้นตัวของการบริโภคจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ให้ไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งมั่นใจว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญให้เวียดนามมีการเติบที่โดดเด่น
ส่วนนายอาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าได้เริ่มให้มุมมองว่าสถานการณ์ความผันผวนที่เกิดขึ้นในตอนนี้ส่วนหนึ่งมาจากสงครามรัสเซียยูเครนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากมองย้อนไปเมื่อต้นปีปัจจัยนี้ไม่ได้มีใครคิดถึง และหลายคนคงไม่ได้คาดคิดว่าปัจจัยนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อในโลกทวีความรุนแรงมากกว่าที่คาดไว้มาก
ในช่วงหนึ่งของการสัมมนานายอาร์ม ได้เปรียบเทียบยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจโลกด้วยผู้ป่วย 3 ราย รายแรก สหรัฐฯ เป็นผู้ป่วยที่ค่าอื่นๆในร่างกายดีทุกอย่าง แต่ความดันสูง เพราะตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆดีมาก แต่กลับมีปัญหาเงินเฟ้อที่หากไม่ควบคุมให้ดีอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาได้ รายที่สอง ยุโรป เปรียบเหมือนผู้ป่วยที่อ่อนแรง ขาดน้ำ ขาดอาหาร ทำให้ฟื้นตัวได้ยาก โดยสาเหตุหลักมาจากสงครามรัสเซียยูเครน ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรกว่าที่จะกลับมาฟื้นตัวได้ และรายสุดท้าย จีน ที่พยายามจะเป็นผู้ป่วยสุขภาพดี ควบคุมทุกอย่าง เพื่อหวังให้สุขภาพระยะยาวแข็งแกร่ง สิ่งที่เห็นได้ชัดสำหรับจีน คือ การควบคุมตัวเองทั้งการกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยี บริษัทอสังหาริมทรัพย์ มาจนถึงนโยบาย Zero Covid ทำให้น่าติดตามว่าการควบคุมและเคร่งครัดกับตัวเองเช่นนี้จะทำให้จีนสุขภาพดีอย่างที่หวังไว้หรือไม่
ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่ามหาอำนาจทางเศรษฐกิจต่างก็กำลังเผอิญกับปัญหาที่แตกต่างกันไป สิ่งที่ควรจับตา คือมาตรการต่างๆที่แต่ละประเทศนำมาใช้ จะช่วยรักษาและทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้หรือไม่
หลังจากนั้น นายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์การลงทุน TMBAM Eastspring ได้กล่าวเสริมว่า ทั้ง สหรัฐฯ ยุโรป และสหราชอาณาจักร กำลังตกอยู่ในภาวะเงินเฟ้อสูง การเติบโตชะลอตัวลง และดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งทำให้มีโอกาสที่จะเข้าสู่ recession ได้ ดังนั้น คำถามสำคัญ คือ แล้วเราจะลงทุนที่ไหนดี
โดยนายบดินทร์ ได้ให้คำตอบไว้ว่า ควรลงทุนในประเทศที่เข้าเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1. ประเทศที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ/ไม่สูง 2. ประเทศที่ยังใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย และ 3. ประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตได้ดีหรือกำลังจะฟื้นตัวกลับมา ซึ่งได้ให้มุมมองไว้ว่า มี 3 ประเทศที่ตรงกับเงื่อนไขดังกล่าวเริ่มด้วยประเทศแรก พบว่า จีน ตรงกับเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ โดยธนาคารกลางจีน หรือ PBoC ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ LPR, MLF และ RRR ขณะที่นโยบายการคลังก็มีออกมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดก็เริ่มกลับมาผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์อีก 1 รอบ ส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว
ประเทศที่สอง คือ ญี่ปุ่น โดยเป็นอีก 1 ประเทศที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ขณะที่ทางธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ก็ยังยืนยันที่จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป ประกอบกับเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ ส่งออก และการบริโภค และประเทศสุดท้าย คือ เวียดนาม โดยเข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อเช่นกัน โดยเงินเฟ้อยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลาง ทำให้ไม่มีแรงกดดันจากนโยบายการเงิน และเศรษฐกิจยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง