เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดหลายรายที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Satang Pro และ Bitkub ปรับเงินรวมเกือบ 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงโทษทางแพ่งกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลครั้งใหญ่ที่สุดในขณะนี้
โดยปกติแล้วหากกล่าวถึงการลงโทษตามกฎหมาย บุคคลทั่วไปจะนึกถึงการลงโทษทางอาญา เช่น การประหารชีวิต การจำคุก หรือการปรับ (ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการลงโทษทางแพ่ง) เป็นต้น
แต่มาตรการลงโทษทางแพ่ง เป็นการบังคับใช้กฎหมายในรูปแบบใหม่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดเหมือนกับการลงโทษทางอาญา โดยเน้นการลงโทษไปที่เงินหรือทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด โดยเงินหรือทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดดังกล่าวจะไม่ถูกนำไปเยียวยาหรือชำระให้แก่ผู้เสียหายหรือเยียวยาความเสียหายในทางแพ่ง แต่จะนำกลับคืนแก่แผ่นดิน
รูปแบบการลงโทษนี้ เมื่อพิจารณาในทางนิติเศรษฐศาสตร์ หรือความคุ้มค่าในการทำผิดนั้น ๆ ว่าผู้กระทำผิดจะเลือกที่จะทำผิดโดยเห็นแก่ประโยชน์ที่จะได้มา ชั่งน้ำหนักระหว่างความคุ้มค่าหรือประโยชน์เมื่อกระทำความผิดก็จะเป็นการยับยั้งการกระทำความผิดได้
ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 หมวด 9 กำหนดให้มีมาตรการลงโทษทางแพ่ง เพื่อลงโทษสำหรับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกแจ้ง หรือการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น โดยมีคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งเป็นผู้กำหนดโทษ เช่น ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนที่เท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิด หรือชดใช้ค่าใช้จ่ายของสำนักงาน ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดนั้นคืนให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. เป็นต้น โดยคณะกรรมการฯ จะพิจารณาการลงโทษโดยคำนึงถึงความร้ายแรงของการกระทำ ผลกระทบต่อตลาด พยานหลักฐานที่อาจนำมาพิสูจน์ความผิด และความคุ้มค่าในการดำเนินมาตรการนั้น ๆ
การใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง เป็นช่องทางการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจากโทษทางอาญาที่ถูกบังคับใช้โดยปกติอยู่แล้ว กล่าวคือ การบังคับโทษทางอาญาโดยทั่วไปจะต้องพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัยจึงจะลงโทษได้ หรือเพราะพยานหลักฐานที่มักจะอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด
กรณีเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายในการดำเนินคดีในรูปแบบปกติ เพราะความซับซ้อนของธุรกรรม ความรู้ความเข้าใจของผู้บังคับใช้กฎหมาย หรือการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
และ นอกจากนั้นแล้วสำนักงาน ก.ล.ต. ยังอาจเพิ่มเติมความผิดบางฐานเพิ่มเติมโดยใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งได้เอง เพื่อให้เท่าทันและครอบคลุมกับเหตุการณ์ หรือการกระทำความผิดที่อาจส่งผลกระทบต่อนักลงทุนหรือประชาชน เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้กำกับดูแลตามกฎหมายที่แต่เดิมจะมีเครื่องมือทางอาญาในการลงโทษเพียงอย่างเดียวให้มีเครื่องมือเพื่อการลงโทษป้องปรามการใช้ประโยชน์หรือการกระทำใด ๆ ในลักษณะที่เป็นผลร้ายต่อนักลงทุนหรือที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่รวดเร็วและมีคุณภาพมากขึ้น
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)