BYD เป้าปี 65 รายได้โตก้าวกระโดด-พลิกกำไร เสริมเทคฯดันธุรกิจหลักทรัพย์โตเด่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 19, 2022 13:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวออมสิน ศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.บียอนด์ (BYD) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากปี 64 ที่มีรายได้ 98.16 ล้านบาท และจะพลิกกลับมามีกำไรจากการดำเนินงานได้ เป็นไปตามธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีรายได้เติบโตขึ้น จากการลงทุนทั้งด้านระบบงานและบุคลากร โดยมีการรับเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำการลงทุน (มาร์เก็ตติ้ง) เข้ามาเพิ่มขึ้น ลงทุนระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ให้มีความสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งได้พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าเพิ่มศักยภาพและสร้างผลตอบแทน แม้เผชิญกับความผันผวนจากสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์โลกแต่ยังมีการพัฒนาต่อเนื่อง

บริษัทให้ความสำคัญในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นทั้งจากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (โบรกเกอร์), รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการที่ปรึกษาทางการเงิน ทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ ผ่านการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 2 ราย และบริการด้านวาณิชธนกิจอื่นอีก 4-5 ราย รวมทั้งมีรายได้จากการเป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายทั้งหุ้นกู้และหุ้นไอพีโอมากขึ้น ซึ่งในครึ่งปีแรกได้ร่วมเป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้นไอพีโอให้กับ 2 บริษัท คือ บมจ.ฟังก์ชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (FTI) และ บมจ.ฑีฆาก่อสร้าง (TEKA)

นอกจากนี้ บริษัทจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการลงทุนผ่านบริษัทร่วมที่ชื่อ บริษัท เอช อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (ACE) ซึ่ง ACE ถือหุ้น 100% ในกิจการให้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะด้วยรถบัสไฟฟ้า ชื่อ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) ปัจจุบันบริษัทย่อยในกลุ่มของ TSB ได้ให้บริการขนส่งมวลชนด้วยรถประจำทางไฟฟ้าแล้ว 8 สาย จำนวนทั้งสิ้น 112 คัน และกำลังสั่งซื้อรถบัสไฟฟ้าเพิ่มเพื่อให้บริการภายในปีนี้อีก 96 คัน

เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา TSB ยังได้รับคัดเลือกจากกรมการขนส่งทางบกให้เป็นผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 71 สาย จึงอยู่ระหว่างเตรียมการสั่งซื้อรถบัสไฟฟ้าเพื่อจะนำมาให้บริการตั้งแต่เดือน พ.ย.65 อย่างน้อย 758 คัน อีกทั้ง TSB ยังอยู่ระหว่างเข้าลงทุนเพิ่มเติมด้วยการเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด (SMB) ผู้เป็นเจ้าของสัญญาเดินรถรวม 37 เส้นทาง บริษัท เอ็กซา โลจิสติก จำกัด ผู้เป็นเจ้าของสัญญาเดินรถ 2 เส้นทาง และบริษัท เอ็กซา โลจิสติก จำกัด ผู้เป็นเจ้าของสัญญาเดินรถ 4 เส้นทาง นอกเหนือจากการเข้าลงทุนในการให้บริการด้วยรถบัสไฟฟ้าแล้ว TSB ยังจะเข้าถือหุ้น 100% ใน บริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด (EST) ผู้ให้บริการเดินทางด้วยเรือไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย

นางสาวออมสิน กล่าวว่า หากโครงการขยายการลงทุนของ TSB เป็นไปตามคาดก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดของระบบขนส่งมวลชนของไทยที่จะสามารถเชื่อมต่อการเดินทางของสายรถเมล์อย่างน้อย 122 สายเข้าด้วยกัน และยังเชื่อมโยงบริการเรือไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยาเกิดเป็นโครงข่ายที่ครอบคลุมพื้นที่ในการให้บริการในวงที่กว้างจากกรุงเทพมหานครกินพื้นที่ไปยังจังหวัดที่มีพื้นที่ต่อเนื่องทั้งหมด

และยังสามารถนำระบบเหมาค่าตั๋วโดยสารราคาถูกมาใช้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนได้ อีกทั้งลดมลพิษจากการปรับเปลี่ยนยานพาหนะแบบเดิมที่เก่าและสร้างมลพิษ ไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ไม่มีไอเสีย สะอาด ทันสมัย ไม่มีเสียงดัง ขับขี่ปลอดภัย และสามารถผลิตได้เองในประเทศไทย

"หากการดำเนินการสำเร็จได้ตามแผนดังกล่าว จะเป็นหนทางที่นำไปสู่การปรับโครงสร้างของ BYD เป็นบริษัทลงทุน หรือ Holding company ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแผนและจะเริ่มดำเนินการในไตรมาสที่ 3/65 โดยเบื้องต้นคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วงไตรมาส 3/66 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกินไตรมาส 4/66"นางสาวออมสิน กล่าว

นางสาวปทิตตา มิลินทจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (สายงานธุรกิจหลักทรัพย์) BYD กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ามาร์เก็ตแชร์ธุรกิจโบรกเกอร์ในปี 66 จะขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1-2% จากปี 64 อยู่ที่ 0.1-0.2% และปี 67 คาดหวังให้เพิ่มขึ้นแตะ 1 ใน TOP 10 จากการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำ รองรับและส่งเสริมผู้ลงทุนให้มีโอกาสทำผลตอบแทนในทุกสภาวะตลาด ไม่ว่าตลาดจะผันผวนแค่ไหน และรู้เท่าทันในการลงทุนในหลักทรัพย์ในทุกๆ แง่มุม

ล่าสุด BYD ได้พัฒนาโปรแกรมเทรด "Beyond Intelligence Trading" (MT5) ร่วมกับคู่ค้า เพื่อตอบสนองลูกค้า มุ่งเน้นคุณภาพการให้บริการ และยังเป็นการขยายฐานลูกค้า ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งในสภาวะตลาดขาขึ้นและขาลง โดย MT5 จะเป็นโปรแกรมที่ช่วยนักลงทุนวิเคราะห์และซื้อขายหุ้นอัตโนมัติด้วย Robot และยังมีระบบอัจฉริยะที่คอยช่วยจับตาความเคลื่อนไหวของ Volume, Bid/Ask, Ticker ในตลาดได้รวดเร็วและ real-time ซึ่งได้เริ่มให้บริการเต็มรูปแบบแล้วในวันนี้

ปัจจุบันธุรกิจหลักทรัพย์ มีฐานลูกค้าอยู่ที่ประมาณ 10,000 บัญชี โดยมีบัญชีแอ็คทีฟแบบเดย์เทรดอยู่ที่เฉลี่ยราว 1,000-2,000 บัญชี ซึ่งบริษัทฯ คาดหวังว่าโปรแกรมเทรด MT5 จะมีลูกค้ามาเปิดบัญชีดังกล่าวไม่น้อยกว่า 500 บัญชี ขณะที่ตั้งเป้าปล่อยมาร์จิ้นประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้ารายย่อย รายกลาง และรายใหญ่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ