ทริสฯจัดอันดับเครดิตองค์กร MAKRO ที่ระดับ A+ แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 11, 2022 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (SACP) สะท้อนถึงสถานะของบริษัทในความเป็นผู้นำในธุรกิจค้าส่ง โดยเฉพาะความสำเร็จในด้านการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการคัดเลือกสินค้าได้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรม ภัตตาคารและธุรกิจจัดเลี้ยง (Hotels, Restaurants, and Catering Operators -- HORECA) ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทยังถูกเสริมจากสถานะของบริษัทย่อยในการเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีก และผู้บริหารพื้นที่เช่าในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาวะการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีก การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อการซื้อสินค้าทางออนไลน์ ตลอดจนสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • เป็นผู้นำในธุรกิจค้าส่ง

สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทเกิดจากความเป็นผู้นำในธุรกิจค้าส่ง ด้วยกลยุทธ์การมุ่งเน้นสินค้าอาหารสด และการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพของบริษัท บริษัทสามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้ค้าปลีกด้านอาหาร และ HORECA ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทได้อย่างดี รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.3 แสนล้านบาทในปี 2564 จากระดับ 1.1 แสนล้านบาทในปี 2555 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยแบบทบต้น (Cumulative Annual Growth Rate -- CAGR) ที่ 7.8% นอกจากนี้ บริษัทยังเสนอสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัทเอง เพื่อนำเสนอสินค้าคุณภาพในราคาที่เหมาะสมแก่ผู้บริโภค ปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัทเท่ากับ 14% ของรายได้รวมของบริษัท โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้จากแบรนด์ของบริษัทมาอยู่ที่ระดับ 20% ของรายได้รวมในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

  • ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ

นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยแล้ว บริษัทได้ขยายสาขาไปยังต่างประเทศตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบันบริษัทมี 2 สาขาในประเทศกัมพูชา 3 สาขาในประเทศอินดีย 1 สาขาในประเทศจีน และ 1 สาขาในเมียนมา สัดส่วนรายได้จากสาขาต่างประเทศเมื่อเทียบกับรายได้รวมของบริษัทยังอยู่ในระดับต่ำคิดเป็น 3% ของรายได้รวมจากธุรกิจค้าส่งของบริษัท อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงมองเห็นโอกาสการเติบโตและตั้งเป้าการเปิดสาขาในต่างประเทศจำนวน 3-8 สาขาต่อปี

  • การขยายตลาดไปยังธุรกิจค้าปลีกด้วยการซื้อกิจการ Lotus?s

บริษัทขยายฐานรายได้และฐานลูกค้าไปยังธุรกิจค้าปลีกด้วยการซื้อกิจการ C.P. Retail Development Co., Ltd. (CPRD) ซึ่งถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด และ Lotus?s Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. ที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดใหญ่หรือไฮเปอร์มาร์เก็ตภายใต้ชื่อ "Lotus?s" ในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ในเดือนตุลาคม 2564 Lotus?s เป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกและเป็นผู้บริหารพื้นที่เช่าในประเทศไทยและมาเลเซีย การรวมกิจการกับ Lotus?s จะช่วยให้บริษัทขยายฐานลูกค้าผ่านทางร้านค้า Lotus?s ซึ่งมีสาขาทั่วประเทศ และขยายฐานไปยังธุรกิจ Business-to-Consumer (B2C) ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าหลักคือผู้บริโภครายย่อย บริษัทจะได้รับประโยชน์ร่วมจากการมีฐานลูกค้าร่วมกับ Lotus?s

  • การเติบโตจากช่องทางจำหน่ายที่หลากหลาย (Omnichannel)

ด้วยรากฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและความชำนาญในธุรกิจ Business-to-Business (B2B) กอปรกับการลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศจำนวนมาก บริษัทคาดว่าช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลายและแอปพลิเคชั่นใหม่จะช่วยเป็นปัจจัยเร่งการเติบโตของยอดขายของบริษัทในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า บริษัทได้พัฒนา "maknet" ออนไลน์แอปพลิเคชั่น เพื่อเสริมสถานะความแข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจ B2B ปัจจุบันรายได้จากช่องทางออนไลน์ของบริษัทคิดเป็น 13% ของรายได้รวม บริษัทตั้งเป้าการเติบโตและเพิ่มสัดส่วนเป็น 15% ของรายได้รวมในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

  • ผลการดำเนินงานมีเสถียรภาพและคาดว่าจะเติบโตมากขึ้นในอนาคต

บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีและมีเสถียรภาพที่มั่นคงท่ามกลางผลกระทบที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด 19 และเศรษฐกิจที่ซบเซา ทริสเรทติ้ง คาดว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจค้าส่งจะยังคงดีอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกของ Lotus?s จะฟื้นตัวอย่างมีนัยยะตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโรคโควิด 19

รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 3%-4% ในปี 2563-2564 ในขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) อยู่ที่ระดับ 5%-6% แม้ว่ายอดขายและกำไรจากกลุ่มผู้ประกอบการทางด้านอาหารจะลดลง แต่บริษัทก็ได้รับอานิสงส์จากการกักตุนอาหาร และความนิยมในการประกอบอาหารเองที่บ้านในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค

การซื้อกิจการ Lotus?s จะช่วยเสริมในการขยายขนาดธุรกิจ ฐานรายได้ และกำไร ให้แก่บริษัทอย่างมาก ภายหลังการซื้อกิจการ รายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวมาอยู่ที่ระดับ 4.6 แสนล้านบาทในปี 2565 จากระดับ 2.2 แสนล้านบาท ในขณะที่ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA จะอยู่ที่ระดับ 3.3 หมื่นล้านบาทในปี 2565 จากระดับ 1.2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่า รายได้รวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 73% ในปี 2565 จากการรวมงบการเงินเต็มปี และรายได้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 7%-9% ต่อปีในปี 2566-2567 โดยเพิ่มขึ้นจากช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลาย การเปิดสาขาใหม่ ๆ และการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนรายได้ค่าเช่า

แม้ว่าบริษัทจะเผชิญความท้าทายหลากหลายประการ ทั้งจาก อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงแบรนด์ และการลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศจำนวนมาก ทริสเรทติ้งคาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นได้จากกลยุทธ์ของบริษัทในการมุ่งเน้นสินค้าอาหารสด ตลอดจนการมีช่องทางจำหน่ายที่หลากหลาย เราคาดว่า อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 7%-8% และ EBITDA คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.3-4.3 หมื่นล้านบาทในปี 2565-2567

  • ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อกิจการ Lotus?s

ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการรวมงบการเงินของ CPRD และธุรกิจ Lotus?s ในประเทศไทยและประเทศมาเลเซียในปี 2564 หนี้สินทางการเงินของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.2 แสนล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2565 จากระดับ 6.7 พันล้านบาทในปี 2563 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.7 เท่า (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน) ในไตรมาสแรกของปี 2565 เทียบกับระดับ 0.5 เท่าในปี 2563

ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1-1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีสำหรับธุรกิจค้าส่งแม็คโคร และ 1.1-1.3 หมื่นล้านบาทต่อปีสำหรับธุรกิจ Lotus?s ในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย แม้ว่าจะมีขนาดการลงทุนขนาดใหญ่ แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 3-4 เท่าในปี 2565-2567 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 30%-32% จากฐานธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และการได้รับประโยชน์จากการซื้อกิจการ

  • มีสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ

ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทจะมีเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 แหล่งเงินทุนของบริษัท ประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 5.7 หมื่นล้านบาทและคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทในปี 2565 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งประเมินว่าเงินสดในมือและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทมีเพียงพอสำหรับใช้ในการชำระหนี้ที่จะครบกำหนดและเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายตามแผนลงทุนรวมประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท

  • สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 73% ในปี 2565 จากการรวมงบการเงินของ Lotus?s และจะเติบโตที่ระดับ 7%-9% ต่อปีในช่วงปี 2566-2567

EBITDA Margin ที่ปรับปรุงแล้วจะอยู่ที่ระดับประมาณ 7%-8% ในระหว่างปี 2565-2567

ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.3-2.6 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำและผลการดำเนินงานที่ดีไว้ได้ แม้ว่าจะเผชิญความท้าทายทางธุรกิจหลากหลายประการ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาระดับหนี้ที่เหมาะสมไว้ได้แม้ว่าจะขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องก็ตาม

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

ด้วยสถานะที่เป็นบริษัทในเครือที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระดับสูงของบริษัทแม่คือบริษัท ซีพี ออลล์ อันดับเครดิตของบริษัทจะถูกจำกัดด้วยอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท ซีพี ออลล์ อย่างไรก็ตาม หากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (SACP) ลดลงต่ำกว่าอันดับเครดิตของบริษัทแม่ อันดับเครดิตของบริษัทก็อาจจะมีระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของแม่ 1 ขั้น ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่มีต่ออันดับเครดิตของบริษัท ซีพี ออลล์ ก็จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน

อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ หรือบริษัทมีการก่อหนี้เพื่อขยายการลงทุนจำนวนมากจนส่งผลกระทบทำให้โครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมาก ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 8 เท่าเป็นระยะเวลานาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ