นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ. ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า บริษัทเปิดเสนอขายกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Global Value Equity ครั้งแรกระหว่างวันที่ 19-25 กรกฎาคม 2565 โดยมีให้เลือกลงทุน 2 ชนิดกองทุน คือ SCBGVALUE(A) ชนิดสะสมมูลค่า และ SCBGVALUE(E) ชนิดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ การเปิดขายทั้ง 2 กองทุน เนื่องจากมุมมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังคาดว่าจะอยู่ในภาวะชะลอตัวลง จากแรงกดดันของเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามทิศทางราคาพลังงานส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่ธนาคารกลางทั่วโลกดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดและทิศทางดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ยังมีกลุ่มหุ้นคุณค่า (Value) ที่มีความสามารถทนทานต่อสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นได้ดีกว่าตลาดโดยรวม และมักจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาด
การลงทุนในหุ้นกลุ่ม Global Value ความน่าสนใจมาจากลักษณะสำคัญของหุ้นกลุ่มนี้ที่ระดับราคาที่เหมาะสม และมีผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงโดดเด่นกว่ากลุ่มอื่นๆ ภายใต้การประเมินจากปัจจัยพื้นฐานในธุรกิจที่ดี แข็งแกร่ง และมีผลการดำเนินงานเติบโตอย่างสม่ำเสมอ จึงทำให้ราคาในปัจจุบันอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาวให้กับนักลงทุน รวมถึงหุ้นกลุ่มนี้มีความผันผวนต่ำจึงเหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์การลงทุนในช่วงนโยบายการเงินตึงตัว ที่ควรกระจายการลงทุนไปยังหุ้นคุณค่าทั่วโลก
ทั้งนี้ จุดเด่นของกองทุน SCBGVALUE คือการเน้นลงทุนให้มีผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนี MSCI World Enhanced Value Index เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนหุ้นคุณค่าทั่วโลกที่มีโอกาสเติบโตและมูลค่าที่น่าสนใจ ที่ผ่านการคัดเลือกหุ้นด้วยระบบการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Factor Investing) เพื่อช่วยลดข้อผิดพลาด และอคติของมนุษย์ (human bias) รวมถึงกองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
โดยกองทุนนี้มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ได้แก่ iShares Edge MSCI World Value Factor UCITS ETF (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน Share Class USD (ACC) ซึ่งบริหารงานภายใต้ความดูแลของ BlackRock Asset Management Ireland Limited
"ท่ามกลางปัญหาภาวะเงินเฟ้อ และราคาพลังงานอยู่ในระดับสูง รวมถึงความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ เรามองว่าระดับเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันธนาคารกลางของหลายประเทศต้องปรับนโยบายการเงินจากผ่อนคลายเป็นภาวะตึงตัว และเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่การปรับนโยบายการเงินให้มีความตึงตัวอย่างรวดเร็ว อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย และส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงตลาดหุ้น ทั้งในแง่ของจิตวิทยาการลงทุนและการเติบโตของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน แต่ บลจ.ไทยพาณิชย์ มองว่าแม้เศรษฐกิจมีโอกาสที่จะชะลอตัวแต่นักลงทุนก็ยังมีโอกาสสร้างความมั่งคั่งจากการลงทุนกลุ่มหุ้นคุณค่าที่มีราคาในระดับที่เหมาะสม และอัตราการจ่ายเงินปันผลที่สูง ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกการลงทุนในสภาวะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว" นางนันท์มนัส กล่าว