(เพิ่มเติม) NOK เป้าปี 65 ผู้โดยสาร 6 ล้านคน-เพิ่มเครื่องบินรับดีมานด์-เพิ่มฐานสุวรรณภูมิ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 14, 2022 17:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) NOK เป้าปี 65 ผู้โดยสาร 6 ล้านคน-เพิ่มเครื่องบินรับดีมานด์-เพิ่มฐานสุวรรณภูมิ

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) เปิดเผยว่า ในปี 65 บริษัทตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสาร 6 ล้านคน หลังจากช่วงครึ่งปีแรกมีจำนวนผู้โดยสาร 1.8 ล้านคน โดยในปี 61-62 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดโควิด-19 มีจำนวนผู้โดยสาร 8.86 และ 8.25 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนเครื่องบิน 24 ลำ ส่วนปี 63 มีจำนวนผู้โดยสาร 4.19 ล้านคน (เกิดโควิด)

ในช่วง 6 เดือนแรก NOK มีอัตราขนส่งผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 70% โดยในเดือน พ.ค.-มิ.ย.65 Cabin Factor เฉลี่ย 80-85% ทำให้คาดว่าในครึ่งหลังปีนี้ Cabin Factor เฉลี่ยจะสูงกว่า 80% แม้ 2 เดือนหน้า (ส.ค.-ก.ย.) จะเป็นช่วงโลว์ซีซั่นที่คาดว่า Cabin Factor อยู่ที่กว่า 70% แต่ช่วงปลายยปีจะเข้าไฮซีซั่น นอกจากนี้ สายการบินนกแอร์ก็จัดโปรโมชั่นแจกของรางวัลเพื่อกระตุ้นตลาดด้วย

ปัจจุบัน NOK ได้กลับมาเปิดเส้นทางบินในประเทศครบทุกเส้นทางแล้ว เพียงแต่ความถี่ยังไม่ครบ 100% เท่ากับปี 62 เพราะยังต้องรอนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น โดยขณะนี้ Traffic ยังไม่ถึง 50% ของปี 62

อย่างไรก็ตาม ในปลายปี 65 และปี 66 บริษัทจะทยอยเช่าเครื่องบินโบอิ้ง B737-800 เข้ามาเพิ่ม 6 ลำ จากปัจจุบันมีจำนวนเครื่องบิน 17 ลำ เป็น B737-800 จำนวน 14 ลำ และเครื่องใบพัด Q400 จำนวน 3 ลำ ทั้งนี้เพื่อรองรับการขยายเส้นทางบินในต่างประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เมียนมา และ เวียดนาม

NOK มองว่าดีมานด์การเดินทางกำลังกลับมาและคาดว่าจะมากกว่าเดิม หลังจากที่เห็นดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในยุโรปและสหรัฐฯ ขณะที่การเดินทางในประเทศเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากมาตรการภาครัฐสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ และสนับสนุนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยด้วย "การรับเครื่องบินใหม่เข้ามาในปีนี้และปีหน้าจะช่วยบริษัทลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง และเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร พร้อมเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก"นายวุฒิภูมิ กล่าว

นายวุฒิภูมิ กล่าวอีกว่า นกแอร์ ยังอยู่ระหว่างพิจารณาขยายฐานการบินไปที่สนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มเติมจากดอนเมือง เพราะเห็นว่าช่วยเพิ่มความสะดวกในการเชื่อมต่อการบิน (Connecting Flight) และที่สนามบินสุวรรณภูมิมีการแข่งขันราคาต่ำกว่าสนามบินดอนเมือง

นอกจากนี้ จากเหตุการระบาดโควิดทำให้บางสายการบินลดขนาดฝูงบิน ทำให้ slot การบินช่วงเวลาดีๆ ยังมีอยู่มาก NOK มีโอกาสเข้าไปใช้ slot ดังกล่าว นอกเหนือจากนั้นทำให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ รวมถึงการเพิ่มโอกาสธุรกิจได้ เพราะที่สนามบินสุวรรณภูมิ สายการบินเวียตเจ็ท และสายการบินไทยสมายล์ ยังไม่มีเส้นทางบินไปชุมพร สกลนคร และระนอง

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังปี 65 ก็ยังมีความท้าทายหลายด้าน อาทิ เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของ NOK เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าน้ำมันที่สัดส่วนต้นทุนเพิ่มเป็น 50% จากก่อนหน้ามีสัดส่วน 40% ของต้นทุนรวม และ ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงสถานการณ์สงครามรัสเซียและยูเครน

ส่วนปัจจัยบวก มาจากภาครัฐที่มีมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว นโยบายการเงินการคลัง โดยเฉพาะการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันอากาศยาน ซึ่งล่าสุดก็ต่ออายุไปถึงสิ้นปี 65 ทำให้บริษัทประหยัดได้ราว 500-600 ล้านบาท

นายวุฒิภูมิ เปิดเผยว่า กลยุทธ์ของสายการบินนกแอร์ยังวางเป้าหมายมุ่งไปเป็นพรีเมียมแอร์ไลน์ โดยในไตรมาส 4/65 เตรียมเปิดเลาจน์ภายในสนามบินขนาด 250 ตร.ม.รองรับกลุ่มลูกค้า corporate และลูกค้า Nok Extra นอกจากนี้ หลังจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) อนุญาตให้สายการบินสามารถเสริฟอาหารเครื่องดื่มบนเครื่องบินได้แล้ว นกแอร์อยู่ระหว่างดีลกับพันธมิตรที่จะเสิร์ฟขนมหรือของว่างให้กับผู้โดยสารบนเครื่องด้วย

ทั้งนี้ NOK คาดว่าในปี 67 จะมีกำไรตามการฟื้นตัวของธุรกิจการบิน โดยได้ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

ด้านนายธีรพล โชติชนาภิบาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการพาณิชย์ NOK กล่าวว่า ภายในสิ้นปีนี้ NOk จะเพิ่มความถี่เส้นทางกรุงเทพ-โฮจิมินห์ จาก 1 เที่ยวบิน/สัปดาห์เป็น 2 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และกรุงเทพ-ย่างกุ้ง เพิ่มเป็น 10 เที่ยวบิน/สัปดาห์จากปัจจุบัน 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ นอกจากนี้ NOK กำลังขอเปิดทำการบินเส้นทางอินเดีย 2-3 เมือง อาทิ นิวเดลี กัลกัตตา ไฮเดอราบัด มุมไบ ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาสิทธิการบิน โดยคาดหวังว่าจะเริ่มทำการบินได้ในไตรมาส 4/65 ส่วนจีนได้บินอยู่ 2 เมือง แม้ว่ายังไม่เปิดประเทศ แต่ก็ให้ทำการบินบ้างแล้ว ซึ่งเมื่อ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา NOK ได้บินไปหนานหนิงแล้ว และในวันที่ 15 ก.ค.จะบินเพิ่มไปเจิ่นโจว โดยทำการบินของทั้งสองเส้นทางๆ ละ 1 เที่ยว/เดือน นอกจากนี้ ยังมองว่าในอนาคตจะกลับไปบินเส้นทางญี่ปุ่น อาทิ ฮิโรชิมา ซึ่งเคยทำการบินมาแล้ว รวมถึงโตเกียวและโอซาก้า แต่คงยังไม่เหมาะสมจะบินไปในขณะนี้ เพราะยังเข้าออกประเทศญี่ปุ่นไม่สะดวก คงต้องรอเวลาให้ทางการญี่ปุ่นเปิดประเทศมากกว่านี้

ทั้งนี้ หากสามารถบินเส้นทางต่างประเทศได้มากขึ้น บริษัทคาดว่าจะมีรายได้จากเส้นทางต่างประเทศเพิ่มมาเป็น 15% จาก 10% และในประเทศจะปรับลงมาเป็น 85% จาก 90%

ส่วนเส้นทางกรุงเทพ-เบตง นายธีรพล กล่าวว่า ปัจจุบันมี Cabin Factor 80% ทำการบิน 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ โดย 80% เป็นการขายเหมาให้กับกลุ่มทัวร์ที่มีสัญญา MOU กันไว้ ที่จะหมดลงในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ และคาดว่าจะต่ออายุอีก 3 เดือน ส่วนตั๋วที่บริษัทขายเอง 20% ซึ่งราคาขายตั๋วในเส้นทางนี้ถือว่าไม่ได้กำไร

นอกจากนี้ NOK เปิดเส้นทาง นครราชสีมา-เชียงใหม่ในวันที่ 13 ก.ค. และเตรียมกลับมาบินเส้นทางเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน จากที่ก่อนหน้าได้หยุดทำการบินไป หลังจากเปิดบินเส้นทางกรุงเทพ-แม่ฮ่องสอน ซึ่งเตรียมจะเพิ่มความถี่มาบินทุกวันในฤดูหนาวจาก 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์

นายธีรพล ยังกล่าวว่า NOK ได้พูดคุย 2-3 สายการบินได้แก่ การบินไทย ไทยสมายล์ ในการร่วมมือ Code Share ซึ่งอยู่ระหว่างเชื่อมต่อระบบเช้าด้วยกัน ซึ่งต้องใช้เวลา และยังมีสายการบินไต้หวัน และเกาหลีที่กำลังเจรจากันอยู่

*ออกจากแผนฟื้นฟูปี 69

นายไต้ซองอี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NOK เปิดเผยว่า จากที่ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทเมื่อ 29 ก.ย.64 ด้วยจำนวนหนี้สินราว 2.7 หมื่นล้านบาทจากเจ้าหนี้ 16 กลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการเช่าเครื่องบิน(รวมค่าเช่าล่วงหน้า) รวมหนี้เงินกู้จากผู้ถือหุ้นใหญ่ 2,700 ล้านบาท โดยปัจจุบันหนี้สินได้รับการลดมูลหนี้ (แฮร์คัท) และยืดชำระหนี้ โดยเฉพาะสัญญาซ่อมบำรุงที่ไม่ใช่เครื่องยนต์ได้แฮร์คันไป 40% ส่วนสัญญาซ่อมบำรุงที่เป็นส่วนเครื่องยนต์ได้แฮร์คัท 15% โดยสรุปจำนวนหนี้หลังเจรจาเจ้าหนี้อยู่ที่ 4,000 ล้านบาท

ตามแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทจะออกจากแผนฟื้นฟูใน 5 ปี หรือในปี 69 โดยจะมีเงินก้อนใหม่เข้ามา 3 ช่วง ได้แก่ ปี 65 ได้รับเงินกู้จากผู้ถือหุ้นเพิ่มเติม 280 ล้านบาท เงินจากการเพิ่มทุนในปี 66 จำนวน 600 ล้านบาท เพื่อนำมาเใช้เป็นทุนหมุนเวียน และในปี 69 จะเพิ่มทุนจำนวน 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก

ณ 30 มิ.ย.64 ส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ ติดลบ 9,718.42 ล้านบาท

นายไต้ กล่าวว่า เงินเพิ่มทุน 4 พันล้านบาทในปี 69 จะนำไปชำระคืนหนี้เงินกู้กับผู้ถือหุ้นใหญ่ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ