นายปิยสวัสด์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการจะยื่นขอปรับแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันนี้ (1 ก.ค.) หลังจากรายได้มีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าคาดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลงและหลายประเทศรวมถึงไทยได้กลับมาเปิดประเทศให้มีการเดินทางระหว่างประเทศกันมากขึ้น
แผนฟื้นฟูกิจการฉบับเดิม จัดทำขึ้นจากคาดการณ์ว่าบริษัทจะขาดกระแสเงินสด ดังนั้น เป้าหมายหลักของการฟื้นฟูนำเงินทุนใหม่เข้ามาจำนวน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาจากภาครัฐ 2.5 หมื่นล้านบาท และอีก 2.5 หมื่นล้านบาทจากสถาบันการเงิน แต่เมื่อพบว่าการกู้เงินมีความยุ่งยากและซ้ำซ้อน บริษัทจึงได้หาวิธีช่วยเหลือตัวเองก่อนด้วยการขายทรัพย์สินและเครื่องบินเก่าออกไปได้เงินกว่า 9 พันล้านบาท
ประกอบกับ ขณะนี้การเดินทางระหว่างประเทศทำได้มากขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ทำให้ยอดผู้โดยสารฟื้นตัวเร็วมาก โดยจำนวนผู้โดยสารของการบินไทยที่เดินทางต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 64 ที่มีจำนวนไม่ถึง 1,000 คน/วัน มาเป็น 13,000 คน/วัน อัตราขนส่งผู้โดยสารขึ้นมาระดับ 80% ซึ่งหลายเส้นทางก็ขึ้นมาถึงระดับ 90% ส่งผลให้รายได้ในเดือน มิ.ย.65 คาดว่าจะอยู่ที่ 6,800 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ค.65 มาเป็น 8,000 ล้านบาทจากยอดตั๋วล่วงหน้า
ดังนั้น ปัญหาขาดกระแสเงินสดก็ลดลงจากรายได้ขายตั๋วโดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเงินสดในมือช่วงปลายเดือน มิ.ย.65 เพิ่มเป็น 1.4 หมื่นล้านบาท จากเดิมคาดว่าจะมี 5 พันล้านบาท ดังนั้น การกู้เงินจึงไม่ใช่เป้าหมายหลักของแผนฟื้นฟูแล้ว
"พอเห็นการฟื้นตัวชัดเจน ตอนนี้เราต้องการแก้ไขแผนฟื้นฟูอีกครั้ง การกู้เงินลดลง แก้ให้การบินไทยมีความมั่นคงอย่างยั่งยืนจริงๆ และออกจากแผนฯได้ นี่คือที่มาที่จะยื่นแก้ไขแผนฯในวันนี้"
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ในแผนฉบับเดิมที่ต้องการหาเงินทุนใหม่ 5 หมื่นล้านบาทจากภาครัฐและเอกชน จะปรับเป็นให้เป็นเงินกู้ระยะยาวไม่เกิน 6 ปี จำนวน 1.25 หมื่นล้านบาท และเงินกู้ระยะสั้น 1.25 หมื่นล้านบาท โดยเงินกู้ยืมระยะยาวจะให้สิทธิเจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุน แต่ก็อาจจะดูสถานการณ์อีกครั้งหากสภาพคล่องของบริษัทดีขึ้นเร็วก็อาจจะไม่ต้องใช้เงินกู้ส่วนนี้ก็ได้ อาจจะใช้เฉพาะเงินกู้ระยะสั้นก็น่าจะเพียงพอ
เมื่อรวมกับส่วนเจ้าหนี้เดิมที่มีทั้งเจ้าหนี้สถาบันการเงินและเจ้าหนี้หุ้นกู้ รวมมูลหนี้กว่า 1 แสนล้านบาท ให้แปลงหนี้เป็นทุนจำนวนประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 25% ของมูลหนี้ เมื่อรวมกับเงินกู้ระยะสั้น 1.25 หมื่นล้านบาท บริษัทก็จะได้เงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เหมือนกับการเพิ่มทุน และจะช่วยลดการขาดทุนส่วนของทุน
นอกจากนี้ก็ยังเปิดขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมอีก 2.5 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับส่วนที่ได้จากเจ้าหนี้ทำให้บริษัทจะเพิ่มทุนได้ประมษณ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทมั่นใจว่าสามารถทำได้ และทำให้การบินไทยมีส่วนของทุนเป็นบวกในช่วงปลายปี 2567 และหุ้น THAI ก็สามารถกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้งปี 2568