PHATRA โชว์เหนือออก"หุ้นกู้อนุพันธ์" หวังช่วยขยายฐานลูกค้า-เสริมรายได้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 24, 2008 14:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บล.ภัทร(PHATRA) ระบุการออกหุ้นกู้อนุพันธ์และใบสำคัญแสดงสิทธิเป็นการประกาศความพร้อมรับนวัตกรรมใหม่ทางการเงินเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่เป็นนักลงทุนทันยุคสมัยที่ต้องการผลตอบแทนที่ดีขึ้น เชื่อว่าจะเป็นส่วนช่วยขยายฐานนักลงทุนเข้ามาใช้บริการและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของบริษัท และหารายได้เสริมเพิ่มขึ้นด้วย 
"การออกผลิตภัณฑ์นี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถจะช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์พื้นฐานที่มีอยู่ในตลาดฯจำพวกหุ้น ตราสารหนี้ ต่าง ๆ ที่เป็น standard product มีการซื้อขายกันในตลาดฯอยู่แล้ว โดยเฉพาะปัจจุบันมีนักลงทุนสมัยใหม่ที่มีความต้องการผลตอบแทนที่ดีขึ้น"แหล่งข่าวจากระดับผู้บริหาร บล.ภัทร กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
บอร์ด PHATRA เพิ่งอนุมัติให้ออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ 300 ล้านบาท อายุไม่เกิน 1 ปี และ หุ้นกู้อนุพันธ์อายุไม่เกิน 1 ปี วงเงินรวมไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ณ ขณะใดขณะหนึ่ง เสนอขายนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ทั้งใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และหุ้นกู้อนุพันธ์มีสินค้าหลักทรัพย์อ้างอิงหรือดัชนีอ้างอิง โดยอาจเป็น SET Index 50, SET Index 100, SET Index หรือหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทย ซึ่งเป็นหลักทรัพย์รายตัว กลุ่มของหลักทรัพย์หรือดัชนีหลักทรัพย์อื่น
"โบรกเกอร์อื่นก็มีทยอยออกหุ้นกู้อนุพันธ์มา ต้องบอกว่าเป็นปีของทั่วโลกทุกที่ก็ Follow ตามจุดนี้มา มันหนีไม่พ้นเมื่อทั่วโลกทำ stlye นี้มาเราก็พัฒนาตามทางของเขามา มันไม่ได้กำหนดว่าจะต้องออกช่วงนี้ เพียงแต่ว่าเราเริ่มพร้อมขึ้น กฎหมายทุกอย่างออกมาแล้ว ตลาดอนุพันธ์(TFEX)มีแล้ว"ผู้บริหาร กล่าว
แหล่งข่าว กล่าวว่า เมื่อมีตลาด TFEX ที่เป็นช่องทางในการป้องกันความเสี่ยง และมีการ active พอสมควร รวมทั้งมีกฎหมายรองรับ ถือว่าองค์ประกอบพื้นฐานมีความพร้อมเพียงพอ ลูกค้าเองก็เริ่มรู้จักในอนุพันธ์มากขึ้น ทำให้ง่ายต่อการนำเสนอหุ้นกู้ในรูปแบบดังกล่าว
*หุ้นกู้อนุพันธ์และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์คืออะไร
"หุ้นกู้อนุพันธ์ให้ผลตอบแทนไปอ้างอิงหลักทรัพย์ หรือดัชนีหลักทรัพย์ ขณะที่ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะมีลักษณะเหมือนกับ Options ในตลาดฯ เพียงแต่ว่าเป็น Options ของหุ้นหรือดัชนีหุ้น ซึ่งตัวนี้จะไม่ Garantee กำไรหรือขาดทุน คนเล่นจะเป็นนักลงทุนที่กล้า และเข้าใจตัว Product แล้ว และพร้อมที่จะยอมขาดทุนถ้าคิดผิดทาง โดยเป็นการซื้อเฉพาะสิทธิ์อย่างเดียว
หากเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิ์(วอแรนต์)ในตลาดฯ ผู้ออกจะเป็นเจ้าของบริษัทฯ แต่ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ผู้ออกจะเป็นใครก็ได้ และในที่นี้คือตัว PHATRA ซึ่งผู้ออกจะมีหุ้นอยู่ในมือหรือยังไม่มีก็ได้ เพียงแต่เมื่อลูกค้าจะใช้สิทธิ์เราก็ค่อยไปซื้อหุ้นในกระดานไปส่งมอบให้
หุ้นกู้อนุพันธ์และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ของ PHATRA จะมีอายุไม่เกิน 1 ปี ซึ่งการออกเสนอขายจะไม่มีข้อกำหนดขั้นต่ำ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ออกจะกำหนดรูปแบบไว้อย่างไร
*ข้อแตกต่างของหุ้นกู้ และหุ้นกู้อนุพันธ์
"ถ้าเป็นหุ้นกู้ปกติเวลาออกให้กับลูกค้าจะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ซื้อ ส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนเพื่อนำเม็ดเงินไปใช้ทำธุรกิจอื่น แต่ในแง่หุ้นกู้อนุพันธ์ เสมือนเราได้รับเงินมาจากลูกค้าก็จริง แต่ผลตอบแทนของลูกค้าจะขึ้นกับสินทรัพย์อ้างอิง หุ้นกู้อนุพันธ์ของ PHATRA จะสามารถอ้างอิงในตัวหลักทรัพย์ หรือดัชนีฯก็ได้แล้วแต่ลูกค้าจะเป็นคนเลือก ทั้งนี้เราเป็นบริษัทหลักทรัพย์เราคงจะไม่ไปออกอ้างอิงดอกเบี้ย อัตราตราแลกเปลี่ยน เราคงออกไม่ได้ เพราะเราคงจะสู้แบงก์ไม่ได้ เพราะแบงก์มีความชำนาญกว่า"
Product ตัวนี้จะไม่ได้กำหนดหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นมาตรฐาน แต่จะขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า เช่น ลูกค้าซื้อหุ้นกู้อนุพันธ์ 1,000 บาท ขออ้างอิงกับหุ้น PTT เราก็จะถามว่าลูกค้าคิดว่าหุ้น PTT จะขึ้นหรือจะลงหรือจะทรงตัว จะมี 3 ทางเลือก ถ้าลูกค้าคิดว่าหุ้น PTT จะขึ้น เราก็ออกหุ้นกู้อนุพันธ์ที่อ้างอิงหุ้น PTT ซึ่งถ้าหุ้น PTT ขึ้น ลูกค้าก็จะได้ผลตอบแทนที่มากกว่าอัตราดอกเบี้ย
แต่ถ้าทรงตัวหรือลง ผลตอบแทนที่ได้ก็อาจจะได้น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติ หรือหากลูกค้าคิดว่าหุ้น PTT น่าจะลงนะ ไม่มีปัญหาเราก็ออกหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าปกติเมื่อราคาหุ้น PTT ปรับตัวลง ถ้าหุ้นไม่ลงลูกค้าก็ได้ผลตอบแทนน้อยหน่อย อันนี้เป็นการให้ผลตอบแทนแก่ลูกค้าในสิ่งที่ตัวเองคาดคิด
ถ้าเป็นหุ้นกู้ปกติอาจจะได้ผลตอบแทนที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% แต่ถ้าเป็นหุ้นกู้อนุพันธ์ ถ้าลูกค้าคิดว่าหุ้นลง แล้วหุ้นที่ลูกค้าอ้างอิงมันลงจริง ๆ ลูกค้าก็อาจจะได้ผลตอบแทนเต็ม ๆ แต่ถ้ามันผิดทางผลตอบแทนของลูกค้าก็อาจจะเหลือแค่ 1-1.5% แต่ยังไงก็ยังได้ผลตอบแทน และเงินต้นก็ไม่ได้หายไปไหนยังอยู่ที่เดิม"
*กลุ่มผู้ลงทุนเป้าหมายของหุ้นกู้อนุพันธ์
"ปกติหุ้นกู้อนุพันธ์และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะเหมาะกับลูกค้าสถาบันและลูกค้าที่ค่อนข้างมีฐานะ(high network)ไม่ใช่ลูกค้าที่เทรดหุ้นรายตัว
หุ้นกู้อนุพันธ์ปกติจะไม่นำเข้าไปเทรดในตลาดฯ แต่ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์สามารถเข้าไปเทรดในตลาดฯได้ ซึ่งอีกนานกว่าตลาดหลักทรัพย์จะเปิดให้มีการเทรดใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ได้ เพราะตอนนี้ตลาดหลักทรัพย์ยังไม่รับจดทะเบียน แต่เรากำลังเวิล์กอยู่กับตลาดฯ ทั้งในแง่จดทะเบียนและรายละเอียดอื่น คงต้องใช้เวลาสักพักหนึ่ง"
*ข้อดีของการออกและเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์
"นักลงทุนก็จะวิ่งไปหาโบรกฯหรือบริษัทหลักทรัพย์ที่สามารถแนะนำการลงทุนได้มากกว่าพวกตราสารพื้นฐาน นั่นคือ พวกหุ้นกู้อนุพันธ์ หรือ Structured Notes ซึ่งเดิมมีการซื้อขายกันนอกตลาดฯ เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถออกตัว product นี้ได้ เราก็สามารถตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้าได้ ลูกค้าก็จะไปซื้อขายกับโบรกเกอร์นั้นได้ค่อนข้างเยอะ อันนี้ก็มองเพื่อ service need ของลูกค้า เหมือนกับลูกค้าอยากได้อะไรเรามีให้หมด เพราะฉะนั้นก็คงจะไม่ย้ายไปเล่นกับโบรกฯอื่น
ประโยชน์ข้อที่ 2 คือ เวลาที่เราออกตราสารพวกนี้ จริงอยู่มันมีความเสี่ยง แต่มีความเสี่ยงที่ได้มีการป้องกันความเสี่ยง คือทำ hedging กับ basic instrument อะไรต่าง ๆ หรือทำ index arbitrage พวกนี้ก็จะเป็นรายได้เสริมที่ขึ้นมา ในแง่ของการสร้างรายได้เสริมในการจัดการบริหารความเสี่ยงให้กับตัวหุ้นกู้อนุพันธ์ที่จำหน่ายให้กับลูกค้า จะมีรายได้จากการบริหารความเสี่ยง(enhance yield) ให้ผู้ออก
ในแง่ของการเทรดเพื่อป้องกันความเสี่ยง เราเป็นโบรกฯจะทำได้ในราคาที่ถูกกว่าลูกค้า เพราะถ้าลูกค้าเข้ามาก็จะมีเรื่อง transaction cost เรื่องอะไรต่ออะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ในแง่ของโบรกฯก็สามารถจัดการซื้อขาย และบริหารความเสี่ยงให้ ซึ่งในแง่ของโบรกฯทำได้ถูกกว่า นี่ก็จะเป็นรายได้เสริมเข้ามาอีกส่วนหนึ่ง"
*การออกหุ้นกู้อนุพันธ์มีข้อเสียหรือไม่
"ในแง่ของข้อเสียก็คือ หากจัดการบริหารความเสี่ยงไม่ดีก็จะขาดทุนได้ นั่นคือคนที่ออกจะต้องมีทีมงานที่แข็งมีความรู้ความเข้าใจในตัว product ที่ดีด้วย หมายถึงทุกโบรกเกอร์นั่นแหล่ะที่จะออกก็ต้องมีความพร้อม เพราะมันก็มีความเสี่ยง ขณะที่ธุรกิจนี้ไม่ได้สร้างผลกำไรมหาศาล เพราะความเสี่ยงต่ำ กำไรจะไม่มาก แต่สิ่งที่ตอบแทนมาจากส่วนของลูกค้ามากกว่า คือลูกค้ามาที่เราก็จะซื้อได้ทุกอย่าง
นอกจากนี้ การออกหุ้นกู้อนุพันธ์ส่งผลกระทบต่อ(Net Capital:NC) เพียงเล็กน้อยเฉลี่ยแล้วประมาณ 5-7% ของ Size ที่ออก แต่มันก็ไม่ได้เป็นกฏตายตัว เพราะมันซับซ้อนกว่านี้มากตามกฎก.ล.ต.ที่กำหนดไว้ คือถ้า size ใหญ่ก็กระทบมากหน่อย ถ้า size น้อยก็กระทบเล็กน้อย ในส่วนการออกหุ้นกู้อนุพันธ์ระดับ 1,000 พันล้านบาท จะกระทบ NC ประมาณ 100 ล้านบาทเท่านั้น ถือว่านิดเดียว ซึ่งขึ้นอยู่กับรูปแบบที่จะออก ถ้าหมดอายุไปก็สามารถออกได้ใหม่
ส่วนกำไรจากการบริหารความเสี่ยง ตรงนี้จะไม่เยอะ เพราะถ้าได้เยอะลูกค้าจะเสียเปรียบ แต่ที่ออกตราสารอนุพันธ์มาเพราะเราต้องการลูกค้าให้อยู่กับเรา เพราะตอนนี้มีการแย่งลูกค้ากันจะแย่อยู่แล้ว ถ้าถามคุ้มไหม เหมือนกับห้างสรรพสินค้าขายของบางอย่างยังขาดทุนเลย เพื่อดึงลูกค้ามาเดินและซื้อสินค้าอย่างอื่น เพื่อที่จะได้กำไร"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ