ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) รายงานผลประกอบการครึ่งแรกของปี 65 มีกำไรสุทธิ 15,252 ล้านบาท เติบโต 18.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น สะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง รวมถึงรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น ตอกย้ำกลยุทธ์การบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ
จากสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น กอปรกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินให้สินเชื่อรวมของกรุงศรีเติบโตได้อย่างทั่วถึงครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่มธุรกิจที่ 3.1% ในครึ่งแรกของปี 65 โดยมีสินเชื่อเพื่อธุรกิจเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ อันประกอบด้วยสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเติบโตขึ้น 5.0% และ 5.2% ตามลำดับ นอกจากนี้ การบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินเชิงรุกของธนาคารยังส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 3.36% ในช่วงครึ่งแรกของปี 65
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAY กล่าวว่า การเติบโตของเงินให้สินเชื่อรวมในครึ่งปีแรกเป็นไปอย่างทั่วถึงในลูกค้าทุกกลุ่มธุรกิจ โดยได้รับปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่แข็งแกร่งขึ้น แม้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มผลิตภาพในการดำเนินงานมากขึ้น
ท่ามกลางทิศทางเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังมีความผันผวนและไม่แน่นอน เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 65 ยังมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยง แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและภาคท่องเที่ยวจะได้อานิสงส์จากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการยกเลิกข้อจำกัดเพื่อควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ แนวโน้มการปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติ (Monetary Normalization) เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลให้เกิดการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ไตรมาสสามของปีนี้ อนึ่ง BAY คาดว่าเงินให้สินเชื่อรวมของธนาคารจะเติบโตได้ตามขอบบนของกรอบเป้าหมายที่ 3-5% ภายใต้สมมติฐานการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ 3.1% ในปีนี้
ณ วันที่ 30 มิ.ย.65 BAY ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.95 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.82 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.6 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ที่ 292.34 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 17.59% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 12.82%
สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับครึ่งปีแรก
- กำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติในช่วงครึ่งแรกของปี 65 จำนวน 15,252 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.6% หรือจำนวน 2,390 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 64 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ
- หากรวมรายการพิเศษจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นของ บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 กำไรสุทธิลดลง 27.5% หรือจำนวน 5,796 ล้านบาท
- เงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 3.1% หรือจำนวน 58,344 ล้านบาท จากสิ้นปี 64 จากการเติบโตของสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ 5.0% และ 5.2% ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ
- เงินรับฝาก เพิ่มขึ้น 2.2% หรือจำนวน 39,873 ล้านบาท จากสิ้นปี 64 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของเงินรับฝากประเภทออมทรัพย์
- ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 3.36% จาก 3.08% ในช่วงครึ่งแรกของปี 64 โดยเป็นผลมาจากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อและการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินเชิงรุก โดยเฉพาะกลยุทธ์การระดมเงินรับฝากประเภทออมทรัพย์และจ่ายคืนเมื่อทวงถาม (CASA)
- รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากการดำเนินงานตามปกติ ลดลงจำนวน 616 ล้านบาท หรือ 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 64 หากรวมรายการพิเศษจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นของเงินติดล้อในปีก่อนหน้า รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 11,343 ล้านบาท หรือ 40.8%
- อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ จากการดำเนินงานตามปกติปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 42.9% จาก 43.4% ในครึ่งแรกของปี 64 หากไม่รวมรายการพิเศษจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นของเงินติดล้อ
- อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 2.11% เมื่อเทียบกับ 2.20% ณ สิ้นปี 64
- อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ปรับตัวดีขึ้นอยู่ในระดับสูงที่ 189.2% จาก 184.2% ณ สิ้นปี 64 จากนโยบายการตั้งสำรองด้วยความรอบคอบระมัดระวังของกรุงศรีที่ยึดถือแนวปฏิบัติการตั้งเงินสำรองรวมในระดับสูง
- อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 17.59% เทียบกับ 18.53% ณ สิ้นปี 64