นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าแผนร่วมทุนเป็นพันธมิตรบริหารหนี้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ยังอยู่ระหว่างการเจรจาเงื่อนไขในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน และการนำหนี้ของธราคารพาณิชย์ที่จะร่วมทุนเข้ามาบริหาร คาดว่าจะเห็นความชัดเจนออกมาอย่างน้อย 1 ดีลในช่วงเดือนส.ค. 65
โดยรูปแบบการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนจะเป็นการถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่ากันกับพันธมิตร 50:50 เพื่อเป็นการที่ไม่บริษัทและพันธมิตรจะไม่ต้องนำงบของบริษัทร่วมทุนเข้ามารวมในบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน จากการที่ตั้งสำรองฯหนี้ที่รับเข้ามาบริหาร ทำให้วิธีการลงทุนดังกล่าวเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการร่วมทุนกับพันธมิตร
ขณะที่ประเภทหนี้ที่จะรับเข้ามาบริหารในบริษัทร่วมทุนก็อยู่ระหว่างการหารือกับพันธมิตร เพราะทาง BAM มีความเชี่ยวชาญการบริหารหนี้ที่มีหลักประกันมากกว่าหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งพันธมิตรได้เปิดโอกาสในการนำหนี้ทั้ง 2 ประเภทให้ BAM รับไปบริหารในบริษัทร่วมทุนได้ แต่มองว่าหากต้องมีการบริหารหนี้ที่ไม่มีหลักประกันเข้ามาจะต้องให้พันธมิตรอีกรายที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่าเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งยังอยู่ระหว่างการหารือกับพันธมิตร
นายบัณฑิต กล่าวว่า โซลูชั่นการร่วมทุนนั้นจะเป็นแนวทางที่บริษัทและพันธมิตรได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด รวมถึงมีศักยภาพในการคืนทุนได้อย่างรวดเร็ว จากศักยภาพของ BAM ที่สามารถใช้วงเงินกู้มาซื้อหนี้เข้ามาบริหารได้ ซึ่งสามารถกู้เงินมารองรับการซื้อได้สูงถึงระดับอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) 5 เท่า เบื้องต้นจะเข้าซื้อหนี้เข้ามาบริหารในช่วงเริ่มต้นราว 6,000-10,000 ล้านบาท โดยใช้งบลงทุนของบริษัทร่วมทุนราว 5 พันล้านบาท
สำหรับการดำเนินธุรกิจของ BAM ในปีนี้ ช่วงที่ผ่านมาได้เข้าซื้อหนี้มาแล้ว 4 พันล้านบาท จากงบลงทุนที่ตั้งไว้ทั้งหมด 9 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทมองแนวโน้มของการขายหนี้ของสถาบันการเงินออกมาในปีนี้คงไม่มากเท่ากับปีก่อน โดยในไตรมาสแรกมีมูลหนี้จากสถาบันการเงินออกมาประมูลเพียง 1 หมื่นล้านบาท อีกทั้งราคาขายหนี้มองว่าค่อนข้างแพงกว่าปกติ ทำให้ต้องคัดเลือกหนี้หรือทรัพย์ NPA ที่นำมาออกมาขายเป็นพิเศษ ส่งผลให้การซื้อหนี้ในปีนี้อาจจะชะลอไปบ้าง แต่ก็ยังเชื่อว่าจะซื้อหนี้ได้เป้าที่ตั้งไว้
ด้านแนวโน้มผลงานของ BAM ในปี 65 ยังมั่นใจทำได้ตามเป้ารายได้ 1.7 หมื่นล้านบาท และคาดว่าผลงานในครึ่งปีหลังจะโดดเด่นกว่าครึ่งปีแรก หลังจากต้นทุนการบริหารจัดการลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจำหน่ายทรัพย์ NPA ทำได้ดีอย่างต่อเนื่อง และมีกำไรจากการขายเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก หลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัวหนุนราคาขายทรัพย์ที่กลับมาดีขึ้นช่วยหนุนผลงานของบริษัท