ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ที่ระดับ "A+" ด้วยแนวโน้มอันดัเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นบริษัทในเครือซึ่งมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระดับสูง (Highly Strategically Important Affiliate) ของ บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) (ได้รับการจัดอันดับเครดิต "A+/Stable" จากทริสเรทติ้ง) และผลการประเมินอันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile -- SACP) ของบริษัทโดยทริสเรทติ้งที่ระดับ "a+"
ในการนี้ สถานะของบริษัทที่มีต่อกลุ่ม CPALL สะท้อนมุมมองของทริสเรทติ้งที่เห็นว่าบริษัทมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อกลุ่มในแง่ที่มีสถานะเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีก ตลอดจนการมีสัดส่วนกำไรที่มีนัยสำคัญต่อกลุ่ม
อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดใหญ่หรือไฮเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยของบริษัท ทั้งนี้ ขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของบริษัทยังมีปัจจัยเสริมความแข็งแกร่งจากการมีพื้นที่เช่าในทำเลที่ดีและลักษณะของธุรกิจค้าปลีกที่สร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวก็ถูกลดทอนจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคไปสู่การซื้อสินค้าทางออนไลน์ รวมถึงความท้าทายจากภาวะเงินเฟื้อและสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
- เป็นผู้นำในธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตด้วยเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทเกิดจากสถานะผู้นำและผลงานที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจค้าปลีก รวมถึงการมีเครือข่ายสาขาที่ครอบคลุมทั่วประเทศและความรู้ความชำนาญในตลาดค้าปลีกของบริษัท
บริษัทดำเนินธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket Chain) ภายใต้แบรนด์ "Lotus?s" (เดิมชื่อ "Tesco Lotus") ในประเทศไทย ทั้งนี้ Lotus?s มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยโดยบริษัทมีร้านค้าไฮเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 224 สาขา หรือคิดเป็น 43% ของร้านค้าไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมดในประเทศ
นอกจากร้านค้าไฮเปอร์มาร์เก็ตแล้ว บริษัทยังมีเครือข่ายร้านค้าขนาดกลางคือร้านซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กซึ่งอยู่ภายใต้ชื่อ "Go Fresh" อีกด้วย ทั้งนี้ ร้านค้าขนาดใหญ่หรือไฮเปอร์มาร์เก็ตให้บริการสินค้าที่หลากหลายทั้งในกลุ่มอาหารและสินค้าอุปโภค ในขณะที่ร้านค้าขนาดกลางและเล็กนั้น มุ่งเน้นการจำหน่ายอาหารสดเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชุมชน
- มีสถานะด้านการแข่งขันที่ดีในธุรกิจพื้นที่ให้เช่า บริษัทมีประสบการณ์และผลงานที่ได้รับการยอมรับในด้านการบริหารจัดการพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ให้เช่า โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีพื้นที่ให้เช่าจำนวนทั้งสิ้น 0.7 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) และมีอัตราการเช่าที่สูงเกินกว่า 90%
รายได้จากพื้นที่ให้เช่าคิดเป็น 5%-7% ของรายได้รวมของบริษัทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในช่วงก่อนการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) นั้น รายได้จากพื้นที่ให้เช่าของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ระดับประมาณ 4% ต่อปีซึ่งเป็นผลมาจากการขยายสาขาและการปรับเพิ่มค่าเช่า อย่างไรก็ตาม รายได้จากพื้นที่ให้เช่ากลับลดลงอย่างมากในช่วงระหว่างปี 2563-2564 จากผลของการปิดร้านค้าและการลดค่าเช่าพื้นที่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้บริษัทมีรายได้ค่าเช่าอยู่ที่ระดับ 9.3 พันล้านบาทในปี 2564 ลดลง 30% จากระดับ 1.3 หมื่นล้านบาทในช่วงก่อนเกิดโรคโควิด 19
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากพื้นที่ให้เช่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการลดลงของผลกระทบจากโรคโควิด 19 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าการปรับปรุงตกแต่งพื้นที่ให้เช่าและการมีศูนย์การค้าในรูปแบบใหม่ ๆ ของบริษัทน่าจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้แก่ผู้บริโภคอีกทั้งยังจะทำให้อัตราการเช่าพื้นที่และค่าเช่าของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากพื้นที่ให้เช่าของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นกลับมาอยู่ที่ระดับ 1-1.2 หมื่นล้านบาทในระหว่างปี 2565-2567
- กลยุทธ์การเพิ่มรายได้และกำไรจากการผสมผสานสัดส่วนของประเภทสินค้าที่ดีขึ้น บริษัทมีกลยุทธ์ในการเพิ่มรายได้และกำไรโดยมุ่งเน้นการจำหน่ายอาหารสดซึ่งเป็นสินค้าที่เติบโตเร็ว ทั้งนี้ ด้วยกลยุทธ์การปรับปรุงแบรนด์ "Go Fresh" บริษัทมุ่งเน้นการจำหน่ายสินค้าอาหารสดเพิ่มมากขึ้นในร้านค้าทุกรูปแบบของบริษัทเพื่อที่จะตอบสนองอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค รวมทั้งการผสานประโยชน์ร่วมกันกับบริษัทแม่คือ บมจ. สยามแม็คโคร และบริษัทในเครือคือ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
นอกจากกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสดแล้ว บริษัทยังจะเน้นให้บริการสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัทเองด้วย ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเองอยู่ที่ระดับ 20% ของรายได้รวม โดยสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัทครอบคลุมสินค้าหลากหลายประเภทตั้งแต่กลุ่มสินค้าคุ้มค่าไปจนถึงกลุ่มสินค้าพรีเมียม ทั้งนี้ บริษัทต้องการที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัทเองโดยการปรับปรุงคุณภาพและประเภทของสินค้าเพื่อที่จะเพิ่มรายได้และอัตรากำไรให้แก่บริษัท
- ผลการดำเนินที่คาดว่าจะฟื้นตัว ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนลงอย่างมีนัยสำคัญจากผลกระทบของสถานการณ์โรคโควิด 19 โดยรายได้ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.7 แสนล้านบาทในปี 2564 จากระดับประมาณ 1.9 แสนล้านบาทในช่วงก่อนเกิดโรคโควิด 19 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 2 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ลดลงจากระดับ 2.1-2.6 หมื่นล้านบาทในช่วงก่อนเกิดโรคโควิด 19
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวฟื้นกลับมาดีขึ้น ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโต 7%-8% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2567 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการจัดสัดส่วนของประเภทสินค้าที่ดีขึ้น รวมทั้งยอดขายจากการเปิดสาขาใหม่ และรายได้จากพื้นที่ให้เช่าที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรของบริษัทน่าจะยังคงได้รับแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงแบรนด์ของบริษัทและการลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในช่วงระยะ 2-3 ปีข้างหน้าต่อไป ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 11%-12% และ EBITDA คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2-2.6 หมื่นล้านบาทในระหว่างปี 2565-2567
- ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากการจ่ายเงินปันผล ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการจ่ายเงินปันผลจำนวนมากให้แก่ผู้ถือหุ้นจากการจัดโครงสร้างเงินทุนภายใต้นโยบายของกลุ่ม โดยในปี 2564 บริษัทได้กู้เงินจากธนาคารจำนวนประมาณ 8.2 หมื่นล้านบาทและจ่ายเงินปันผลให้แก่ C.P.Retail Development Co., Ltd. (CPRD) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ส่งผลทำให้หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.1 แสนล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2564 จากระดับ 1.9 หมื่นล้านบาท ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 73.3% ณ เดือนธันวาคม 2564 จากระดับ 13.7% ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564
ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.4 เท่าในปี 2564 โดยเทียบกับระดับ 0.9 เท่าในรอบบัญชี 12 เดือนสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์การเติบโต
บริษัทได้ตั้งเป้าหมายที่จะใช้เงินลงทุนในการปรับปรุงร้านค้าและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการที่จะเปิดสาขาร้านค้าไฮเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 3-5 แห่ง ร้านซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดกลางจำนวน 8-10 แห่ง และร้านซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กอีกจำนวน 150-250 แห่งต่อปีอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้สินของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงจากระดับที่สูงโดยคาดว่าในปี 2567 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะลดลงและจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 4 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 70%
- มีสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทจะมีเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเมื่อพิจารณาจากแหล่งเงินทุนและแผนการใช้จ่ายของบริษัท โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาทและคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทในปี 2565 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีค่าใช้จ่ายตามแผนลงทุนรวมอยู่ที่จำนวน 1.1 หมื่นล้านบาทและบริษัทไม่มีหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าแต่อย่างใด
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 7%-8% ต่อปีในช่วงปี 2565-2567
- อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ที่ปรับปรุงแล้วจะอยู่ที่ระดับประมาณ 11%-12% ในระหว่างปี 2565-2567
- ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ระดับทั้งสิ้นประมาณ 0.9-1.1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปีประมาณการ
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยเอาไว้ได้แม้ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางธุรกิจที่ท้าทายมากมายและการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาระดับหนี้ที่เหมาะสมเอาไว้ได้แม้ว่าบริษัทจะมีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องก็ตาม ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
ด้วยสถานะที่เป็นบริษัทในเครือที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระดับสูงของบริษัทแม่คือบริษัท ซีพี ออลล์ อันดับเครดิตของบริษัทจะถูกจำกัดด้วยอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท ซีพี ออลล์ อย่างไรก็ตาม หากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (SACP) ลดลงต่ำกว่าอันดับเครดิตของบริษัทแม่ อันดับเครดิตของบริษัทก็อาจจะมีระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของแม่ 1 ขั้น ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่มีต่ออันดับเครดิตของบริษัท ซีพี ออลล์ ก็จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ หรือบริษัทมีการก่อหนี้เพื่อขยายการลงทุนจำนวนมากจนส่งผลกระทบทำให้โครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมาก ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 8 เท่าเป็นระยะเวลานาน