นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ มองดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ครึ่งปีหลังจะแกว่งตัวในกรอบ 1,500-1,680 จุด โดยช่วงไตรมาส 3/65 แม้ว่ายังเผชิญแรงกดดันหลายอย่าง แต่มองเป็นจังหวะในการทยอยสะสมรอบสุดท้ายของปีนี้ เนื่องจากปลายไตรมาส 3/65 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 4/65 ความกังวลต่าง ๆ ที่เคยกดดันตลาดคาดว่าจะทยอยผ่อนคลาย ช่วยผลักดันตลาดฟื้นตัวขึ้นได้
ตลาดหุ้นไทย (SET) ในไตรมาส 3/65 ยังคงได้รับปัจจัยลบต่อเนื่องมาจากไตรมาส 2/65 ทั้งเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นต่อ โดยคาดว่าเงินเฟ้อสหรัฐในเดือน ก.ย.จะปรับตัวขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ +9.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) แล้วค่อย ๆ ปรับตัวเข้าสู่ขาลงตั้งแต่ไตรมาส 4/65 เป็นต้นไป รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสำคัญของโลกหลายแห่ง โดยคาดว่าการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในช่วงปลายเดือน ก.ค.จะขึ้นดอกเบี้ยเชิงรุกที่ 0.75% ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่งปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ขณะที่ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) คาดว่าจะเริ่มต้นวงจรการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ค.นี้
และ กระแสเงินทุนต่างชาติผันผวน โดยต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยเดือน มิ.ย.เป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ด้วยแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในระยะข้างหน้า และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่แย่ลง น่าจะกดดันเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าอยู่ ซึ่งปกติจะเป็นปัจจัยลบต่อกระแสเงินทุนต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงไตรมาส 3/65 บล.ทิสโก้มองว่ามีหลายปัจจัยลบที่ยังกดดันตลาดอยู่ แต่ในช่วงไตรมาส 4/65 ความกังวลต่าง ๆ ที่เคยกดดันน่าจะทยอยผ่อนคลาย โดยหากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ขึ้นแตะระดับสูงสุดในเดือน ก.ย.และเริ่มปรับลงตามที่คาดไว้ จะช่วยให้การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯกลับมาชะลอลงเพื่อประเมินสภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น ผสานกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นแตะระดับเดือนละ 1 ล้านคนขึ้นไปในช่วงไตรมาส 4/65 เป็นต้นไป คาดว่าจะช่วยลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเสถียรภาพค่าเงินบาทในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น และน่าจะเป็นบวกกับกระแสเงินทุนต่างประเทศ
นอกจากนี้ เม็ดเงินลงทุนจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) มักไหลเข้ามากสุดในช่วงไตรมาส 4/65 ของทุกปี โดยเฉพาะในช่วงเดือน พ.ย.และเดือน ธ.ค.น่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนตลาดด้วย
สำหรับวัฎจักรดอกเบี้ยในประเทศที่กำลังจะเข้าสู่ขาขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง บล.ทิสโก้ มองไม่ใช่สิ่งเลวร้าย จากการวิเคราะห์ความอ่อนไหวของหุ้นที่อยู่ภายใต้การวิเคราะห์ทั้ง 136 ตัว (คิดเป็น 75% ของมูลค่าตลาดโดยรวม) ต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายทุก ๆ 0.25% จะมีผลให้กำไรสุทธิโดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.25%
หุ้นที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากวัฎจักรดอกเบี้ยในประเทศเข้าสู่ขาขึ้น คือ กลุ่ม BANK ซึ่งจากการประเมินของ บล.ทิสโก้จะทำให้กำไรทั้งปีของแบงก์ขนาดใหญ่ (BBL, KBANK, KTB) ปรับขึ้นราว +3% ถึง +5% ส่วนแบงก์ที่มีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยสูง (SCB, TTB) อาจมีกำไรเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ประมาณ +1% ถึง +2% ขณะที่หุ้นกลุ่ม FIN และหุ้นที่มีภาระหนี้สูง (High Leveraged Companies) จะเป็นผู้เสียประโยชน์
หากย้อนรอยการขึ้นดอกเบี้ยของไทย 2 รอบล่าสุดเมื่อปี 47 และปี 53 พบว่าก่อนการขึ้นดอกเบี้ยแม้ตลาดหุ้นไทยจะมีความผันผวน ซึ่งน่าจะมาจากความกังวลผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยและกดดันระดับการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมใหม่ แต่หลังจากที่เริ่มเข้าสู่วัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว 1 เดือน, 3 เดือน และ 6 เดือน ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเป็นบวกทุกช่วงเวลา โดยเฉลี่ยอยู่ที่ +6.5%, +13.9% และ +23.9% ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 2 รอบการขึ้นดอกเบี้ยของไทยดังกล่าว ทำให้เงินบาทมีเสถียรภาพในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น และดึงเงินทุนต่างประเทศไหลเข้า
หุ้นเด่นครึ่งปีหลังสำหรับ Big Cap บล.ทิสโก้ แนะนำ BBL, BDMS, BEM, IVL, MAKRO และ MINT / Mid to Small Cap แนะนำ AEONTS, AP, CENTEL, CK, SAPPE และ SMPC