บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ประเด็นเรื่องที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปลด Lock ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจ่ายเงินปันผลได้เหมือนในภาวะปกติ พร้อมปรับอัตราการนำส่งเงินเข้า FIDF สู่ระดับปกติเช่นกัน ประเมินว่าแม้ ธปท. จะปลด lock เรื่องการจ่ายเงินปันผล แต่ก็ไม่น่าจะเห็นการปรับเพิ่ม Dividend Payout ของธนาคาพาณิชย์อย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มธนาคาร
โดยฝ่ายวิจัยมองบวกในเรื่องเงินกองทุน แต่มองกลางต่อการยกเลิกข้อจำกัดการจ่ายเงินปันผล เนื่องจากกำไรสุทธิประจำปี (Dividend payout ratio : DPR) เฉลี่ยกลุ่มฯ ปี 64 ไม่มี ธ.พ. ใดเกิน 50% ยกเว้น TISCO ที่เป็น Holding จึงสามารถจ่าย 84% ของกำไรสุทธิ ซึ่ง DPR เป็นไปตามการบริหาร BIS Ratio ของแต่ละธนาคาร เพื่อรองรับการเติบโตด้านสินเชื่อในอนาคต
ขณะที่บล.เคทีบีเอสที ระบุในบทวิเคราะห์ว่า KTBST มีมุมมองเป็นกลางต่อกลุ่มธนาคาร เพราะทุกอย่างอยู่ในประมาณการของเราอยู่แล้ว ขณะที่เรื่องยกเลิกเพดานปันผลเราคาดว่าจะมีธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) (ซื้อ/เป้า 80.00 บาท) ที่จะจ่าย Dividend payout ที่เพิ่มขึ้นได้จากปี 2564 ที่จ่ายเพียง 40% ของกำไรสุทธิ ซึ่งหากกลับไปจ่ายที่ระดับเดียวกันกับปี 2562 ที่ 60% ของกำไรสุทธิได้ ทำให้จะมี upside ต่อเงินปันผลในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 5.30 บาทต่อหุ้น (คิดเป็น Dividend yield ที่ 8%) จากเดิมที่เราคาดไว้ที่ 3.60 บาทต่อหุ้น (คิดเป็น Dividend yield ที่ 5%) แต่เรามองว่ามีโอกาสน้อยเพราะปัจจุบัน KKP ยังคงเน้นการปล่อยสินเชื่ออยู่
และ บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) (ซื้อ/เป้า 150.00 บาท) ที่จะจ่าย Dividend payout ที่เพิ่มขึ้นได้จากปี 2564 ที่จ่ายเพียง 39% ของกำไรสุทธิ ซึ่งหากกลับไปจ่ายที่ระดับเดียวกันกับปี 2562 ที่ 50% ของกำไรสุทธิได้ ทำให้จะมี upside ต่อเงินปันผลในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 5.80 บาทต่อหุ้น (คิดเป็น Dividend yield ที่ 5%) จากเดิมที่เราคาดไว้ที่ 3.40 บาทต่อหุ้น (คิดเป็น Dividend yield ที่ 3%) แต่เรามองว่ามีโอกาสน้อยเพราะปัจจุบัน SCB ยังอยู่ในช่วงของการลงทุนเพิ่มอยู่ ขณะที่ธนาคารอื่นๆจ่ายปันผลตามระดับปกติอยู่แล้ว (Dividend payout เฉลี่ยของกลุ่มอยู่ที่ 30%) ส่วนเรื่อง FIDF Fee เราคาดที่ 0.46% ในปี 2023E ไว้แล้ว และยังคงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวจนถึงปี 2023E ตามคาด
โดยกลุ่มธนาคารเรายังคงให้น้ำหนักเป็น "มากกว่าตลาด" เลือกธนาคารกรุงเทพ (BBL) (ซื้อ/เป้า 167.00 บาท), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) (ซื้อ/เป้า 190.00 บาท) เป็น Top pick
ด้านกลุ่ม Finance เรามองเป็นกลาง แม้ว่าจะมีโอกาสที่ NPL สินเชื่อบัตรเครดิตจะยังทรงตัวในระดับต่ำ และค่าใช้จ่ายสำรองจะลดลง ตามการขยายระยะเวลาจ่ายชำระหนี้ขั้นต่ำ แต่เราประเมินว่าผู้ประกอบการจะยังคงบันทึกค่าใช้จ่ายสำรองที่สูง เพื่อเป็น overlay ซึ่งเป็นประโยชน์ในการบริหารลูกหนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด จากสถานการณ์เงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นสูง และเร็ว
สำหรับกลุ่ม Finance เราคงคำแนะนำ "มากกว่าตลาด" โดยมองว่า KTC (ซื้อ/เป้า 67.00 บาท) จะเป็นผู้ประกอบการที่ได้ผลประโยชน์สูงสุด จากสัดส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตที่สูงถึง 64% ของสินเชื่อรวม