Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์ม ได้แก่ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) วางกลยุทธ์ใหม่เดินหน้าขับเคลื่อน 3 ธุรกิจหลัก ทั้ง Garena, Shopee และ Seamoney เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะบริการ Digital Finance ที่จะเพิ่มเติมบริการหลากหลายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น
"เราเชื่อว่าการชำระเงินดิจิทัล หรือ Digital Payment กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง และผู้บริโภคไทยยังใช้ E-wallet มากขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเพิ่มจาก 18.6 ล้านคนในปี 63 เป็น 41.9 ล้านคนในปี 68 นอกจากนี้ในปี 64 จำนวนผู้ใช้งาน ShopeePay ในพื้นที่นอกเขตหัวเมืองใหญ่ของประเทศไทย ยังเพิ่มขึ้นกว่า 50% จากปี 63 สะท้อนการเข้าถึงบริการการเงินดิจิทัลที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น" นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวในงาน "Sea Story 2022: Digital Technology for All"
สำหรับธุรกิจการเงินดิจิทัลอย่าง Seamoney ที่เริ่มต้นจาก AirPay บริการทางการเงินที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์การเติมเงินเกมของกลุ่มเกมเมอร์ จากนั้นขยายขอบเขตการให้บริการครอบคลุมไลฟ์สไตล์ผู้ใช้งานมากขึ้น เช่น การจองตั๋วภาพยนตร์ การสั่งอาหาร การจ่ายบิลค่าสาธารณูปโภค และการเติมเงินโทรศัพท์ และภายหลังมีการรีแบรนด์เป็น ShopeePay ในปี 64
ปัจจุบัน บริษัทได้ขยายบริการ Digital Finance ด้านอื่น ๆ โดยได้รับใบอนุญาตผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายแรก ปัจจุบัน Seamoney มีบริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เช่น SEasyCash เป็นบริการ Digital Personal Loan สินเชื่อเงินสดสำหรับบุคคลทั่วไป ซึ่งสามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้อย่างอเนกประสงค์, SEasyCash for Sellers ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และ SPayLater เป็นบริการที่เป็นโซลูชันทางการเงินเพื่อมุ่งเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าที่ต้องการบน Shopee
นางสาวมณีรัตน์ ยังกล่าวถึงธุรกิจเกม Garena ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากในปัจจุบันเกมจาก Garena เข้าถึงผู้เล่นกว่า 654 ล้านคนจากกว่า 130 ตลาดทั่วโลก และหากมองการเติบโตย้อนหลังในช่วงปี 60-64 จำนวน Active Users มีการเติบโตเฉลี่ยต่อปีกว่า 65%
ประกอบกับในประเทศไทย ธุรกิจเกม-อีสปอร์ตยังคงเติบโตต่อเนื่อง สอดคล้องกับพฤติกรรมคนไทยที่ให้ความสนใจกับเกมมากขึ้น โดยในปี 64 ประเทศไทยมีเกมเมอร์กว่า 32 ล้านคน ส่วนตลาดเกมและอีสปอร์ตไทยมีมูลค่าราว 3.3 หมื่นล้านบาท เติบโตราว 14% จากปี 63
"Garena จะยังคงเติบโตควบคู่กับอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตต่อไป ทั้งในฐานะผู้ให้บริการและผู้พัฒนาเกม ผ่านเกมหลากหลายประเภทที่ Garena คัดสรรเข้ามาเปิดให้บริการ เช่น Blockman GO (เกมประเภท Sandbox) และ Moonlight Blade (เกมประเภท MMORPG) รวมถึงเกม Garena Free Fire (เกมประเภท Tactical-TPS Survival Open World) ซึ่งเราพัฒนาขึ้นเองบนอินไซต์ผู้ใช้งานจริง ทั้งยังสามารถปรับให้เหมาะกับผู้เล่นในแต่ละตลาดได้อย่างเหมาะสม" นางสาวมณีรัตน์กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังต่อยอดให้ Ecosystem ของวงการเกมและอีสปอร์ตไทยแข็งแกร่งมากขึ้น ด้วยโอกาสทางอาชีพใหม่ ๆ และใช้เกมเป็นสื่อกลางพัฒนาทักษะดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ Garena Academy และการร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ภาครัฐ ตลอดจนกิจการเพื่อสังคมอีกด้วย
ด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee บริษัทต้องการสร้างการเติบโตให้ผู้ขายบน Shopee โดยสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศไทยให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยโครงการพัฒนาทักษะผู้ขาย เช่น Shopee University และยังมีบริการส่งเสริมธุรกิจผู้ขาย เช่น Shopee Seller Centre ซึ่งช่วยให้ผู้ขายเข้าถึงเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อจัดการร้านค้าออนไลน์, ระบบการจัดการคลังสินค้า Warehouse Management System (WMS), ระบบการบริการ Fulfillment by Shopee และระบบโลจิสติกส์คุณภาพ ทั้ง Shopee Xpress และเครือข่ายพันธมิตรด้านโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งและครอบคลุม
และยังพัฒนาส่งเสริมธุรกิจผู้ขายบนช้อปปี้ ทั้งในตลาดไทยและต่างประเทศ โดยล่าสุดได้เปิดตัวโครงการ Shopee International Platform (SIP) ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มช่องทางการขายไปยังตลาดต่างประเทศอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่ง Shopee จะสนับสนุนด้านการจัดการร้านค้าให้กับร้านที่ร่วมโครงการฯ เช่น การสร้างร้านค้าในต่างประเทศ การจัดการสินค้าและสต๊อก การแชทกับผู้ซื้อ และการจัดส่งสินค้าไปต่างประเทศ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เป็นต้น
"Shopee มีการเติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยมีกว่า 2 พันล้าน Gross Order จากทั่วโลกในไตรมาส 4/64 ส่วนประเทศไทยในปี 64 Shopee มีจำนวนผู้ขายที่อยู่นอกเมืองใหญ่เติบโตขึ้น 70% ส่วนจำนวนผู้ใช้งานที่อยู่นอกเมืองใหญ่เพิ่มขึ้นถึง 40% นอกจากนี้ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 64 อีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่ายอดขายสินค้าออนไลน์ (Gross Merchandise Volume :GMV) อยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านเหรียญ และคาดการณ์ว่าจะพุ่งสูงไปถึง 3.5 หมื่นล้านเหรียญในปี 68 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 14% " นางสาวมณีรัตน์ กล่าว
นอกจากแผนในอนาคตของ 3 ธุรกิจหลัก บริษัทยังได้เปิดตัวเว็บไซต์ Sea Academy แพลตฟอร์มที่รวบรวมความรู้หลากหลายด้านจากโครงการต่าง ๆ ของ Sea (ประเทศไทย) มีเนื้อหาครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ 1) การใช้อีคอมเมิร์ซและการทำธุรกิจในยุคออนไลน์ 2)การเงินดิจิทัลและความปลอดภัย และ 3) ทักษะสำหรับอาชีพในวงการเกมและอีสปอร์ต และจะมีการเพิ่มเนื้อหาเข้าไปเรื่อย ๆ ในอนาคต เพื่อถ่ายทอดความรู้และทักษะดิจิทัล ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้เหล่านี้ได้อย่างไม่มีค่าใช้จ่าย สร้างเสริมทักษะดิจิทัลให้คนไทย