ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ 7.5 พันลบ.ของ MTC ที่ BBB+ แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 12, 2022 10:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 7.5 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "BBB+" ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่นี้ไปใช้ชำระคืนหนี้และขยายพอร์ตสินเชื่อ

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกัน (Title Loan) และฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง ตลอดจนเสถียรภาพในการทำกำไร แหล่งเงินทุนที่หลากหลายและเพียงพอ รวมถึงสภาพคล่องที่มีมากพอของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากคุณภาพสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มถดถอยลงอันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

ทริสเรทติ้ง คาดว่าความชำนาญในการดำเนินธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันและการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องของบริษัทน่าจะทำให้บริษัทยังคงดำรงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในอันดับต้น ๆ ของธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันต่อไปได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ยอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 7% จาก ณ สิ้นปี 2564 มาอยู่ที่ระดับ 9.86 หมื่นล้านบาทอันเป็นผลมาจากกลยุทธ์ด้านการตลาดและเครือข่ายสาขาที่ขยายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายในการรับบริการ

ทริสเรทติ้งประมาณการว่ายอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 26% ในปี 2565 และจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 16%-18% ต่อปีในช่วงปี 2566-2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากสินเชื่อที่มีหลักประกันซึ่งยังคงมีอุปสงค์ที่ดีจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ

นอกจากนี้ บริษัทยังคาดว่าจะยังคงขยายธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ซึ่งดำเนินการผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัท เมืองไทยลีสซิ่ง จำกัด (MTLS) และสินเชื่อ "ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง" ("Buy Now Pay Later" -- BNPL) สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักรกลการเกษตรซึ่งดำเนินการผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัท เมืองไทยเพย์เลเตอร์ จำกัด (MTPL) อย่างต่อเนื่อง

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าสินเชื่อดังกล่าวจะขยายตัวไปอยู่ที่ระดับ 9 พันล้านบาทถึง 1.3 หมื่นล้านบาทในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้า และในระยะยาวทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจใหม่ดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของยอดสินเชื่อและลดแรงกดดันด้านอัตราดอกเบี้ยรับจากสถานการณ์การแข่งขันในอุตสาหกรรมสินเชื่อที่มีหลักประกันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นได้

ทริสเรทติ้งคาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอาจอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากผลของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนตัวลงนั้นคาดว่าจะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้และจะมีผลกระทบต่อสถานะความเสี่ยงของบริษัทในขอบเขตที่จำกัด โดยอัตราส่วนลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตหรือลูกหนี้ชั้นที่ 3 (NPL) ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.65% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2565 จากที่ระดับประมาณ 1% ในอดีต ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของ NPL ในกลุ่มของสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ตลอดจนสินเชื่อนาโน และสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว NPL Ratio ของบริษัทยังคงเป็นอัตราส่วนที่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันที่ระดับ 2.3% ในระยะยาวนั้นบริษัทมีเป้าหมายที่จะรักษา NPL Ratio ให้อยู่ที่ระดับไม่เกิน 2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเกณฑ์ในการอนุมัติสินเชื่อที่รัดกุมยิ่งขึ้น การติดตามหนี้ที่มีประสิทธิภาพ และการเร่งรัดตัดหนี้สูญ (NPL Write-offs) ทั้งนี้ ภายใต้ประมาณการของทริสเรทติ้งที่คาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วน NPL Write-offs ต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยในระดับสูงขึ้นที่ระหว่าง 1.0%-1.2% ในช่วงปี 2565-2567 นั้น NPL Ratio ของบริษัทจึงน่าจะอยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้

อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยของบริษัทเพิ่มขึ้นกลับมาเป็นระดับ 0.9% ในปี 2564 ซึ่งใกล้เคียงกับระดับปกติที่ 1% ทั้งนี้ ในระหว่างปี 2565-2567 จากประมาณการของทริสเรทติ้งที่ NPL Ratio ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 2% และอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPL Coverage Ratio) จะอยู่ที่ระดับมากกว่า 100% บริษัทจึงน่าจะยังต้องเพิ่มอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยขึ้นมาเกินกว่าระดับปกติเล็กน้อยที่ประมาณ 1.5% จากประมาณการของทริสเรทติ้ง

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทน่าจะยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรต่อไปได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ถึงแม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะสูงขึ้นและมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต ทั้งนี้ เนื่องจากทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะให้ความสำคัญกับการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ย (EBT/ARWA) ยังคงอยู่ในระดับปานกลาง (Moderate) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 EBT/ARWA เมื่อปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปีอยู่ที่ระดับ 6.6% โดยบริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.37 พันล้านบาทซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ทริสเรทติ้งประมาณการว่า EBT/ARWA ของบริษัทจะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 5%-6% ต่อไปในระหว่างปี 2565-2567

ทริสเรทติ้งประเมินให้ฐานทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 21.6% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2565 ทั้งนี้ ผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่องและนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่มีความระมัดระวังช่วยทำให้ฐานทุนของบริษัทมีความเข้มแข็งแม้ว่าบริษัทจะมีแผนการขยายสินเชื่อจำนวนมากก็ตาม โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ระดับ 3 เท่าในขณะที่เงื่อนไขสำคัญทางการเงินกำหนดให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไว้ที่ระดับ 4.5 เท่า

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสถานะเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอเนื่องจากบริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั้งจากตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุนรวมทั้งยังมีวงเงินสินเชื่อที่มีกับสถาบันการเงินอีกหลายแห่งซึ่งช่วยสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อได้และช่วยลดทอนความเสี่ยงด้านสภาพคล่องลงได้ด้วย โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 บริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ รวมทั้งสิ้นจำนวน 2.9 หมื่นล้านบาท ซึ่ง 24% ของวงเงินดังกล่าวนั้นยังไม่มีการเบิกใช้

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันเอาไว้ได้ต่อไป รวมทั้งบริษัทจะมีความสามารถในการทำกำไรและเงินทุนที่ยังคงแข็งแกร่งในขณะเดียวกันก็ยังคงสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้อีกด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 25% อย่างต่อเนื่องในระยะหนึ่งในขณะที่ผลประกอบการทางการเงินของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยยังคงอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญจนส่งผลให้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 3% หรือหากสถานะเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจนกระทั่งอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงลดลงต่ำกว่าระดับ 15% อย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ