LiVE The Series: พลิกตำราติดอาวุธ SME-Startup สานฝันสู่กระดาน 3

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 19, 2022 10:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

PwC แนะแนวทาง SMEs-Startup แต่งตัวเข้ากระดาน LiVe Exchange ยึด 2 หลักการสำคัญ คือ การวางแผนธุรกิจให้ชัดเจน และวางมาตรฐานทางด้านบัญชีตามหลักสากลเพื่อสร้างความมั่นใจผู้ลงทุนสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจ พร้อมปลดล็อกความท้าทายของธุรกิจครอบครัว ก่อนต่อยอดการเติบโตก้าวกระโดดกับสูตรสานฝันด้วยศักยภาพของดีล M&A และแสวงหาหนทางดึงดูดพันธมิตรต่างชาติเสริมแกร่ง ผนวกความตระหนักด้าน ESG สร้างความยั่งยืน

"พันธกิจที่สำคัญของทางตลาดหลักทรัพย์ก็คือการสร้างกระดานที่ 3 เพราะในประเทศไทยมี SMEs และ Startup จำนวนมากที่ยังมีคุณสมบัติไม่เพียงพอจะเข้าตลาดทุน จึงเป็นโอกาสที่ดีในการสร้าง Platform ที่เรียกว่า LiVe Exchange เพื่อช่วยให้ SMEs ขนาดเล็ก รวมถึง Startup ใหม่ ๆ มีช่องทางในการระดมทุน เพราะว่าอย่างที่ทราบกันดีว่าการขยายกิจการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้เงินทุนที่มีต้นทุนต่ำ ดังนั้นการระดมทุนในตลาดแห่งที่ 3 นับว่าเป็นช่องทางที่ดี" นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

ทั้งนี้ PwC เป็น 1 ใน Big 4 บริษัทตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ระดับโลก มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะเรื่องระบบบัญชี การควบรวมกิจการ การให้บริการในด้านภาษี และการเป็นที่ปรึกษาในด้าน Consulting Process System ต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในการให้ความรู้และคำแนะนำกับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาร่วมใน LiVe Exchange

นายชาญชัย กล่าวว่า การเตรียมตัวของผู้ประกอบการ SMEs-Startup เพื่อเข้าสู่กระดาน LiVe Exchange สิ่งแรกที่จำเป็นอย่างยิ่ง คือ การมีแผนธุรกิจหรือ Business Model ที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินความพร้อมทางด้านเงินทุนและด้านบุคลากรได้

และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือจะต้องมีระบบบัญชีที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งในปัจจุบันทั่วโลกใช้มาตรฐานที่เรียกว่า International Financial Reporting Standard (IFRS) เป็นมาตรฐานที่ตลาดทุนทั่วโลกใช้ ทำให้ไม่เกิดความได้เปรียบเสียบเปรียบกัน นำมาซึ่งความยุติธรรมและความโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่เข้ามาวิเคราะห์งบการเงินของบริษัทได้

"เราจะพบว่าบริษัทมากกว่า 50% ของปัจจุบันที่ยื่น Filing แล้วไม่ผ่าน ไม่ใช่เรื่อง Business Model หรือบางครั้งไม่ใช่เรื่องที่ผู้บริหารไม่มีความสามารถ แต่เป็นเรื่องของรายงานทางการเงินและระบบการควบคุมภายใน ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่ทำให้เข้าไม่ถึงตลาดทุน และนั่นเป็นส่วนที่ PWC มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ซึ่งเราคิดว่าเบื้องต้นคือการปรับทัศนคติก่อน เพราะปัญหาที่พบเจอก็คือ มีบัญชีมากกว่า 1 ชุด หรือบางทีการมีบันทึกบัญชี 1 ชุดก็ไม่ผ่านมาตรฐานสากล" นายชาญชัยกล่าว

อย่างไรก็ตามยังคงมีความท้าทายอีกหลายด้านสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ในการเข้าสู่กระดาน LiVe Exchange ทั้งการขาดองค์ความรู้ด้านบัญชีที่กล่าวไปในข้างต้น และยังต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านบุคลากรทางบัญชีที่มีจำนวนจำกัดและการจ่ายอัตราค่าตอบแทนที่สูงอีกด้วย

และนอกจากขาดความรู้ด้านบัญชีแล้ว ยังขาดความรู้ด้านเทคโนโลยี ที่เป็นส่วนสำคัญในการช่วยยกระดับด้านการผลิตและบริการให้สอดคล้องต่อความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงช่วยให้เกิดการประหยัดต้นทุนในการผลิตและบริการมากขึ้น ซึ่งการขาดความรู้สำคัญดังกล่าว ถือว่าเป็นกับดักของผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ในประเทศไทย

รวมไปถึงความท้าทายสำหรับธุรกิจครอบครัว (Family Business) ที่สมาชิกในครอบครัวมักมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดคุยกันให้ดีเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันในการตัดสินใจและเตรียมความพร้อมของธุรกิจนั้น ๆ ในการเข้าสู่ตลาดทุนอย่างราบรื่น

แต่ท่ามกลางความท้าทายยังคงมองเห็นโอกาสด้านเงินทุน จากเดิมที่ผู้ประกอบการบางรายอาจต้องใช้เงินส่วนตัวหรือการกู้ยืมธนาคาร ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างแพง ดังนั้น การที่บริษัทเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตลาดทุน เงินทุนจะมีส่วนสำคัญในการช่วยขยายกิจการ ให้ความฝันที่วาดไว้เกิดขึ้นได้จากต้นทุนราคาถูกลง เพื่อทำให้ก้าวข้ามจากผู้ประกอบการรายย่อยขึ้นไปเป็นบริษัทใหญ่ได้

"ผมเจอตัวอย่าง SMEs ขนาดเล็กจำนวนมาก ที่เริ่มต้นจากเป็น Family Business ซึ่งเป็นลูกค้าของ PwC ที่มีความฝันอยากเข้าตลาดทุน และเขาก็ทำได้สำเร็จ โดยการนำหุ้นของบริษัทเข้า IPO ผ่านตลาดหลักทรัพย์ หลังจากเข้าตลาดภายในระยะเวลา 5 ปี ธุรกิจที่ทำตามความฝันด้วยการ IPO และตามด้วย M&A ก็เติบโตแบบก้าวกระโดด ไม่ว่าเรื่องตัวเลข Asset และผลกำไรเติบโตมากกว่า 3 ถึง 5 เท่าได้ ก็เป็นการทำตามความฝันของผู้ประกอบการให้เป็นความจริง" นายชาญชัย กล่าว

นายชาญชัย กล่าวว่า จากการสำรวจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าบริษัทในประเทศแถบนี้ส่วนใหญ่ที่จะเข้าระดมทุนมักไม่พบปัญหาด้านบัญชีมากนัก แต่มักจะพบปัญหาเชิงโครงสร้างหรือข้อกฎหมาย ต่างจากในประเทศไทยที่พบว่าราว 80-90% จะต้องเผชิญกับปัญหาพื้นฐานทางด้านระบบบัญชี ซึ่งหากผู้ประกอบการยังไม่มีระบบบัญชีที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากลก็ยากจะที่จะเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดทุนทั่วโลกได้

และต้องยอมรับว่า บริษัทที่มีระบบการเงินที่เข้มแข็ง จะสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ให้เข้ามาขอร่วมเป็นพันธมิตรได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ค่อนข้างมาก ในบริษัทที่มีความพร้อม ก็จะสามารถหาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ เพื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจได้

"หลายท่านอาจจะถามว่า กิจการขนาดเล็กแบบนี้ เราจะไปควบรวมกิจการอะไร ต้องเรียนว่าที่ผ่านมาเราพบ SMEs ขนาดเล็กที่มีความ Sexy และมีนักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนต่างชาติสนใจที่จะลงทุน ดังนั้นการที่เราให้ความรู้กับ SMEs ขนาดเล็กที่ธุรกิจเขามีความน่าสนใจ ก็จะเป็นการช่วยติดอาวุธให้กับ SMEs ไทย จะได้มีอำนาจต่อรองและได้ราคาที่เหมาะสม" นายชาญชัยกล่าว

นอกจากนี้ การเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทผ่านแนวคิด Environmental, Social and Governance หรือ ESG เริ่มเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ไม่ใช่แค่เพียงการดำเนินธุรกิจให้แข็งแกร่งและมีกำไรเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องให้ความสำคัญซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรในระยะยาว ดังนั้นการยึดหลัก ESG แม้จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ไม่รวดเร็วเท่าที่คิด แต่จะเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคงในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ