Decrypto: บริษัทคริปโทฯ เจ๊ง! ยึดทรัพย์-ไม่ยึดทรัพย์ต่างกันอย่างไร

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 11, 2022 12:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลอดระยะเวลาตั้งแต่มีการประกอบธุรกิจ หรือการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล มีบริษัทมากมายที่ต้องประสบกับปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านการเงิน ทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ มีหนี้สินค้างชำระที่ต้องคืนหรือชดใช้ให้แก่เจ้าหนี้ ทั้งเจ้าหนี้สถาบันและเจ้าหนี้บุคคลธรรมดา

หากติดตามข่าวสารแล้วจะพบว่าบางกรณีบริษัทนั้น ๆ ต้องปิดตัวลงแล้วนำทรัพย์สินที่คงเหลืออยู่มาแบ่งกันระหว่างเจ้าหนี้ ซึ่งรวมถึงลูกค้าที่นำเงินหรือสินทรัพย์ไปฝากหรือเก็บไว้ หรือบางกรณีบริษัทนั้น ๆ ก็ได้รับโอกาสให้ดำเนินกิจการต่อไปได้และทยอยคืนทรัพย์สินแก่เจ้าหนี้ ซึ่งอาจสร้างความสับสนกับบุคคลทั่วไปหรือเจ้าหนี้ว่าทั้งสองกรณีมีความเหมือน หรือความแตกต่างกันอย่างไร

โดยปกติแล้วหากบริษัท หรือธุรกิจใด ๆ ประสบพบเจอกับปัญหาทางการเงินจนไม่สามารถประกอบกิจการได้ และมีเจ้าหนี้หรือหนี้อยู่จำนวนมาก ตามกฎหมายแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย หรือฟื้นฟูกิจการ ซึ่งทั้งสองกรณีนั้นเป็นขั้นตอนทางกฎหมายที่จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้หรือทรัพย์สินคืน แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองกรณีมีความแตกต่างกันในรายละเอียดอย่างมาก

การล้มละลาย จะเกิดขึ้นเมื่อมีการร้องต่อศาล ซึ่งโดยปกติแล้วเจ้าหนี้จะเป็นผู้ดำเนินการขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทลูกหนี้ ไม่ให้บริษัทลูกหนี้นั้น ๆ สามารถทำธุรกรรมใด ๆ กับทรัพย์สินของตนเองได้ โดยให้เจ้าพนักงานเข้ามารวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ในขณะนั้นและแบ่งใช้ชำระหนี้หรือคืนเจ้าหนี้แต่ละรายตามสัดส่วน โดยการยึดหรืออายัดและนำมาขายทอดตลาด

ส่วนการฟื้นฟูกิจการนั้น โดยปกติจะเกิดขึ้นเมื่อมีการร้องต่อศาลโดยตัวลูกหนี้เองก็เพื่อรักษาสถานภาพการประกอบธุรกิจเอาไว้ กล่าวคือ บริษัทลูกหนี้นั้น ๆ เมื่อทราบสถานะตัวเองว่าไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้เพราะหนี้มีจำนวนมากและไม่สามารถชำระหนี้ได้ แต่ยังประสงค์จะดำเนินกิจการต่อไปเพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินมาชดใช้หนี้หรือคืนให้แก่เจ้าหนี้ได้ ซึ่งเมื่อศาลมีคำสั่งให้บริษัทลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว ตามกฎหมาย บริษัทลูกหนี้จะได้รับสิทธิการพักชำระหนี้ ทำให้ได้สภาพคล่อง (Liquidity) ทางการเงินให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ตามวิธีการหรือช่องทางตามความประสงค์ได้ภายใต้เงื่อนไขตามกฎหมายหรือแผนฟื้นฟูกิจการ

กระบวนการฟื้นฟูกิจการที่โด่งดังที่สุดในวงการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นหนีไม่พ้นกรณี Mt.Gox ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ปิดตัวลงและเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการโดย Mt.Gox ก็ได้เสนอแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลและเจ้าหนี้ แม้ระยะเวลาจะผ่านมานานนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2011 แต่ในท้ายที่สุดแล้วเจ้าหนี้หรือผู้ที่มีสินทรัพย์อยู่กับ Mt. Gox ก็จะได้รับการชดเชยเป็นจำนวนกว่า 9 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นที่พอใจกับทุกฝ่าย แต่อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหนี้ของ Mt. Gox เลือกใช้กระบวนการล้มละลายดำเนินการแทนก็ไม่แน่ว่าทรัพย์สินของ Mt. Gox ที่จะต้องถูกยึดหรืออายัดมาเพื่อประมูลขายในขณะนั้นจะมีมูลค่าถึง 9 แสนล้านบาทหรือไม่

จะเห็นได้ว่ากระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้นดีกว่ากระบวนการล้มละลาย เนื่องจากการฟื้นฟูกิจการนั้นเปิดโอกาสให้บริษัทลูกหนี้สามารถดำเนินกิจการต่อไป ทำให้เจ้าหนี้มีโอกาสได้รับการชดเชยหรือชดใช้หนี้สินหรือทรัพย์สินมากกว่ากระบวนการล้มละลายที่ไม่แน่กว่าจะนำทรัพย์สินที่เหลือของลูกหนี้มาขายทอดตลาดได้มูลค่ามากน้อยเพียงใด

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)


แท็ก ข่าวสาร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ