นายฉาย บุนนาค หนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบมจ.ดีอี แคปปิตอล(DE)และบมจ.สตาร์ ซานิทารีแวร์(STAR) เปิดเผยว่า มีความตั้งใจที่จะเข้ามาลงทุนระยะยาวใน DE และ STAR ตั้งเป้าถือหุ้น DE ในสัดส่วน 20% ส่วน STAR มีความตั้งใจเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 5-10% โดยอาจบริหารให้คงไว้ในระดับ 7-8%
"คือมีคนถามผมว่า ถ้าราคาหุ้น DE ขึ้นมาสูง ๆ 8-9 บาท จะขายไหม ทุกอย่างก็มีราคาซื้อ ราคาขาย ผมก็ว่า ณ เวลานี้ ยังไม่ได้มีอะไรเป็นรูปเป็นร่าง แล้วราคาขึ้นมาถึง 8-9 บาท ผมก็ขาย แต่ผมก็คงจะซื้อกลับ"นายฉาย กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นายฉาย กล่าวถึงการลงทุนใน STAR ว่า"ผมลงทุนหุ้น STAR ระยะยาวครับ ถือเป็นปี ๆ ได้เลย และที่ผมจะลงทุนถือแน่ ๆ เนี่ย 7-8% ถ้าถือหุ้นเยอะเกินไป เดี๋ยวผู้บริหารจะไม่สบายใจ และผมจะไม่ขยับซื้อขยับขายมาก เพียงแต่อาจจะมีขายออกบ้างเพื่อรักษาสัดส่วน ผมกลัวมันจะเยอะเกินไป"
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ ระบุ นายฉาย บุนนาค ถือหุ้น DE ในสัดส่วน 5.54% หรือจำนวน 29.23 ล้านหุ้น ข้อมูลเมื่อ 14 มกราคม 2551 และได้ซื้อหุ้น DE เพิ่มอีก 18 ล้านหุ้นหรือคิดเป็น 3.41% จากบมจ.ไมด้า แอสเซ็ท(MIDA)ที่ทำการขายหุ้น DE ออกมาทั้งหมด 87,787,100 หุ้นหรือ 16.63 % เมื่อวันที่ 14 และ 17 มี.ค.2551 ซึ่งส่วนหนึ่งขายให้นายฉาย ทำให้เพิ่มสัดส่วนหุ้นใน DE เป็น 8.95%
ขณะที่ล่าสุดเมื่อ 20 มี.ค.2551 นายฉาย บุนนาค ระบุว่าได้เข้าถือหุ้น STAR รวม 13.75 ล้านหุ้นหรือคิดเป็น 10.1%
*จุดมุ่งหมายถือหุ้น DE ลงทุนยาว-เปิดทาง"กมล"นั่งบริหารงานต่อ
นายฉาย กล่าวว่า ตั้งเป้าที่จะเข้าถือหุ้น DE ให้เป็น 20% โดยมองเป็นการลงทุนในระยะยาว แม้อาจจะมีการขายหุ้นออกบ้างหากราคาสูงกว่าที่เข้าซื้อ แต่ก็จะเข้าทยอยเก็บหุ้นหากราคาปรับลดลง และพร้อมจะให้ความช่วยเหลือผู้บริหาร ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เพื่อให้บริษัทเดินไปได้ดีที่สุด ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้บริษัทฯพลิกผลประกอบการกลับมาเป็นกำไร
นอกจากนั้น ที่ผ่านมาก็ได้หารือกับนายรัตนะ วงศ์นภาจันทร์(บุตรชายนางเยาวเรศ ชินวัตร)ผู้ถือหุ้นใหญ่อีกคนหนึ่งของ DE ที่ได้ซื้อหุ้นต่อจาก MIDA ก็ได้รับคำยืนยันว่าจะถือหุ้นในระยะยาว และยังไม่มีแนวคิดที่จะลดสัดส่วนหุ้นลง
"ตอนนี้ผมคุยกับคุณกมลอย่างเดียว ซึ่งผมก็บอกว่าในวันประชุมผู้ถือหุ้นเราค่อยมานั่งคุยกันว่า จะดำเนินทิศทางของบริษัทฯไปในทางไหน แม้ราคาหุ้นจะขึ้นมาสูงกว่าที่ราคาผมซื้อเยอะ ผมก็ไม่คิดจะขายออกเลย และถ้าราคาหุ้น DE ไหลลงมาผมก็จะซื้อเพิ่ม และผมคิดว่าอยากจะถือประมาณ 20%"
นายฉาย กล่าวอีกว่า ยังยินดีที่นายกมล เอี้ยวศิวิกูล จะทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการและผู้บริหาร DE ต่อไป แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นไปแล้ว เพื่อร่วมมือกันดำเนินธุรกิจของ DE ต่อไป โดยในส่วนที่ถือตนเองหุ้นอยู่ก็จะส่งนางโฉมพิศ บุนนาค ซึ่งเป็นมารดา เป็นตัวแทนเข้าไปนั่งเป็นกรรมการบริษัท
"คุณกมล ก็ยังเป็นประธานบอร์ดเหมือนเดิม คือผมยังยินดี และ welcome คุณกมล ให้อยู่ต่อ ขอร้องให้อยู่ต่อ ช่วยดูแลบริษัทฯ เพราะผมคิดว่าคุณกมลเป็นคนมีประสบการณ์เยอะ DE เป็นบริษัทมหาชน มันก็ควรจะมีผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ ด้าน ผู้ที่มีประสบการณ์หลาย ๆ คนเข้ามาช่วยระดมความคิดให้บริษัทฯกลับมามีกำไร แล้วมีปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น"นายฉาย กล่าว
ส่วนนายกมล จะยังคงถือหุ้นใน DE ต่อไปหรือไม่นั้น ไม่ได้มีการหารือกัน และไม่ทราบว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร
*สรุปแนวทางทำธุรกิจพลังงานหลังประชุมผู้ถือหุ้นกลางเม.ย.
นายฉาย กล่าวว่า DE จะได้ข้อสรุปแนวทางการดำเนินธุรกิจพลังงานภายหลังจากการประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนเม.ย.51 ซึ่งขณะนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุด โดยจากที่หารือกับนายกมล ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดนี้ พบว่ามีความสนใจในธุรกิจถ่านหิน แต่ส่วนตัวยังเห็นว่าควรจะรอผลการศึกษาเพื่อให้เกิดความรอบคอบในการลงทุน แต่เบื้องต้นไม่ได้มองการนำเข้าถ่านหินในลักษณะซื้อมาขายไป(เทรดดิ้ง)
"ธุรกิจพลังงานที่ DE จะทำอย่างแรกต้องไม่ใช่น้ำมันแน่นอน เท่าที่คุยคร่าว ๆ คุณกมลได้ให้ความสนใจทางด้านถ่านหิน แต่ผมไม่เคยพูดเลยว่าผมจะทำถ่านหิน 100% คือต้อง Study เพิ่มเติม เพราะไม่อยากเอาเงินของบริษัทฯไปลงทุนในสิ่งที่เรายังไม่ได้เรียนรู้มาก เห็นตอนนี้เขากำลังทำ study กันอยู่ ซึ่งคงจะไม่ใช่นำเข้าถ่านหินเหมือนอย่าง UMS(บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส)ทำ ในความคิดของผมไม่น่าจะทำแบบ Trading น่าจะเป็นแบบอื่นมากกว่า"นายฉาย กล่าว
นายฉาย กล่าวอีกว่า ผู้บริหารจะเป็นผู้รับผิดชอบการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการทำธุรกิจใหม่ดังกล่าว ขณะที่ตนเองและนายรัตนะ คงจะเป็นแค่การให้ความช่วยเหลือ ถ้าผู้บริหารต้องการเท่านั้น
อนึ่ง DE กำหนดจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2551 ในวันที่ 18 เมษายน 2551 เวลา 14.00 น.
*มองธุรกิจส่งออกสุขภัณฑ์กำไรดี-บาทแข็งไม่กระทบเหตุเน้นตลาดยุโรป
นายฉาย ยังกล่าวถึงการเข้าถือหุ้นใน STAR ว่า สาเหตุที่สนใจลงทุนใน STAR เพราะเมื่อก่อนในตลาดหุ้นฯจะมีหุ้นที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสุขภัณฑ์หลายตัว อย่าง อเมริกันสแตนดาร์ด แต่ต่อมาได้ delist ไปจากตลาดหุ้นหมดแล้ว เพราะบริษัทมีผลกำไรดี
ขณะที่ STAR เป็นผู้ส่งออกด้านสุขภัณฑ์เป็นหลัก และไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากค่าเงิน เพราะส่งออกไปทางตลาดยุโรปเป็นส่วนใหญ่ และราคาหุ้นที่ซื้อมาก็ค่อนข้างต่ำ ซึ่งยืนยันว่ามีเป้าหมายจะควบคุมการถือหุ้นให้อยู่ในช่วง 5-10% เท่านั้น และถ้าราคาหุ้น STAR ลงมาต่ำ ๆ ก็จะเข้าซื้อ แต่จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในการบริหาร
--อินโฟเควสท์ โดย พรเพ็ญ ดวงเฉลิมวงศ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--