เอเซีย พลัสคาด SET ใน Q3/65 พักฐานรับแรงกดดันเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย-บาทอ่อน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 11, 2022 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/65 ยังอยู่ในช่วงพักฐาน โดยได้รับแรงกดดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงของการพักฐานเช่นกัน จากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้ธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกปี 65 ลงเหลือ 2.9% จากเดิมที่ 4.1%
ในขณะที่ธนาคารกลางต่างๆ จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และดึงสภาพคล่องออกจากระบบ เพราะให้น้ำหนักไปที่การสกัดเงินเฟ้อมากกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุม 4 ครั้งที่เหลือของปีนี้ โดยคาดว่าเดือน ก.ค.จะปรับขึ้น 0.75% ไปที่ 2.5% และดอกเบี้ย ณ สิ้นปี จะอยู่ที่ 3.5% ซึ่งเริ่มส่งผลต่อดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัว
สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่จะมีการดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยกำหนดการประชุมเร็วที่สุด 10 ส.ค. โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในการประชุม 3 ครั้งที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้ดอกเบี้ยของไทยสิ้นปีอยู่ที่ 1.25% ทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ย ณ สิ้นปีจะอยู่ที่ 2.25% กว้างขึ้นเมื่อเทียบกับปัจจุบันอยู่ที่ 1.25% ส่งผลต่อแนวโน้มเงินบาทที่มีโอกาสอ่อนค่าเหนือ 36 บาท/เหรียญสหรัฐ เป็นปัจจัยที่ทำให้เงินทุนต่างชาติยังมีทิศทางไหลออก
นอกจากนี้ยังมี 3 ปัจจัยที่เข้ามากระทบทิศทาง SET Index อย่างต่อเนื่อง คือ 1.แนวทางการจัดเก็บภาษีของรัฐของภาครัฐฯที่ขาดความชัดเจน อาทิ ภาษีธุรกิจเฉพาะการขายหุ้น ภาษีลาภลอยในภาคอสังหาฯ และประเด็นเรื่องการขอความร่วมมือต่อผู้ประกอบการกลุ่มโรงกลั่น 2.ราคา Commodity ที่เริ่มปรับฐานจากความกังวลต่อ Recession ในเศรษฐกิจโลกและสหรัฐ 3.การเข้าซื้อขายของหุ้น IPO ขนาดใหญ่กลุ่มประกันที่เข้าเกณฑ์ SET50 Index Fast Track ในช่วง ก.ค.65 ที่อาจกดดันต่อหุ้นในกลุ่มใกล้เคียงกันอย่างธนาคารพาณิชย์ ประกัน และไฟแนนซ์
ส่วนกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนไทยยังคงประมาณการ EPS ปี 65 ไว้ที่ 88.9 บาท/หุ้น แต่อย่างไรก็ตามคาดว่ากำไรในช่วงไตรมาส 2/65 จะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1/65
กลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้แบ่งสัดส่วนเงินสดไว้ที่ 30% เพื่อที่จะเข้าลงทุนในช่วงที่ดัชนีปรับตัวลดลง โดยประเมินระดับความเสี่ยงที่จะสามารถรับได้ที่ 1,570 จุด ซึ่งหากดัชนีปรับฐานลดลงต่ำกว่านั้น แนะนำให้เข้าทยอยสะสม และให้ขายทำกำไรในช่วงของดัชนีปรับตัวสูงกว่า 1,570 จุด

หุ้น Top Pick ในช่วงไตรมาส 3/65 คือกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการกลับมาเปิดเมือง คือ Top Pick คือ CRC BEM CENTEL CPN หุ้นได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง CPF หุ้นได้ได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น KTB และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการควบรวมกิจการ TRUE ด้านนางสาวกฤตยาภรณ์ ธาดาสีห์ หัวหน้าฝ่ายลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ บล.เอเซีย พลัส มองว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกเผชิญกับความผันผวนหนัก จาก 3 ปัจจัยคือ เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางส่วนใหญ่ทั่วโลก ทำให้ดัชนี MSCI World ที่ประกอบไปด้วยหุ้นชั้นนำของ 23 ประเทศทั่วโลก ปรับลงเกือบ 9% ช่วงระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นจีนกลับสามารถรีบาวด์สวนทางกับตลาดอื่น เนื่องจากท่าทีการใช้นโยบายเข้มงวดของรัฐบาลจีนที่ใช้ควบคุมบริษัทเอกชนและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งสัญญาณคลี่คลาย อีกทั้ง มีการเร่งอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ที่ 5.5% ได้สำเร็จ โดยในเดือนพ.ค. ที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ประกาศคลายล็อกดาวน์ในเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ และได้ประกาศลดวันกักตัวสำหรับนักเดินทางต่างชาติส่งผลให้การเดินทางระหว่างเมืองของชาวจีนเป็นอิสระมากขึ้น ซึ่งแพลตฟอร์มท้องถิ่นของจีนที่ใช้จองตั๋วเดินทางและที่พักอย่าง Tongcheng Travel Holdings ก็ได้รับอานิสงค์นี้ด้วย ด้านนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่เผยออกมาทั้ง 33 มาตรการมีมูลค่ากว่า 5.3 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเน้นออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในฝั่งอุปทานเป็นหลัก อาทิ การลดภาษี การลดอัตราดอกเบี้ยและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยพลังงานสะอาดเป็นด้านหนึ่งที่รัฐบาลจีนตั้งเน้นผลักดันในระยะยาว ภายใต้เป้าหมายการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ก่อนปี 2060 นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นฝั่งอุปสงค์ เพื่อหนุนการจับจ่ายใช้สอยไปพร้อมกับการผลักดันการใช้พลังงานสะอาดด้วย โดยเน้นกระตุ้นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณายืดระยะเวลาการยกเว้นภาษีอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2014 ออกไป พร้อมผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์สันดาป นายภาดร สุขสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การลงทุนและผลิตภัณฑ์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นการปรับฐานของราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกไปมากแล้วก็ตาม แต่ระยะข้างหน้าจากความไม่แน่นอนของเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ จะยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก ดังนั้นการลงทุนในไตรมาส 3/65 ยังคงเน้นลงทุนในภูมิภาคที่เห็นมองสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางการเงินและทางการคลังออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น จีน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ