นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) แถลงร่วมกับนายซิกเว่ เบรกเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์ กรุ๊ป บริษัทแม่ของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ว่า ปัจจุบันทั้งสองบริษัทอยู่ระหว่างการรอคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดเงื่อนไขเพื่อลดผลกระทบทางอ้อมที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในการควบรวมกิจการ
ขณะนี้การควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทล่าช้ากว่าแผนเดิมภายในระยะเวลา 90 วันหลังจากที่บริษัทได้มีการยื่นแผนให้กับ กสทช.พิจารณาไปแล้วเมื่อเดือน ม.ค.65 ที่ผ่านมา ซึ่งทั้งสองบริษัทต้องการให้กระบวนการรับซื้อหุ้นคืนเป็นไปได้ตามแผนที่วางไว้เดิม คือในช่วงเดือน ส.ค. เพื่อไม่ให้กระทบต่อความมั่นใจในด้านของตลาดทุน และผู้ถือหุ้นของ TRUE และ DTAC ที่มีทั้งนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงกองทุนระดับโลก
"กรอบระยะเวลาได้เลื่อนมาพอสมควรแล้ว แต่เนื่องด้วยเราเห็นว่า กสทช.ชุดนี้เข้ามาใหม่ แต่เราก็อยากจะเห็นว่ากระบวนการนี้เกิดขึ้นเร็ว ไม่เช่นนั้นจะมีผลกระทบต่อตลาดทุนและความมั่นใจของตลาดทุน ซึ่งผู้ถือหุ้นทั้ง 2 ฝั่ง มีทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงกองทุนระดับโลกที่เขารออยู่ การควบรวมจะทำให้บริการตลอดจนอินเตอร์เน็ตดีขึ้น ครอบคลุมขึ้น เร็วขึ้น ลูกค้าของทั้ง 2 องค์กรก็จะได้ประโยชน์"นายศุภชัย กล่าว
นายศุภชัย กล่าวว่า การควบรวมเกิดจากการที่ทั้งสององค์กรเกิดจากความเห็นที่ว่าทั้งสององค์กรมีความสามารถการแข่งขันน้อยลง ระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป การแข่งขันเปลี่ยนไป สองปีที่ผ่านมารายได้ของอุตสาหกรรมมือถือ ผู้ให้บริการมีรายได้ลดลงทุกราย ขณะที่การลงทุนสูงขึ้นเพราะต้องเปลี่ยนเทคโนโลยี (รองรับ 5G) ทั้งหมดจึงทำใหศักยภาพการแข่งขันลดลง
"ศักยภาพที่ถดถอยกับระบบนิเวศที่เปลี่ยนไปทำใหเรามองว่าการควบรวมจะทำให้การแข่งขันทำได้ดีขึ้น มีเทคโนโลยีใหม่ขึ้น เราพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง การควบรวมนี้จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน แน่นอนว่ามันไม่ได้สมบูรณ์แบบในทันที แต่จะเป็นโอกาสที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นจากการควบรวม
พร้อมยืนยันว่าการควบรวมระหว่าง TRUE และ DTAC จะไม่มีการไล่พนักงานออก แต่เป็นการทำให้ศักยภาพของทรัพยากรบุคคลของทั้งสองบริษัทที่จะนำไปสู่การแข่งขันที่ดีขึ้น ผลของการควบรวม ตัวบริษัท และใบอนุญาตประกอบกิจการยังอยู่เหมือนเดิม เราเป็น Eco Partner หรือเป็นพันธมิตรที่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มซีพีและเทเลนอร์ เป็นบริษัทไทยที่ตั้งมั่นในการวางระบบนิเวศทางเทคโนโลยีตามยุทธศาสตร์ชาต
นายศุภชัย กล่าวอีกวา การออกมาแถลงวันนี้ไม่ใช่การกดดันกสทช. เพราะจากการศึกษาของเรา กสทช.ไม่มีอำนาจในการยับยั้งการควบรวมกิจการ มีแต่เพียงการออกเงื่อนไขเพื่อคลายความกังวลของทุกภาคส่วน หากจะยังยั้งความร่วมมือครั้งนี้ต้องไปขออำนาจของศาลปกครอง เราจะอยากเห็นความร่วมมือเกิดขึ้นเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลกระทบกับตลาดทุนและผู้ถือหุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดถึงบริการหรือสิทธิประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับต้องล่าช้าตามไปด้วย
นายซิคเว่ เบรคเก้ ซีอีโอ เทเลนอร์กรุ๊ป กล่าวว่า ความร่วมมือใรการควบรวมจะนำไปสู่การสร้างสรรค์บริษัทเทคเทเลคอมใหม่ โดยเป็นความร่วมมือที่เป็นความตั้งใจในการส่งมอบระบบนิเวศที่ดีให้กับประเทศไทย บริษัทใหม่นี้ เป็นความร่วมมือในการบริหารระหว่างซีพีและเทเลนอร์ สาระสำคัญของความร่วมมือยังนำไปสู่ การตั้งกองทุนมูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ การตั้งศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยีโทรคมนาคม และการทำตลาดร่วมกันพันธมิตร
สิ่งที่จะเทเลนอร์ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือนี้ คือการพัฒนา เทคโนโลยี 5G IOT, Edge Could และ Security
"ภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป แต่ยังมีโอกาสการเติบโต ประเทศไทยยังคงเป็นดิจิทัลแชมป์เปี้ยน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าออนไลน์ หรือการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล เราเห็นโอกาสว่าประเทศไทยเป็น Strategic Location ในการทำธรกิจโทรคมนาคม "นายซิคเว่ กล่าว